ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

 

บทนำ

              ซาโปนิน (Saponin) เป็นสารทุติยภูมิที่พบได้ทั้งในพืชและสัตว์ แต่ส่วนใหญ่พบมากในพืช  คำว่า “sapon”  มาจากภาษาลาตินว่า “sapo”  หมายถึง สบู่ (soap)  ซาโปนินเมื่อละลายน้ำจะเกิดเป็นฟองสบู่  เนื่องจากตัวมันเองมีทั้งขั้วที่ละลายในน้ำและละลายในไขมัน จึงมีคุณสมบัติเป็นผงซักฟอกธรรมชาติใช้ทำความสะอาดเสื้อผ้า  พืชที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นแหล่งของซาโปนินในทางการค้ามี 2 ชนิดได้แก่ Yucca schidigera จากประเทศเม็กซิโกและ Quillaja  saponaria  (soapbark tree) จากประเทศชิลี  ซาโปนินจาก Yucca schidigera เรียกอีกอย่างว่า yucca saponin  ชาวพื้นเมืองของอเมริกานิยมใช้ทำสบู่  ส่วนซาโปนินจาก Quillaja saponaria เรียกว่า quillaja  saponin  ในประเทศชิลีใช้เปลือกของต้น quillaja ที่มีสารซาโปนินสำหรับทำแชมพู  (Saponin, 2008)  พืชที่มีซาโปนินและใช้เป็นสบู่มานานและรู้จักกันทั่วไป ได้แก่  soapwort (Saponaria officinalis), soaproot (Chlorogalum pomeridianum), soapbark (Quillaja saponaria) และ soapberry (Sapindus mukorossi) ซาโปนินมีคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพหลากหลายสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างคือ ใช้เป็นสบู่ ยาเบื่อปลาและกำจัดหอย ตลอดจนใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม เป็นตัวทำให้เกิดฟองในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น เครื่องดื่ม ค็อกเทลมิกซ์   คุณสมบัติลดแรงตึงผิวจึงใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดใบหน้าและเครื่องสำอาง  คุณสมบัติต้านจุลินทรีย์ (antimicrobial) และต้านเชื้อรา (anti-fungal) ใช้เป็น antinutritional factor และมีแนวโน้มที่สามารถใช้ควบคุมลูกน้ำยุงลาย (Weisman, Z. and Chapagain, BP., 2003)  บางกรณีมีการใช้ในวงจำกัดเนื่องจากมีรสขม ปัจจุบันมีประโยชน์ต่อสุขภาพ  เช่น  ลดคอเลสเตอรอล (cholesterol)  และต้านมะเร็ง (Guclu-Ustundag, O. and Mazza, G., 2007) และใช้ในรูปของยาสมุนไพร(herbal medicines) เช่น ซาโปนินจากถั่วเหลืองและกระเทียม ในเชิงพาณิชย์มีการพัฒนากระบวนการใหม่ๆ และปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสกัด  การทำให้เข้มข้น และการทำให้สารบริสุทธิ์