Page 3 of 8
การตลาดสีเขียวและผู้บริโภคสีเขียว (Green marketing and green consumer)
1. การตลาดสีเขียว (Grundey, D., and Zaharia, RM., 2008) ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อว่าตลาดสีเขียว หมายถึง การส่งเสริม/โฆษณาผลผลิต หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม เช่น ปราศจากฟอสเฟต (phosphate free) นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (recyclable) เติมเพื่อใช้ใหม่ได้ (refillable) เป็นมิตรต่อโอโซน (ozone friendly) และเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม (environmentally friendly) หรือหมายถึง ผลิตผลเพื่อการบริโภค ผลิตภัณฑ์จากโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนการบริการ ตัวอย่างเช่น การโฆษณาเกี่ยวกับที่พักแรมที่เริ่มใช้คำว่า “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” (ecotourist) ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกตามธรรมชาติหรือการลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดย green หรือ environmental marketing ประกอบขึ้นด้วยกิจกรรมที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกและก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่มุ่งสนองความต้องการของมนุษย์ให้เกิดความพึงพอใจ โดยที่กิจกรรมทั้งหมดเหล่านั้นมีผลกระทบเชิงลบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด
ระบบการตลาดดั้งเดิม (classical marketing) ประกอบด้วยส่วนการตลาด (Marketing mix: 4 Ps) ที่มีปัจจัยทางการตลาดที่ควบคุมได้ เพื่อสนองความต้องการของตลาดเป้าหมาย ส่วนประกอบของ 4 Ps นี้มีความเกี่ยวพันและมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ประกอบด้วย (1) ผลิตภัณฑ์ (product) เป็นสิ่งที่มีคุณค่า (value) ในสายตาของลูกค้าทำให้เกิดพฤติกรรมการซื้อ (2) ราคา (price) ราคาต้องสามารถเพิ่มมูลค่าให้คนยอมรับได้ (3) สถานที่จัดจำหน่าย (place) ช่องทางจัดจำหน่ายจะต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า (4) การส่งเสริมการตลาด (promotion) เป็นวิธีการชักชวนให้ลูกค้าเข้าใจถึงคุณค่าและลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ออกวางจำหน่ายในตลาด
สำหรับระบบการตลาดสมัยใหม่ จำเป็นต้องเกี่ยวเนื่องกับสภาพแวดล้อมและเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการสภาพแวดล้อม การตลาดสมัยใหม่มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น การตลาดสมัยใหม่ (new marketing) การตลาดเชิงนิเวศน์ (ecological marketing, eco-marketing) และ การตลาดสีเขียว (green marketing) แนวคิดของการตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับข้อกำหนดของรูปแบบการตลาดเพื่อสังคม (societal marketing) ซึ่งแนวคิดนี้ยึดหลักว่า งานขององค์การก็คือ การพิจารณาความจำเป็น ความต้องการและความสนใจของตลาดเป้าหมาย และการสร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลเหนือคู่แข่ง โดยยังคงรักษาความอยู่ดีกินดีของผู้บริโภคและสังคมไว้ เช่น ไม่ค้ากำไรเกินควร ไม่ผลิตสินค้าที่เป็นอันตรายต่อประชาชน ไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเป็นพิษ ทั้งนี้บริษัทจึงมีเป้าหมายคือ การสร้างความพึงพอใจของผู้บริโภคและสังคมในระยะยาว ทั้งนี้โมเดลหรือรูปแบบส่วนประสมของการตลาดสีเขียว (green marketing mix) นั้นต้องประกอบด้วยส่วนประกอบ 4 ตัว (4 Ps) ดังนี้ คือ
(1) ผู้ผลิตควรผลิตผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศน์ที่นอกจากจะไม่ไปทำลายสภาพแวดล้อมแล้วยังต้องป้องกันหรือทุเลาความเสียหายของสภาพแวดล้อม
(2) ราคาของผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศน์อาจจะสูงขึ้นเล็กน้อย
