ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
บทสรุป
              ผลิตภัณฑ์เขียว (green product) คือ สิ่งที่ผลิตขึ้นโดยกรรมวิธีธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีเจือปนและไม่มีสารพิษใดๆ เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด โดยการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้การใช้วัตถุดิบ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้รวมถึงการเปลี่ยนวัตถุดิบ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดต้นทุน โดยคำนึงถึงวิธีที่จะเพิ่มผลิตผล ให้มีของเสียหรือการปล่อยมลพิษน้อยลง การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด รวมถึงการป้องกันมลพิษ (pollution prevention) การผลิตที่สะอาด (cleaner production) และการลดของเสีย (waste minimisation) 
 
              การบริโภคควรคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งมีอิทธิพลต่อผู้ผลิต หากผู้บริโภคเรียกร้องให้ผู้ผลิตปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้ผลิตก็จะให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามความต้องการของลูกค้า การบริโภคที่ยั่งยืนได้นำการตลาดสีเขียว (green marketing) มาใช้ทำให้เริ่มมีสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือสินค้าสีเขียว (green products) วางขายในตลาดเพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มรู้สึกว่าพฤติกรรมการซื้อสินค้าของเขามีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยตรงหลายด้าน ดังนั้นผู้บริโภคจึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อและบริโภคเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ปัจจัยที่มีผลทำให้ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีอยู่ 5 ปัจจัย คือ (1) ลักษณะด้านประชากรศาสตร์ (demographics) (2) ความรู้ (knowledge) (3) คุณค่าหรือค่านิยม (values) (4) ทัศนคติ (attitudes) (5) พฤติกรรม (behavior) และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคและใช้สินค้านั้นได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ 1) ปัจจัยทางวัฒนธรรม (culture) 2) สภาพแวดล้อมทางสังคม (social environment) 3) อิทธิพลส่วนบุคคล (personal influence) 4) ปัจจัยทางจิตวิทยา (psychological factor) 
              การออกแบบผลิตภัณฑ์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม (eco-design) ในปัจจุบันนี้รูปแบบการตลาดได้เปลี่ยนไปโดยตลาดของการบริการได้เข้ามาแทนตลาดการผลิตจึงผนวกแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์และด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน (reduce) การใช้ซ้ำ (reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) และการซ่อมบำรุง (repair) ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน เช่น การออกแบบอาคารสีเขียว (eco-building design) การออกแบบผลิตภัณฑ์ยาชีวะเภสัช (biomedical product design) การออกแบบผลิตภัณฑ์เหล็กสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในที่อยู่อาศัย (steel product design for home electric) อาหารสีเขียว (green foods) การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้าน (household product design)  การออกแบบสายไฟและสายเคเบิลสีเขียว (wire and cable eco-green design) การออกแบบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว (eco design for electric) 
              ฉลากเขียว (green label หรือ eco-label) คือ ฉลากที่มอบให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยโดยที่คุณภาพยังอยู่ในระดับมาตรฐานที่กำหนด ฉลากเขียวที่ติดอยู่กับผลิตภัณฑ์จะเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นเน้นคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม ฉลากเขียวจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยป้องกันรักษาธรรมชาติผ่านทางการผลิตและการบริโภคของผู้ผลิต 
              LCA (life cycle assessment ) คือ กระบวนการวิเคราะห์และประเมินค่าผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยระบุถึงปริมาณพลังงานและวัตถุดิบที่ใช้ รวมถึงของเสียที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะหาวิธีการในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด