ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green products) 

              ผู้ผลิตและนักการตลาดมักใช้คำสำหรับอวดอ้างทางการตลาดเพื่อสนับสนุนการขายสินค้าโดยใช้คำว่า “clean and green” (ปลอดภัยและไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม) โดยความหมายของคำว่า clean และ green  นั้น คำว่า “clean”  หมายความว่า ปราศจากการเจือปนทั้งกายภาพ เคมีและจุลินทรีย์ การเจือปนทางกายภาพอาจเกิดขึ้นจากสิ่งที่นำเข้ามาจากต่างถิ่น โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจในระหว่างการผลิต/การแปรรูป หรือ การกระจายสินค้า ส่วนการเจือปนทางเคมี มีผลจากการใช้สารเคมีที่ไม่ถูกต้อง (ใช้เกินขนาด) เช่น ยากำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี สารเร่งการเจริญเติบโต และยาปฏิชีวนะในที่เพาะปลูกและสารเคมีที่ใช้ระหว่างการแปรรูป การเก็บรักษาและการขนส่งโดยตกค้างในผลิตภัณฑ์ และการเจือปนของจุลินทรีย์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงการแปรรูปที่ไม่เหมาะสมและการผลิตที่ไม่ถูกสุขอนามัย ทำให้จุลินทรีย์เติบโตได้ในผลิตภัณฑ์ ความหมายของคำว่า “green” (สีเขียว) จะใช้อธิบายเกี่ยวกับระบบการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรหรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ดังนั้นคำว่า “green” จึงสอดคล้องกับคำว่า “environmentally friendly” หรือ “eco-friendly” ซึ่งยังไม่ให้ความหมายที่ชัดเจนนักเนื่องจากไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนว่าจะใช้กับผลิตภัณฑ์ใดได้บ้างที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มีวิธีการตรวจวัดโดยยอมให้ได้ค่าต่ำสุดตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน ดังนั้นจึงเป็นการยากสำหรับผู้บริโภคในการตัดสินว่าผลิตภัณฑ์ใดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก หรือ น้อย และแตกต่างกันอย่างไร หน่วยงาน FTC: US Federation Trade Commission และ ISO: International Standard Organization ได้พิจารณาการอวดอ้างว่ายังมีความหมายที่คลุมเครือสำหรับผู้บริโภคทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ จึงห้ามบริษัทรับรองมาตรฐานสินค้าเพื่ออวดอ้างทางด้านสิ่งแวดล้อม (Chang, C., and Kristiansen, P., 2004)  

              ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ใช้ผลิตภัณฑ์สีเขียวไม่เพียงกระทำตามกระแสเท่านั้น แต่ยังปรารถนาสิ่งที่ควรได้รับด้วย เช่น การประหยัดเงิน หรือ ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในทางด้านธุรกิจการค้าอธิบายคำว่า “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” (green products) และ “ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม” (environmental product) ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับปกป้องหรือส่งเสริมสภาพแวดล้อมในธรรมชาติด้วยการอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งลดหรือกำจัดการใช้สารพิษ สารที่ก่อให้เกิดมลพิษ และของเสียที่ไม่ใช้ประโยชน์ จากข้อมูลงานวิจัยพบว่า ผลิตภัณฑ์สีเขียวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากตลาด สีเขียวมักเน้นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เกินกว่าที่ผู้บริโภคคาดหวังไว้ ความหลากหลายและการนำมาใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สีเขียวจึงบ่งชี้ได้ว่าผู้บริโภคไม่ใส่ใจกับราคาของผลิตภัณฑ์สีเขียวที่กำหนด จากผลดีที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมนี้ จึงทำให้ตลาดสินค้าอินทรีย์และเครื่องใช้ที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อการใช้งานนั้นมีการเติบโตได้ เนื่องจากสามารถสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทั้งด้านความปลอดภัยและการประหยัดเงิน ผลวิจัยที่ผ่านมาทำให้ค้นพบว่า ความประสบความสำเร็จของผลิตภัณฑ์สีเขียวนั้นเกิดขึ้นได้โดยยึดหลัก 3 Cs ได้แก่ consumer value positioning (ผู้บริโภคเป็นผู้กำหนดคุณค่าของผลิตภัณฑ์สีเขียว), calibration of consumer knowledge (การสอบเทียบโดยการเรียนรู้ของผู้บริโภค), credibility of product claims (ความน่าเชื่อถือตามที่อวดอ้าง) (Ottman, J., Stafford, ER., and Hartman, CL., 2006)