(3) การกระจายผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด (distribution logistics) มีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นบรรจุภัณฑ์เชิงนิเวศน์
(4) การสื่อสารทางการตลาดเน้นเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม เช่น
a ต้องมีใบรับรองผลิตภัณฑ์สะอาด (P certificate) หรือการรับรอง ISO 14000 เพื่อเสริมภาพลักษณ์ขององค์กร
b ให้ความจริงด้านค่าใช้จ่ายในการปกป้องสภาพแวดล้อม
c สนับสนุนกิจกรรมด้านสภาพแวดล้อมธรรมชาติ
d ผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศน์ควรได้รับการส่งเสริมการขายเป็นพิเศษ
2. ผู้บริโภคสีเขียว (Laroche, M., Bergeron, J., and Barbaro-Forleo, Guido, 2001) ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มรู้สึกว่าพฤติกรรมการซื้อสินค้าของตังเองนั้นมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยตรงหลายด้าน ดังนั้นผู้บริโภคจึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อและบริโภคโดยไม่ให้มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เช่น ซื้อผลิตภัณฑ์ที่บรรจุภัณฑ์ทำจากวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ (recycled material) ซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น สีที่ย่อยสลายได้โดยวิธีชีวภาพ (biodegradable paint) สเปรย์ผมที่ไม่ผสมสาร CFC หรือ ตัวกรองกาแฟที่ไม่ฟอกสี โดยปัจจัยที่มีผลทำให้ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีอยู่ 5 ปัจจัยประกอบกันเป็นโครงร่างของผู้บริโภคสีเขียว (profiles of green consumers) (Laroche, M., Bergeron, J., and Barbaro-Forleo, Guido, 2001) ดังนี้คือ
(1) ลักษณะด้านประชากรศาสตร์ (demographics)
(2) ความรู้ (knowledge)
(3) คุณค่าหรือค่านิยม (values)
(4) ทัศนคติ (attitudes)
(5) พฤติกรรม (behavior)
2.1 ลักษณะทางด้านประชากรศาสตร์ของผู้บริโภค (demographics characteristics) วิธีวิเคราะห์ลักษณะผู้บริโภคที่ดีที่สุดคือ การศึกษาทางด้านประชากรศาสตร์ที่จำแนกประชากรออกตามอายุ เพศ รายได้ การศึกษา ลักษณะการทำงาน ที่อยู่อาศัย สถานภาพการสมรส และขนาดของครอบครัว เป็นต้น ผลการศึกษาวิเคราะห์เดิม พบว่า ผู้หญิงมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ชาย แต่ต่อมากลับพบว่าผู้ชายยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมสภาวะมลพิษทางอากาศมากกว่าผู้หญิง สำหรับการวิเคราะห์ทางด้านรายได้และการศึกษาของประชากรสรุปได้ว่า ทั้งรายได้และการศึกษาไม่ใช่ตัวดัชนีที่ดีนักในการบ่งชี้ความรับผิดชอบทางด้านสภาพแวดล้อมหรือพฤติกรรมการเลือกซื้อของผู้บริโภค งานวิจัยในอดีตพบว่า คนที่มีอายุน้อยกว่าค่าเฉลี่ยจากการศึกษาทางด้านประชากรศาสตร์ที่จำแนกประชากรออกตามอายุเป็นผู้บริโภคสีเขียว แต่ผลการวิจัยภายหลังกลับพบว่า ผู้บริโภคสีเขียวจะเป็นผู้มีอายุมากกว่าค่าเฉลี่ย นักวิจัยส่วนใหญ่มีความเห็นว่าลักษณะทางด้านประชากรศาสตร์มีความสำคัญน้อยกว่าตัวชี้วัดทางด้านความรู้ ค่านิยม และ/หรือทัศนคติในการอธิบายพฤติกรรมของผู้บริโภคสีเขียว
2.2 ความรู้ของผู้บริโภค (knowledge or eco-literacy) เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าความรู้มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้จะมีความสำคัญในการจัดโครงสร้างของข้อมูลที่ผู้บริโภครวบรวมและจัดการเป็นข่าวสารและการใช้ข่าวสารให้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ ตลอดจนการประเมินคุณค่าของผลผลิตและการบริการ รายงานการวิจัยด้านความรู้ของผู้บริโภคต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์และใช้บริการที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมมีความขัดแย้งกันอยู่ บางรายงานได้รายงานว่าความรู้ของผู้บริโภคไม่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมการบริโภคเชิงนิเวศน์ แต่บางรายงานบอกว่าความรู้ทางนิเวศวิทยาของผู้บริโภคเป็นดัชนีชี้วัดการบริโภคเชิงอนุรักษ์ของผู้บริโภคและยังพบว่าผู้ที่มีความรู้ทางด้านสภาพแวดล้อมสูงพอใจที่จะจ่ายมากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์สีเขียว
2.3 ค่านิยมของผู้บริโภค (values) เป็นความพึงพอใจเกี่ยวกับความเชื่อถืออย่างลึกซึ้งและหลักปรัชญา (philosophical subjects) หรือเป็นความเชื่อซึ่งชี้นำการกระทำและการใช้ดุลยพินิจที่มีต่อสถานการณ์ต่าง ๆค่านิยมที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ
(1) ความเป็นปัจเจกชน (individualism) คือ สภาพซึ่งบุคคลมองตัวเองครั้งแรกเป็นส่วนตัวและเชื่อว่าความสนใจส่วนตัวและค่านิยมมีความสำคัญเป็นอันดับแรก
(2) ความเป็นกลุ่ม (collectivism) ความรู้สึกที่ว่าสิ่งที่ดีงามของกลุ่มหรือสังคมจะต้องมาก่อน
จากรายงานผลการวิจัยปรากฏว่า ผู้บริโภคที่มีค่านิยมความเป็นกลุ่ม (collectivism) มีแนวโน้มที่จะเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม ในขณะที่ผู้บริโภคที่มีค่านิยมเป็นปัจเจกชน (individualism) มีแนวโน้มที่ไม่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมมากกว่า นอกจากนี้ยังพบว่า พวกที่มีค่านิยมสนุกสนานและรื่นเริง (fun/enjoyment) มีความ สัมพันธ์เชิงบวกกับทัศนคติและเห็นความสำคัญของการนำผลิตภัณฑ์มาแปรรูปใช้ใหม่ (recycling) ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมการใช้ของแปรรูปใช้ใหม่
2.4 ทัศนคติของผู้บริโภค (attitudes) ทัศนคติ (attitudes) คือ ความรู้สึกนึกคิดของผู้บริโภคที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งผู้บริโภคเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตโดยใช้เป็นตัวเชื่อมระหว่างความคิดและพฤติกรรม นักการตลาดนิยมใช้ในเครื่องมือการโฆษณาเพื่อสร้างทัศนคติที่มีต่อผลิตภัณฑ์และตราสินค้า เสริมแรงและ(หรือ) เปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภค ซึ่งองค์ประกอบของทัศนคติ มี 3 ส่วน คือ
(1) ส่วนของความเข้าใจ (cognitive component) หมายถึง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรู้ ความเข้าใจ และความเชื่อเกี่ยวกับตราสินค้าโดยปราศจากอารมณ์หรือความรู้สึก
(2) ส่วนของความรู้สึก (affective component) หมายถึง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์หรือความรู้สึกที่มีต่อผลิตภัณฑ์และตราสินค้า เช่น เกิดความรู้สึกชอบ หรือ ไม่ชอบ พอใจ หรือ ไม่พอใจ มีประโยชน์ หรือ ไม่มีประโยชน์
(3) ส่วนของพฤติกรรม (behavior component) หมายถึง พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ หรือ การใช้ผลิตภัณฑ์ หรือ แนวโน้มการเกิดพฤติกรรม เช่น การแจกของตัวอย่าง มีวัตถุประสงค์ให้กลุ่มเป้าหมายเกิดพฤติกรรมการทดลองใช้
ผลการวิจัยเกี่ยวกับทัศนคติของผู้บริโภคเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมได้แก่ 1) ความสำคัญ (importance) และ 2) ความไม่สะดวก (inconvenience) ของพฤติกรรมการบริโภคที่มีต่อสภาพแวดล้อม ยกตัวอย่าง เช่น ผู้บริโภคจะรู้สึกว่าการนำผลิตภัณฑ์กลับมาแปรสภาพใช้ใหม่ (Recycling) มีความสำคัญต่อสังคมและสภาพแวดล้อมในระยะยาว แต่ผู้บริโภคก็จะมีความรู้สึกถึงความไม่สะดวกสบายส่วนตัวในการกระทำเช่นนั้น ในกรณีที่คล้ายกันก็คือ ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะรู้ว่าการซื้อ นำผลไม้หรือ ขนมที่ใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งจะเป็นผลร้ายต่อสภาพแวดล้อมก็ตาม แต่ก็ยังซื้ออยู่เพราะว่าสามารถซื้อและใช้ได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ยังวิจัยพบว่า ความไม่สะดวกสบาย (inconvenience) มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycling) โดยความเป็นปัจเจกชน (individualism) สูงจะเชื่อว่าการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่นั้นไม่สะดวกสบาย ในทางตรงกันข้ามกันพบว่า ความสำคัญไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคเมื่อมีการนำกลับมาใช้ใหม่
2.5 พฤติกรรมของผู้บริโภค (consumers’ behaviors) เป็นพฤติกรรมที่ผู้บริโภคต้องนำการค้นหา การซื้อ การใช้ การประเมินผลการใช้สอยผลิตภัณฑ์และบริการ ที่สนองความต้องการในการบริโภค โดยมีกระบวนการตัดสิน ใจและการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อและการใช้สินค้า กระบวนการตัดสินใจเลือกซื้อและใช้สินค้าของผู้บริโภคนั้นมีขั้นตอนซับซ้อนยากแก่การเข้าใจ มีรูปแบบและทฤษฎีมากมายที่พยายามอธิบายพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทฤษฎีทางจิตวิทยา สังคมวิทยา และมานุษยวิทยา โดยนำมาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีทางการตลาดเพื่อให้เข้าใจพื้นฐานของพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น
3. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค (Tanner, C., and Kast, SW., 2003) การศึกษาวิจัยทางด้านจิตวิทยาสภาพแวดล้อมในอดีตจะเน้นบทบาทของปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับปัจเจกชน เช่น ความรู้ (knowledge) ความใส่ใจ (concern) กับสภาพแวดล้อม ทัศนคติ (attitude) บรรทัดฐาน (norms) และค่านิยม (values) ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภค ทัศนคติและแรงจูงใจ (motives) ของผู้บริโภค นอกจากนั้นยังมีการค้นคว้าด้านโครงร่างของผู้บริโภคสีเขียว (profile of green consumer) ทั้งนี่ตัวแปรจำเพาะที่พบว่ามีผลกระทบต่อพฤติกรรมด้านสภาพแวดล้อมสามารถจำแนกออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
(1) การวัดทัศนคติจำเพาะ (measures of specific attitudes) เช่น ผลของการสำรวจผู้บริโภคที่สนับสนุนข้อเสนอที่ว่าความเชื่อเฉพาะตัวของผู้บริโภคเป็นตัวทำนายพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมได้แน่นอนกว่าความใส่ใจทั่ว ๆ
(2) พฤติกรรมหรืออุปสรรคในการรับรู้ (perceived barriers) มีผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่าการควบคุมการรับรู้ (perceived control) หรืออุปสรรคในการรับรู้ของผู้บริโภคเป็นตัวทำนายพฤติกรรมทางสภาพแวดล้อม ในการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผู้บริโภคต้องมั่นใจว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมหรือมีผลทำให้สภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมดีขึ้น
(3) ความรู้ (knowledge) โดยส่วนใหญ่แล้วความรู้ทางด้านสภาพแวดล้อมจะมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมทางสภาพแวดล้อมของผู้บริโภค แต่ก็มีรายงานที่ขัดแย้งอยู่บ้าง ความรู้แบ่งออกเป็นความรู้ทางด้านทฤษฎี (knowledge about facts) และความรู้ทางการปฏิบัติ (knowledge about actions) ความรู้ทางการปฏิบัติจะมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคมากกว่าความรู้ทางด้านทฤษฎี
(4) บรรทัดฐานส่วนบุคคล (personal norm) ความรู้สึกผูกมัดทางจริยธรรม (feeling of moral obligation) เป็นตัวกระตุ้นสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมทางด้านสภาพแวดล้อมของผู้บริโภค กล่าวโดยสรุปแล้วปัจจัยส่วนบุคคลที่มีความสำคัญต่อการบริโภคสีเขียว ได้แก่ ทัศนคติด้านบวกกับสภาพแวดล้อม (pro-environmental attitude) ทัศนคติเชิงบวกกับการค้าที่ยุติธรรม (fair trade) ผลผลิตท้องถิ่น (local products) โดยผู้บริโภคต้องมีความรู้ที่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสภาพการเป็นมิตรและอันตรายต่อสภาพแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ได้ การซื้อของผู้บริโภคสีเขียวจะลดลงเมื่อผู้บริโภคตระหนักถึงการที่จะต้องประหยัดเวลาเมื่อต้องไปซื้อของในตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนปัจจัยทางด้านอาหาร GMO รสชาติของอาหาร สุขภาพ ความรู้ทางทฤษฎี ความเชื่อในตลาดสีเขียว บรรทัดฐานส่วนบุคคล และอุปสรรคทางด้านการเงินนั้นไม่มีผลในการเป็นตัวดัชนีชี้วัด
4. การกำหนดคุณค่าของผู้บริโภค (Consumer value positioning) (Ottman, J., Stafford, ER., and Hartman, CL., 2006) ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์สีเขียวมี 5 ประการ ดังนี้
(1) ตัวชี้วัดประสิทธิภาพและความคุ้มค่า (efficiency and cost effectiveness)
(2) สุขภาพและความปลอดภัย (health and safety)
(3) การทำงานของผลิตภัณฑ์ (performance)
(4) สัญลักษณ์และสถานะ (symbolism and status)
(5) ความสะดวก (convenience)
(1) ประสิทธิภาพและความคุ้มค่า (efficiency and cost effectiveness) เป็นตัวชี้วัดที่แสดงค่าใช้จ่ายต่อหน่วยของผลผลิตและผลลัพธ์ ตามลำดับ เช่น เครื่องซักผ้าฝาหน้าจะมีราคาแพงกว่าเครื่องซักผ้าฝาบนประมาณ 2 เท่า แต่สามารถประหยัดน้ำได้มากถึง 12,000 แกลลอนต่อปี และประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 110 เหรียญต่อปี
(2) สุขภาพและความปลอดภัย (health and safety) จากความใส่ใจด้านสารเคมีที่เป็นพิษ ฮอร์โมน หรือพิษของยาที่ใช้อยู่ประจำวันทำให้ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงสุขภาพและความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น สตรีมีครรภ์ เด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพแวดล้อมมีการออกแบบและผลิตมาโดยการลดการใช้สารอันตรายและกระบวนการผลิตที่ปราศจากการปนเปื้อนจึงได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น
(3) การทำงานของผลิตภัณฑ์ (performance) ปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์สีเขียวได้ถูกออกแบบและผลิตให้สามารถทำงานได้ดีกว่าผลิตภัณฑ์ธรรมดา จึงสามารถกำหนดราคาให้สูงกว่าได้ เช่น เครื่องซักผ้าฝาหน้า นอกจากจะใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าแล้ว ยังสามารถทำความสะอาดเสื้อผ้าได้นุ่มนวลกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องซักผ้าฝาบนเพราะว่าเครื่องซักผ้าฝาหน้าสามารถปั่นผ้าได้เช่นเดียวกับเครื่องอบผ้าและใช้กำลังเหวี่ยงจากศูนย์กลางดึงความสกปรกและน้ำออกจากเสื้อผ้าได้ ในทางตรงข้ามเครื่องซักผ้าฝาบนจะใช้ตัวปั่นเสื้อผ้าให้หมุนไปรอบถังซัก ซึ่งจะทำความสะอาดได้ลดลงและทำให้เสื้อผ้าเก่าและฉีกขาดได้เร็วขึ้น
(4) สัญลักษณ์และสถานะ (symbolism and status) ในตลาดอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เช่น บริษัทที่ผลิตเก้าอี้และอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน จะมีการออกแบบอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานให้เหมาะสมกับการใช้งานของพนักงานและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยปราศจากส่วนประกอบหรือกระบวนการที่เป็นอันตราย เช่น ส่วนประกอบที่เป็นไม้ สามารถนำมาแปรรูปใช้ใหม่ได้ โดยปราศจากสาร carcinogens ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เก้าอี้ที่สามารถถอดออกเป็นส่วน ๆ ได้ และมีป้ายรับรองว่าสามารถนำมาแปรรูปใช้ใหม่ได้
(5) ความสะดวก (convenience) ความสะดวกสบายในการใช้ผลิตภัณฑ์สีเขียว หรือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม เช่น การใช้หลอดไฟที่ให้แสงสว่างภายนอกอาคารที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะบรรจุพลังงานจากแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันและให้แสงสว่างในเวลากลางคืน โดยไม่ต้องต่อสายเข้ามาในอาคาร ซึ่งมีความประหยัดและสะดวกสบายมากในการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีเครื่องใช้สอยประจำตัว เครื่องคิดเลข หรือนาฬิกาข้อมือที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ชาร์จไฟเข้าอุปกรณ์ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเปลี่ยนถ่านที่หมดอายุเลย
5. กลยุทธ์การจัดการผลิตภัณฑ์สีเขียวในตลาดสีเขียว (product management and green strategies) (Grundey, D., and Zaharia, RM., 2008) การจัดการตลาดสีเขียวในการผลิตผลิตภัณฑ์สีเขียวได้สนับสนุนให้มีการบูรณาการปัจจัยสภาพแวดล้อมเพื่อให้เข้ากับกิจกรรมการผลิตของบริษัท โดยเริ่มตั้งแต่กลยุทธ์การกำหนด การวางแผน การดำเนินการ จนถึงการผลิตและความเกี่ยวเนื่องกับผู้บริโภค มีการเสนอข้อปฏิบัติว่า บริษัทจะต้องหาทางและหาคำตอบที่ดำเนินการอยู่ที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมได้ โดยผ่านกลยุทธ์ทางการตลาด ผลผลิตและบริการเพื่อที่จะคงความเหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งประกอบด้วย
(1) การหาเทคนิคใหม่สำหรับการจัดการขยะ ของโสโครกและความเป็นพิษของน้ำและอากาศ
(2) การจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม
(3) การผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติจริง ๆ
(4) การผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้นโดยวิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
คำตอบหรือทางออกเหล่านี้ ทำให้บริษัทแน่ใจได้ว่าบริษัทสามารถมีบทบาทในการสนับสนุนความต้องการของสังคมและเป็นโอกาสที่บริษัทจะได้รับคำสรรเสริญได้ โดยช่วงอายุของผลิตภัณฑ์สีเขียว ความเขียวของช่วงอายุผลิตภัณฑ์ (the greening of product life stage) วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ การแนะนำ การเจริญเติบโต การเจริญเติบโตเต็มที่ และการเจริญเติบโตที่ตกต่ำ การบริหารจัดการช่วงอายุของผลิตภัณฑ์สีเขียวในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมและมีประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์ (eco-efficiency) นั้นสามารถทำได้โดยกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้หรือบริโภคทรัพยากรธรรมชาติโดยที่ธรรมชาติสามารถมีโอกาสฟื้นฟูตัวเองได้
การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (DFE: design for the environment) เกิดขึ้นจากปรัชญาของการผสมผสานการตัดสินใจด้านสภาพแวดล้อมลงในกระบวนการออกแบบทั้งผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ มีหลักอยู่ 2 ข้อ คือ
(1) องค์กรที่รับจ้างทำงานหรือผูกมัดกับการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมต้องอยู่ในวงการที่มีความไว้วางใจกับสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดกับสภาพแวดล้อม
(2) องค์กรต้องประเมินประเด็นสภาพแวดล้อมอย่างเป็นระบบร่วมกับปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจ กฎข้อบังคับ สังคมและการเมือง ข้อพิจารณาเพิ่มเติมในเนื้อหาของการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์คือ การออกแบบสำหรับการกำจัดผลิตภัณฑ์และการออกแบบสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่กำจัดทิ้ง (นำกลับมาใช้ใหม่ได้) การออกแบบเพื่อการป้องกันภาวะมลพิษและการออกแบบเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากร การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมนี้ จะสนับสนุนการพัฒนาความคิดที่สามารถลดปริมาณของเสีย ขยะเข้าในกระบวนการผลิต การแปรรูปนำผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์หมักเป็นปุ๋ยได้ หรือการช่วยสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนกระบวนการออกแบบโดยเพิ่มผลประโยชน์กำไรมากกว่าต้นทุนให้กับองค์กร
