ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

 

บทนำ

              น้ำยาง (latex) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากต้นยางพารา (Hevea brazilenses) ที่พบได้ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย โดยน้ำยางจะมีลักษณะคล้ายน้ำนม (milky) ประกอบด้วย cis-1,4-polyisoprene ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลัก นอกจากนี้ยังมีโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และสารอนินทรีย์ ได้แก่ โพแทสเซียม แมกนีเซียม ทองแดง สังกะสี และเหล็ก ในน้ำยางพบว่ามีโปรตีนมากกว่า 250 ชนิด โดยปริมาณของโปรตีนอยู่ระหว่าง 1-1.8% ซึ่งแตกต่างกันตามแหล่งที่มาของน้ำยาง และโปรตีนแต่ละชนิดก็ทำหน้าที่แตกต่างกันด้วย เช่น โปรตีนที่มีผลต่อปัจจัยในการยืดตัวจนขาด (elongation factor) ของยางคือ โปรตีน Hev b1 ที่มีความสำคัญในการกำหนดความยาวของสายไอโซปรีนจากปฏิกิริยาการเกิดพอลิเมอร์ (polymerization) จนกระทั่งมีน้ำหนักโมเลกุลของไอโซปรีนมากกว่า 100,000 ขณะที่ ß-1,3-glucanase protein หรือ Hev b2 มีส่วนสำคัญในการป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา ทั้งนี้มีโปรตีน 30-60 ชนิด ที่เชื่อกันว่าเป็นสาเหตุให้เกิดอาการแพ้ (Huber, Ma., and Terezhalmy, GT., 2006)

              ปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์จากน้ำยาง เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย เครื่องมือทางเภสัชกรรม ฯลฯ ในปี 2004 มีสูงถึง 1.08 ล้านตัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นโดยผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและมีอาการแพ้ถึง 17% (Honeycutt, T., et al., 2006) อาการแพ้ส่วนใหญ่จะแสดงออกในรูปของผื่นคันและผิวหนังอักเสบ ปัจจุบันมากกว่า 70% ของถุงมือยางจะใช้แป้งข้าวโพด (corn starch) เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ แป้งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ โดยเกิดจากโปรตีนในน้ำยางที่มีสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ (allergens) มารวมตัวกับแป้งที่อยู่ในถุงมือยาง ในถุงมือยางถ้ามีปริมาณแป้งมากก็จะมีระดับของโปรตีน (protein level) มากด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนของผู้ที่สวมใส่ถุงมือยางแล้วไม่เกิดอาการแพ้เลยจะมีระดับของโปรตีนที่มีสาร allergens น้อยกว่า 2 µg/g ของน้ำยาง (Baur, X., and Chen, Z., 1999)  

              การกำจัดหรือการลดโปรตีน (deproteinisation) ในน้ำยางธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหาอาการแพ้โปรตีน สามารถทำโดยใช้วิธีการทางเคมี กายภาพ หรือการใช้วิธีการทางเคมีและกายภาพร่วมกัน รวมถึงการเหวี่ยงหมุน (centrifugation) เพื่อให้โปรตีนตกตะกอน การใช้เอนไซม์ย่อยสลายโปรตีน การใช้สารลดแรงตึงผิว และการล้างด้วยน้ำเพื่อกำจัดโปรตีนที่ตกค้างในน้ำยางออก แต่การลดโปรตีนก็มีทั้งผลดีและผลเสียต่อคุณสมบัติของน้ำยางธรรมชาติ ซึ่งเชื่อกันว่าโปรตีนในน้ำยางมีบทบาทสำคัญต่อคุณสมบัติการยืดหยุ่น (elasticity) ของยาง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของยางธรรมชาติ (Honeycutt, T., et al., 2006)โดยมีข้อเสียคือ ทำให้ความเสถียรของน้ำยางลดลง (destabilization) และเปลี่ยนคุณสมบัติในการจับตัวเป็นก้อน (coagulation) ของน้ำยาง แต่ข้อดีก็คือโปรตีนจะช่วยรักษาความเสถียรของคอลลอยด์ในน้ำยาง (colloidal stability) ขณะผลิตยาง