ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ปัจจัยที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย  (ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ภูเก็ต, 2553)

              1. อุณหภูมิ( Temperature ) แบคทีเรียสามารถเติบโตได้ในช่วงกว้าง (วิลาวัณย์  เจริญจิระตระกูล, 2539)  ส่วนใหญ่เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 25-40°C  แต่มีบางกลุ่มสามารถเจริญได้ที่อุณหภูมิสูงและมีบางกลุ่มเจริญได้ดี (ถึงแม้จะช้า) ที่อุณหภูมิ 0-15°C  ดังนั้นโดยทั่วไปเราแบ่งแบคทีเรียออกเป็น 3 กลุ่ม  ตามอุณหภูมิที่สามารถเจริญได้ ดังนี้

                    1.1 Mesophilic bacteria หรือ mesophiles เป็นแบคทีเรียที่ชอบอุณหภูมิปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีที่ 20-50°C  แบคทีเรียที่อยู่ในกลุ่มนี้  ได้แก่ Coliforms bacteria, Lactobacillus, Streptococcus และแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ 

                    1.2 Thermophilic bacteria หรือ thermophiles เป็นแบคทีเรียที่ชอบอุณหภูมิสูง  เจริญเติบโตได้ดีที่ 45-80°C แบคทีเรียที่อยู่ในกลุ่มนี้  ได้แก่  Lactobacillus, Bacillus sterothermophilus

                    1.3  Psychrophilic bacteria หรือ psychrophiles เป็นแบคทีเรียที่ชอบอุณหภูมิต่ำ สามารถเจริญเติบโตได้ที่ -10 ถึง 25°C 

              นอกจากนี้ยังมีแบคทีเรียบางกลุ่มที่เจริญได้ที่อุณหภูมิสูงมาก เช่น กลุ่ม hyperthermophiles สามารถเจริญเติบโตได้ที่ 80-100°C และกลุ่ม extremophiles  ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ที่อุณหภูมิสูงถึง 100-120°C 

              แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่เป็นจุลินทรีย์ในกลุ่ม mesophile สามารถเจริญได้ดีที่ช่วงอุณหภูมิ 30-45°C เช่น B. cereus  ดังนั้นประเทศไทยจึงมีโอกาสเสี่ยงต่อปัญหาของจุลินทรีย์กลุ่มดังกล่าว (กระทรวงสาธารณสุข, 2553)
 

ตารางที่ 1  แสดงช่วงอุณหภูมิสำหรับการเจริญของแบคทีเรีย

แบคทีเรีย

อุณหภูมิต่ำสุด(°C)

อุณหภูมิที่เหมาะสม(°C)

อุณหภูมิสูงสุด(°C)

Psychrophiles

-5  ถึง 5

12-15

15-20

Psychrotrophs

-5  ถึง 5

20-30

30-35

Mesophiles

5-15

30-45

35-47

Thermophiles

40-45

55-75

60-90

(ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข, 2553)

              2. เวลา ( Time ) แบคทีเรียใช้เวลาในการเจริญเติบโตแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของแบคทีเรีย  ชนิดของอาหารที่แบคทีเรียใช้ และปัจจัยอื่นๆ  การอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมจะทำให้แบคทีเรียเจริญได้ดีและมีระยะเวลาที่ใช้ในการเจริญ (Generation time) น้อยลง  ดังรูปที่ 2

รูปที่ 2   แสดงระยะเวลาที่ใช้ในการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย

(ที่มา : ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ภูเก็ต, 2553)

              3. อากาศ (Oxygen)  แบคทีเรียแต่ละชนิดมีความต้องการอากาศที่แตกต่างกัน เราสามารถแบ่งประเภทของแบคทีเรียตามความต้องการออกซิเจนได้  ดังนี้  (รูปที่ 3)

                    3.1 แอโรบิก (Aerobic)  (วิลาวัณย์  เจริญจิระตระกูล, 2539)  เป็นแบคทีเรียที่ต้องการออกซิเจนในการเจริญเติบโต  สร้างพลังงานโดยกระบวนการหายใจ  (respiration)  ซึ่งเป็นการสร้างพลังงานโดยใช้ออกซิเจน
                    3.2 เฟคัลเททีฟ แอนแอโรบ (Facultative anaerobes)  เป็นแบคทีเรียที่สามารถเจริญได้ทั้งในสภาวะที่มีหรือไม่มีออกซิเจน แบคทีเรียกลุ่มนี้สร้างพลังงานได้จากกระบวนการหายใจและยังสามารถสร้างพลังงานจากกระบวนการหมัก (fermentation)  ซึ่งเป็นการสร้างพลังงานโดยไม่ใช้ออกซิเจน  โดยกระบวนการหายใจจะให้พลังงานมากกว่ากระบวนการหมักและยังทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้เร็วกว่าด้วย
                    3.3 แอนแอโรบิก  (Anaerobic) จุลินทรีย์กลุ่มนี้ไม่ต้องการออกซิเจนในการเติบโต จึงไม่สามารถเติบโตในสภาพอากาศปกติได้  บางพวกอาจทนต่อสภาพที่มีออกซิเจนในระดับต่ำๆได้  (tolerant anaerobes) แต่บางพวกไม่สามารถทนต่อออกซิเจนได้เลย จุลินทรีย์เหล่านี้จะตายเมื่อถูกออกซิเจน (strict  anaerobes) 
                    3.4 ไมโครแอโรฟิลิก (Microaerophilic) จุลินทรีย์กลุ่มนี้เป็นพวกต้องการออกซิเจนปริมาณเล็กน้อยในการเติบโต  แต่ไม่สามารถทนต่อสภาพที่มีออกซิเจนได้ในระดับปกติ  (วิลาวัณย์  เจริญจิระตระกูล, 2539)
 
รูปที่ 3  แสดงความต้องการออกซิเจนของแบคทีเรียที่แตกต่างกัน 
(ที่มา : Moore, GS., 1999)
              4. ความเป็นกรดด่าง ( pH )
              ความเป็นกรด-ด่าง ของสภาวะแวดล้อมมีผลต่อการเจริญของแบคทีเรีย  แบคทีเรียส่วนใหญ่เจริญได้ดีในช่วง  pH 6-8  อย่างไรก็ดี  มีแบคทีเรียบางกลุ่มที่ทนต่อกรด (acid-tolerant bacteria) และบางกลุ่มที่ทนต่อด่าง (alkaline-tolerant bacteria)  
              โดยทั่วไปแบคทีเรียจะเจริญในช่วง pH ที่เป็นด่าง (ค่า pH มากกว่า 7) ได้ดีกว่า ช่วง pH ที่เป็นกรด (ค่า pH น้อยกว่า 7)  แต่ก็มีแบคทีเรียบางกลุ่ม  เช่น Sulfur bacteria  ที่เจริญได้โดยใช้กรด sulfuria  เป็นแหล่งพลังงาน 
              5. ความชื้นในอาหาร  
              ปริมาณน้ำในอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ โดยมีค่าวอเตอร์แอกทิวิตี้(water activity : aw) เป็นค่าที่แสดงปริมาณน้ำที่จุลินทรีย์สามารถนำไปใช้ ดังนั้นการลดค่านี้ด้วยวิธีการต่างๆ  เช่น การทำแห้ง ใส่เกลือ หรือเติมน้ำตาลในปริมาณสูง จะทำให้อาหารมีค่า aw ต่ำลง เมื่อน้ำที่จุลินทรีย์สามารถนำไปใช้ได้น้อยลง จุลินทรีย์ก็จะเจริญเติบโตได้ยาก ซึ่งอาหารแต่ละชนิดจะมีค่า aw แตกต่างกัน จึงเกิดการเน่าเสียจากจุลินทรีย์ต่างชนิดกัน โดยแบคทีเรียเจริญได้ดีในอาหารที่มีค่าวอเทอร์แอกทิวิตีสูงและไม่สามารถเจริญได้ถ้าอาหารมีค่า aw ต่ำกว่า 0.90 แต่อาจมีแบคทีเรียบางกลุ่มที่สามารถเจริญที่ aw ต่ำกว่านั้น เช่น แบคทีเรียที่ชอบเกลือ ซึ่งสามารถเจริญได้ที่ aw ประมาณ 0.75 ทำให้เกิดปัญหาการเน่าเสียในอาหารที่มีการเติมเกลือ เช่น  ปลาเค็ม และเบคอน ส่วนราสามารถเจริญในอาหารที่มีค่า aw ต่ำได้ดีกว่าแบคทีเรีย จึงอาจเป็นปัญหาในอาหารแห้งและเครื่องเทศ  ส่วนอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงอาจเกิดการเน่าเสียจากยีสต์ ซึ่ง Osmophilic  yeast สามารถเจริญได้  (กระทรวงสาธารณสุข, 2553)
              6. สารอาหาร  
              สารอาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแบคทีเรีย  แบคทีเรียเจริญได้ดีที่สุดเมื่อได้รับสารอาหารที่เหมาะสมซึ่งจะแตกต่างกันไป  สามารถแบ่งแบคทีเรียตามความต้องการอาหาร  ได้เป็น 2 พวก  คือ  โฟโตโทรฟ  เป็นพวกที่ใช้แสงเป็นแหล่งพลังงานและพวกเคโมโทรฟ  เป็นพวกใช้สารเคมีเป็นแหล่งพลังงาน  อาหารแต่ละชนิดจะมีแบคทีเรียที่เติบโตแตกต่างกันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของอาหารนั้นๆ สำหรับอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน  เช่น  นม  จะเป็นแหล่งที่มีแบคทีเรียอาศัยอยู่มากมายหลายชนิด  (วิลาวัณย์  เจริญจิระตระกูล, 2539)  
              7. ความเข้มข้นของเกลือ
              แบคทีเรียหลายชนิดสามารถเติบโตได้ในสภาวะที่มีเกลือมากน้อยต่างกัน  แบคทีเรียบางชนิดไม่สามารถเจริญได้แม้มีอยู่เพียงเล็กน้อย  แบคทีเรียบางชนิดต้องการเกลือปริมาณหนึ่งในการเจริญแต่แบคทีเรียบางกลุ่มอาจเจริญได้แม้อยู่ในสภาวะที่มีเกลือมาก ๆ เราเรียกแบคทีเรียกลุ่มนั้นว่า  halophilic  bacteria  เช่นเดียวกับน้ำตาล  แม้เกลือจะช่วยให้แบคทีเรียบางกลุ่มเจริญได้ แต่ความเข้มข้นของเกลือที่สูงมาก ๆ จะทำให้เซลล์แบคทีเรียตาย