การจัดการคุณภาพโดยรวมสำหรับสภาพแวดล้อม (total quality management:TQM for the environment) เป็นแนวทางเชิงระบบของบริษัทในระดับกว้างที่มุ่งในด้านคุณภาพในด้านการผลิตสีเขียว และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับการจัดการทั้งทางด้านผลิตภัณฑ์และด้านกระบวนการผลิตที่นำมาผสมผสานกับการบริหารจัดการทางสภาพแวดล้อม ข้อผูกมัดทางด้านคุณภาพในการผลิตสีเขียวนอกจากแนวคิดการผลิตตามปกติแล้วยังรวมคุณภาพทางด้านสภาพแวดล้อมเข้าไปด้วย
การแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ (recycling) กฎข้อบังคับจะเป็นความกดดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เข้ามาสู่ตลาด ยกตัวอย่าง เช่น ถ่านไฟฉายทุกประเภทจะมีส่วนประกอบของโลหะหนักที่เป็นอันตราย เช่น เงิน ปรอท นิกเกิล แคดเมียม และตะกั่ว ซึ่งเป็นพิษต่อคุณภาพน้ำใต้ดิน ข้อบังคับที่รุนแรงขึ้นประกอบด้วยการให้บริษัทปรับปรุงขบวนการผลิตผลิตภัณฑ์หรือให้มีโครงการเก็บรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งาน บริษัทผลิตถ่านไฟฉาย Eveready เปลี่ยนสูตรการผลิตถ่านไฟฉายโดยลดปริมาณปรอทให้สอดคล้องกับข้อบังคับมาตรฐาน 2 ปี ก่อนการประกาศข้อบังคับ ซึ่งทำให้เฉือนคู่แข่งในการโฆษณาประชาสัมพันธ์การค้า
การลดปริมาณขยะและการป้องกันภาวะมลพิษ (waste reduction, pollution prevention) นอกเหนือจากแนวคิดการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์ (eco-efficiency) ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การผลิตเพื่อการแยกส่วนได้ (manufacturing for disassembly) กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เพราะช่วยให้เกิดการนำมาแปรรูปใช้ใหม่ได้มากยิ่งขึ้นและเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ได้รับความชื่นชมเพิ่มขึ้น บริษัทผู้ผลิตทราบถึงการเกิดภาวะมลพิษเป็นสัญญาณของการไม่มีประสิทธิภาพของการผลิต เป็นการเพิ่มต้นทุน ขยะที่เกิดขึ้นนั้นแสดงถึงปริมาณวัตถุดิบที่ไม่ได้ขายออกเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ ซึ่งช่วยทำให้การถอดชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ง่ายขึ้น ทำให้การนำชิ้นส่วนกลับมาแปรรูปใช้ใหม่ได้มากขึ้น ลดหรือกำจัดชิ้นส่วนที่ไม่สามารถนำมาแปรรูปใช้ใหม่ให้น้อยลง
กลยุทธ์เกี่ยวกับธุรกิจสมัยใหม่ (strategic implications for modern business) การนำปรัชญาด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาใช้ปฏิบัติทางการตลาดต้องการธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพตลอดช่วงเวลาระยะยาว การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติจะมีผลกระทบระบบการผลิตของบริษัท และกระบวนการผลิตโดยรวมของบริษัท การเปลี่ยนทิศทางจากระยะสั้นถึงระยะยาวของบริษัทจะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างที่ต้องการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เปลี่ยนระบบการสื่อสารภาพลักษณ์และระบบข่าวสารของบริษัท ข้อแนะนำคือ การมองเห็นว่าขยะเป็นต้นทุนขององค์กร ดังนั้นการลดปริมาณขยะ การนำวัสดุกลับมา ใช้ซ้ำและการแปรรูปขยะนำกลับมาใช้ใหม่เป็นการประหยัดต้นทุนที่สำคัญในระยะยาว บริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมเริ่มประสบความสำเร็จและผลกำไรจากการใช้แนวทางการค้าเชิงนิเวศน์ กิจกรรมที่ปฏิบัติกันได้แก่ 1) สร้างความต้องการของผู้บริโภคในผลิตภัณฑ์สีเขียว 2) เพิ่มค่าใช้จ่ายในการให้ความรู้แก่ผู้บริโภค เช่น การแจกเอกสาร “The Good Environment Guide” หรือ “คู่มือสภาพแวดล้อมที่ดี” 3) สร้างหรือจัดหาสถานที่สำหรับให้สะดวกแก่การแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่และป้องกันภาวะแวดล้อมเป็นพิษและการปรับภาพลักษณ์ให้เป็นบริษัทสีเขียวนำมาซึ่งความสำเร็จของบริษัท ภาพลักษณ์สีเขียวทำให้บริษัทเป็นที่ยอมรับ ส่งผลให้เพิ่มการขาย เพิ่มมูลค่าหุ้น และสามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้