- โปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ (Protein in natural rubber latex)
- โปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ
- ชนิดของอาการแพ้ที่เกิดจากโปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ
- การกำจัดหรือการลดโปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ
- วิธีการที่มีผลต่อปริมาณโปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ
- ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้
- การเตรียมน้ำยางธรรมชาติโปรตีนต่ำและแผ่นฟิล์มยางธรรมชาติโปรตีนต่ำ
- คุณสมบัติของน้ำยางธรรมชาติโปรตีนต่ำและแผ่นฟิล์มยางธรรมชาติโปรตีนต่ำ
- บทสรุป
- อ้างอิง
- All Pages
ชนิดของอาการแพ้ที่เกิดจากโปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ
อาการแพ้ที่เกิดจากโปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. Irritant contact dermatitis (ICD) เป็นอาการแพ้น้ำยางที่พบมากที่สุด โดยจะมีอาการระคายเคืองบริเวณผิวหนังแต่ยังไม่มีการติดเชื้อหลังจากสัมผัสกับผงแป้งหรือสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในถุงมือยางหรือผลิตภัณฑ์ยางภายหลังกระบวนการผลิต อาการอักเสบ อาการคันอย่างรุนแรง และรอยแดงนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยทางกายภาพ เช่น ช่วงเวลาที่ได้สัมผัส และอุณหภูมิของผิวหนังบริเวณนั้น โดยพบว่าความเป็นด่างของแป้ง (alkaline pH) ในถุงมือยางหรือผลิตภัณฑ์ยางเป็นสาเหตุที่สำคัญของอาการแพ้ดังกล่าว (Hepner, DL., and Castells, MC., 2003) การหลีกเลี่ยงอาการแพ้ชนิดนี้สามารถป้องกันได้โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ยางที่ปราศจากผงแป้ง (powder-free) ซึ่งมีความเป็นกรด-ด่าง (pH) ใกล้เคียงกับผิวหนังปกติ
2. Allergic contact dermatitis (ACD) หรือ Type IV cell- mediated hypersensitivity reaction เป็นการเริ่มต้นของอาการแพ้อันเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เรียกว่า T-cell mediated ที่มีต่อสารเคมีที่อยู่ในถุงมือยางหรือผลิตภัณฑ์ยางซึมสู่ผิวหนังแล้วรวมตัวกับโปรตีนในร่างกาย อาการที่ปรากฏเป็นอาการของผื่นคัน (eczema) ที่พบบริเวณหลังมือเป็นส่วนใหญ่ อาการแพ้นี้เป็นอาการระยะที่ 2 ที่แสดงออกมาหลังจากสัมผัสผ่านไปแล้ว 48-72 ชั่วโมง โดยเกิดเป็นผื่นแดงของผิวหนัง มีไข้และติดเชื้อ การวินิจฉัยโรคจะทำโดยใช้วิธีการทดสอบ patch test โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการแพ้มากขึ้นคือ ปริมาณสารเคมีที่ตกค้างในผลิตภัณฑ์ยางหลังกระบวนการผลิต และสภาวะของผิวหนังในขณะนั้น ความแตกต่างของ ICD และ ACD คือ ICD จะแสดงอาการให้เห็นในระยะเวลาสั้นกว่า ขณะที่ ACD ต้องใช้เวลา 1-3 วัน และบริเวณที่เกิดอาการแพ้ของ ICD จะเกิดเฉพาะบริเวณที่มีการสัมผัสเท่านั้น ไม่สามารถลุกลามไปบริเวณอื่นได้เหมือนกับ ACD (Tomazic, VT., 1997)
3. Type I IgE-mediated hypersensitivity reaction เป็นอาการแพ้ขั้นรุนแรงที่สุด พบในผู้ป่วย 5-15% เนื่องจากโปรตีนที่อยู่ในน้ำยางหรือผลิตภัณฑ์ยางหลังกระบวนการผลิตมากกว่าการแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสกับแป้งข้าวโพด หรือสารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ยาง โดยโปรตีนจะซึมสู่ผิวหนังและร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน IgE antibodies ขึ้นมาเพื่อป้องกันอาการแพ้ นอกจากนี้ latex protein ยังสามารถดูดซึมโดยส่งผ่านทางอากาศได้อย่างช้าๆ โดยจะแสดงอาการภายใน 30 นาทีที่สัมผัส เริ่มต้นจากการเกิดผิวหนังอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ และเยื่อตาขาวอักเสบ อนุภาคของแป้งและ latex protein ที่รวมตัวกันนี้จะปล่อยออกมาในอากาศและทำให้เกิดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม (bronchoconstriction) ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจตามมาในภายหลัง เรียกอาการโดยรวมนี้ว่า Urticaria ส่วน Anaphylaxis นั้นเป็นอาการที่รุนแรงมากกว่า Urticaria เนื่องจากสาร allergens จะเข้าสู่กระแสเลือดทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นและความดันเลือดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว (Tomazic, VT., 1997)