ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

องค์ประกอบของครีมกันแดด

              ครีมกันแดด มีการใช้มานานเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของครีมกันแดดเกี่ยวข้องกับปริมาณและสูตรที่ผลิต โดยมีหลักการ 2 แนวทางในการป้องกันผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเลต คือ ครีมกันแดดที่ใช้สารกรองแสงแบบเคมี (chemical filter) ในการดูดซับรังสี และครีมกันแดดที่ใช้สารกรองแสงแบบกายภาพ (physical filter) ที่ทำหน้าที่ร่วมกับอนุภาคเล็ก ๆ ช่วยป้องกันไม่ให้รังสีอัลตราไวโอเลตผ่านทะลุทะลวงเข้าผิวหนังโดยการสะท้อนกลับออกไป ครีมกันแดดที่ใช้สารกรองแสงแบบกายภาพผลิตได้จากอนุภาคชนิดอนินทรีย์ (non-organic pigment) เช่น zinc oxide หรือ titanium oxide ซึ่งเป็นสารสะท้อนรังสีที่มีขนาดอนุภาคเล็กมาก (10-100 นาโนเมตร) ในสหภาพยุโรปไม่ได้กำหนดความเข้มข้นของสารกรองแสงแบบกายภาพไว้ เนื่องจากไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้แม้ว่าจะมีขนาดอนุภาคเล็กที่สุดก็ตาม ดังนั้นครีมกันแดดที่ใช้สารกรองแสงแบบกายภาพจึงไม่ทำให้เกิดอาการแพ้และใช้ป้องกันแสงแดดได้ทันทีหลังจากใช้ทาบนผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ผลเสียจากการใช้ครีมกันแดดชนิดนี้ก็ปรากฏให้เห็นบ้าง เช่น การปรากฏของเม็ดสีขาวบนผิวที่ทาครีมกันแดด ที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการป้องกันแสงลดลง เนื่องจากการจับตัวรวมกันเป็นก้อน ดังนั้นการผลิตครีมกันแดดในภาคอุตสาหกรรม จึงควรหาวิธีในการรักษาสภาพอนุภาคของเม็ดสีให้มีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ครีมกันแดดที่ใช้สารกรองแสงแบบเคมี ได้แก่ octyl triazone, urocanic acid, octyl methoxycinnamate, methylbenzylidene camphor, 3-benzylidene sulfonic acid และ PABA โดยสารเหล่านี้ล้วนมีข้อบกพร่องด้วยกันทั้งสิ้นกล่าวคือ บางชนิดใช้งานดีในช่วงความยาวคลื่นของรังสี UVB แต่ไม่ได้ผลสำหรับใช้งานในช่วงความยาวคลื่นของรังสี UVA อีกทั้งยังมีสภาพไม่คงตัวและมีผลให้เกิดอาการเป็นผื่นแพ้ จากการพัฒนาสารกรองแสงชนิด arebenzophenone-3,benzophenone-4, butylmeth-oxydibenzoylmethane (Parsol 1789), terephthalylidene sulfonic acid, Mexoryl SX และ Mexoryl XL พบว่า สาร Mexoryl มีความเสถียรตัวที่ดีเมื่ออยู่ในแสงแดดและดูดซับรังสีได้ทั้งในช่วงความยาวคลื่น UVB (290-320 นาโนเมตร) และความยาวช่วงคลื่น 320-360 นาโนเมตร โดยประสิทธิภาพสูงสุดอยู่ที่ 344 นาโนเมตร ดังนั้นการผลิตครีมกันแดดที่ดีที่สุดคือ การผสมสารกรองแสงแบบเคมีและแบบกายภาพไว้ในครีมกันแดดตัวเดียวกัน (Voss, W. and Burger, C., 2008) และจากรายละเอียดข้างต้นจึงสามารถแบ่งครีมกันแดดได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้

              1. ครีมกันแดดชนิดอินทรีย์ (organic sunscreens) ครีมกันแดดชนิดนี้ สามารถแบ่งออกเป็นครีมกรองแสง UVA และ UVB หรืออาจใช้กรองทั้ง UVA และUVB ตามชนิดของแสงที่ดูดซับ ครีมกันแดดสำหรับกรองแสง UVA จะดูดซับแสงที่ช่วงความยาวคลื่น 320-400 นาโนเมตร และครีมกันแดดสำหรับกรองแสง UVB จะ ดูดซับแสงที่ช่วงความยาวคลื่น 290-320 นาโนเมตร (EM Industries, 2003) หลักการในการใช้ป้องกันแสงแดด และเป็นตัวดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตของ organic  sunscreens ซึ่งมีโครงสร้างทางเคมีที่ประกอบด้วย  aromatic compounds และ functional group 2 กลุ่ม ที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับและปลดปล่อยอิเล็กตรอนในช่วงที่โมเลกุลของรังสีอัลตราไวโอเลตถูกกระตุ้นแล้วทำให้เกิดการดูดซับอิเล็กตรอน  ส่วนผสมของ organic sunscreens ที่นิยมใช้สำหรับดูดซับรังสี UVB ในช่วงความยาวคลื่น 290-320 นาโนเมตร ได้แก่ PABA (p-aminobenzoic acid), octocrylene, salicylates และ cinnamates สาร PABA เป็นสารเคมีที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมของครีมกันแดดเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1920 มีข้อดีคือ สามารถกันน้ำได้ แต่พบว่าทำให้เกิดอาการแพ้ต่อผิวหนังที่สัมผัส เช่น  ทำให้เกิดอาการแสบร้อน คันหรือเป็นผื่น และมีรายงานว่าการสะสม PABA จะทำให้มีการสร้างสารก่อมะเร็งชนิด carcinogenic nitrosamine การผลิตครีมกันแดดโดยใช้ PABA จึงลดลง ต่อมาในปี ค.ศ.1980 ได้นิยมนำสาร benzophenone-3 (BZ-3, oxybenzone) มาผสมในครีมกันแดดมากที่สุด แม้ว่าในปัจจุบันไม่ได้ใช้ PABA และ BZ-3 ผสมในครีมกันแดดแล้วก็ตาม แต่ยังพบอาการแพ้เนื่องจากส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกันแดด เช่น น้ำหอม สารกันเสีย สารทำให้ข้นเหนียว หรือสารที่ใช้สำหรับการทำละลาย สารเหล่านี้ทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง และยังไม่มีการศึกษาความเป็นพิษจากการเกิดปฏิกิริยาอย่างเฉียบพลันและเรื้อรังในการใช้ครีมกันแดด ข้อสำคัญคือ การดูดซึมหลังจากใช้ครีมกันแดด ที่พบว่าหลังจากการใช้ครีมกันแดดที่มีสาร BZ-3 ปริมาณ 0.5 % ทาบนผิวหนัง ได้มีการตรวจพบสารดังกล่าวในปัสสาวะ และหลังจากการใช้เป็นเวลานาน 48 ชั่วโมง มีการตรวจพบสาร BZ-3 ในอวัยวะต่าง ๆ ของหนูทดลอง เช่น ตับ ไต ตับอ่อน หัวใจ กล้ามเนื้อและอวัยวะเพศ และพบในน้ำนมของคน จากการพัฒนาล่าสุดเพื่อใช้ในการดูดซับรังสี UV โดยใช้ sol-gel glass microcapsule นั้น พบว่า ครีมกันแดดที่ดีต้องมีการคงตัวสูง (photostability) ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ง่ายและมีส่วนประกอบที่เหมาะสม รวมทั้งไม่ซึมซาบเข้าสู่ร่างกาย (Marier, T. and Korting, HC., 2005)

              2. ครีมกันแดดชนิดอนินทรีย์ (inorganic sunscreens) ครีมกันแดดชนิดนี้สามารถป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB เนื่องจากกลไกในการสะท้อนรังสีออกไปจากผิว กลุ่มของสารเคมีที่ใช้ในครีมกันแดดชนิดนี้ ได้แก่ zinc oxide (ZnO), titanium dioxide (TiO2) และ silicates สารในกลุ่มนี้เป็นสารออกฤทธิ์และป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้ดี มีการดูดซึมเข้าผิวหนังได้น้อย ค่อนข้างปลอดภัย ไม่เกิดอาการแพ้ง่าย แต่มีข้อเสียคือ การปรากฏให้เห็นเป็นเม็ดสีขาวบนผิวหนังขณะทา เนื่องจากครีมกันแดดชนิดนี้มีส่วนผสมที่มีลักษณะเหนียวข้นทำให้ซึมสู่ผิวหนังได้ยาก แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาได้ปรับปรุงคุณสมบัติให้มีเม็ดละเอียดมากขึ้นเพื่อลดการสะท้อนแสงทำให้มองดูเรียบเนียนใสขึ้น มีการรายงานว่า TiO2 สามารถทำปฏิกิริยา photocatalytic จนทำให้เซลล์ RNA และ DNA ถูกทำลาย ดังนั้นเพื่อลดการเกิดปฏิกิริยา photocatalytic จึงทำให้มีการผลิตเครื่องสำอางด้วยการเคลือบ TiO2 และการใช้ไททาเนียมที่มีขนาดอนุภาคเล็กมากเป็นส่วนผสมในครีมกันแดดสำหรับช่วยให้การคงสภาพดีและเนียนใสขึ้น การศึกษาความเป็นพิษของ TiO2 โดยใช้กล้องจุลทรรศน์แบบอิเล็กตรอนส่องดูการดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังของ TiO2  พบว่าไม่สามารถตรวจพบ TiO2 ในชั้นผิวหนังกำพร้า แต่กลับพบอนุมูลของ Zn (Zn ion) ซึมเข้าสู่ผิวหนังแท้และในเลือด และจากการทดลองใช้ครีมกันแดด inorganic sunscreens 2  ชนิดคือ TiO2 และ ZnO ที่มีค่าการป้องกันแสงแดด (sun protection factor) หรือ SPF 28 โดยทดลองภายใต้แสงแดดแบบจำลอง พบว่า ZnO มีความสามารถในการดูดซับแสงอัลตราไวโอเลตได้ดีกว่า TiO2 แต่ในยุโรปห้ามใช้ ZnO ในครีมกันแดด (Marier, T. and Korting, HC., 2005) อย่างไรก็ตาม การใช้ครีมกันแดดเพื่อปกป้องแสงแดดให้ได้ผลดีที่สุดควรใช้ร่วมกับวิธีป้องกันอื่นด้วย เช่น หลีกเลี่ยงการได้รับแสงแดด ลดการทำงานกลางแจ้ง หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ครีมกันแดด และอุปกรณ์ป้องกันแดด ซึ่งมีให้เลือกใช้ เช่น การใช้ร่ม หมวกการสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายจากแสงแดด และการสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันแสงจากดวงอาทิตย์