ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

แหล่งที่พบซาโปนิน  (Source of saponins)             

              ซาโปนินเป็นสารไกลโคไซด์ที่พบในส่วนต่างๆ ของพืช ได้แก่ ใบ ลำต้น ราก หัว ดอก และผล ในพืชวงศ์ Sapindaceae สกุล Sapindus (soapberry หรือ soapnut) และวงศ์ Aceraceae (maple) และวงศ์ Hippocastanaceae (horse chestnut) ( Saponin, 2008)  ปัจจุบันมีรายงานว่าพบในพืชมากกว่า 100 วงศ์ ทั้งในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและคู่ พบในสัตว์ทะเลเป็นส่วนน้อย เช่น ปลาดาว แตงกวาทะเล (Sahelian,  2008)  สเตียรอยด์ซาโปนินส่วนใหญ่พบในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น วงศ์ Agavaceae, Dioscoreaceae และ Liliaceae  ไตรเทอร์ปินอยด์ซาโปนินส่วนใหญ่พบในพืชใบเลี้ยงคู่ เช่น วงศ์ Leguminosae, Araliaceae และ Caryaphyllaceae เป็นต้น แหล่งของซาโปนินที่เป็นพืชอาหารพบในพืชตระกูลถั่ว  เช่น  ถั่วเหลือง  ถั่วเขียว  ถั่วปากอ้า ถั่วลิสง ถั่วเลนทิล ฯลฯ  ที่พบในพืชผัก เช่น กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง ชา ผักโขม  และมันมือเสือ ต้นสบู่ (Quillaja saponaria) มะคำดีควาย (Sapindus rarak)  อัลฟัลฟา (Medicago sativa) horse chestnut (Aesculus hippocastanum) ชะเอมเทศ  (Glycyrrhiza spp.) โสม (Panax  spp.) ฯลฯ  

              ถั่วเหลืองนอกจากเป็นแหล่งของโปรตีนแล้วยังประกอบด้วยสารอื่นที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ซาโปนินและไอโซฟลาโวน  (isoflavone)  น้ำมัน กรดไขมัน เส้นใย และสารยับยั้งทริปซิน (trypsin inhibitor) ซาโปนินและไอโซฟลาโวนเป็นสารป้องกันมะเร็งในลำไส้ใหญ่ (MacDonald, RS., et al., 2005) ลดคอเลสเตอรอลได้ กระบวนการแปรรูปถั่วเหลืองเป็นอาหารสัตว์และอาหารคนจะมีการเปลี่ยนแปลงของปริมาณซาโปนินและ ไอโซฟลาโวน พืชแต่ละชนิดมีซาโปนินเชิงซ้อนผสมรวมกัน  โดยถั่วเหลืองแบ่งซาโปนินได้เป็น 3 กลุ่ม ตามโครงสร้างของอะไกลโคน คือ soyasapogenol A, B และ E ถั่วเหลืองประกอบด้วยซาโปนิน 0.1- 0.5% ในใบเลี้ยง (cotyledons) 0.2 – 0.3 % ในขณะที่ลำต้นใต้ใบเลี้ยง (hypocotyl)  มีมากถึง 2 % ส่วนเปลือกที่หุ้มเมล็ดไม่พบซาโปนิน (Anderson, RL. and Wolf, WJ., 1995)

              Avenacoside เป็นสเตียรอยด์ซาโปนินพบได้ในใบของข้าวโอ๊ต ส่วน avenacin เป็นไตรเทอร์ปินอยด์ซาโปนินพบในรากของข้าวโอ๊ต  ซึ่งในใบอ่อนมีซาโปนินมากกว่าใบแก่ ซาโปนินในใบมีคุณสมบัติทำให้เกิดการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงขณะปล่อยฮีโมโกลบินออกมาน้อยกว่าซาโปนินในราก ในเมล็ดถั่วเหลืองที่เพาะปลูก รากจะมี soyasapogenol A มากที่สุดขณะที่บริเวณยอดแรกเกิดมี soyasapogenol B มากที่สุด โดยทั่วไปซาโปนินที่พบในเนื้อเยื่อจะไวต่อการทำลายของเชื้อราและแบคทีเรีย  รวมทั้งแมลง ดังนั้นบทบาทของซาโปนินในพืชจะทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวขวางกั้นซึ่งเป็นระบบป้องกันตัวเองของพืช จะเห็นได้จากการพบ avenacin ปริมาณมากที่ปลายรากและพบน้อยลงในส่วนอื่นของราก โดย avenacin ทำหน้าที่เหมือนตัวควบคุมเชื้อรา Gaeumannomyces graminis อัลฟัลฟาซาโปนินเกิดจากการทำลายของแมลงซึ่งต่อมาทำหน้าที่เป็นสารไล่แมลง เมื่อใช้อัลฟัลฟาซาโปนินในอาหารสำหรับเลี้ยงตัวอ่อน Spodoptera  littoralis จะช่วยยืดระยะเวลาการเปลี่ยนจากตัวอ่อนไปเป็นดักแด้ให้นานขึ้น ทำให้การเจริญเติบโตของแมลงช้าลง  เพิ่มอัตราการตาย และอัตราการเกิด  นอกจากนี้ซาโปนินยังสามารถควบคุมแบคทีเรียที่อยู่รอบๆ รากของพืชในดินได้ ( Wina, E., Muetzel, S., and Becker, K., 2005)

              พืชชนิดเดียวกันอาจมีซาโปนินอยู่หลายชนิด เช่น ถั่วเหลืองประกอบด้วย soyasaponin A, B และ E สมุนไพรโสมประกอบด้วยจินเซ็งโนไซด์ (ginsenoside) Rb1, Rb2, Rc, Rd, Re, Rf และ Rg1 โดยตารางที่ 1 แสดงปริมาณซาโปนินที่พบในพืชซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดพืช พันธุกรรมดั้งเดิม ส่วนต่างๆ ของพืช สิ่งแวดล้อม ปัจจัยด้านการเกษตร เช่น การเจริญเติบโตของพืช กระบวนการหรือกรรมวิธีหลังการเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษา 

ตารางที่ 1  ปริมาณซาโปนินที่พบในพืชแต่ละชนิด 

แหล่งที่มา

ปริมาณซาโปนิน (%)

ถั่วเหลือง

ถั่วหัวช้าง

ถั่วเขียว

Quillaja bark

Yucca

Fenugreek Alfalfa

รากชะเอม (Licorice root)

0.22 – 0.47

0.23

0.18 – 4.2

9 – 10

10

4 – 6

22.2 – 32.3

 

ตารางที่ 1  ปริมาณซาโปนินที่พบในพืชแต่ละชนิด (ต่อ)

แหล่งที่มา

ปริมาณซาโปนิน (%)

โสมอเมริกา(Pinax quinquefololium L.)

                  ใบอ่อน

                  ใบแก่

                  ราก (4 ปี)

ข้าวโอ๊ต

เกาลัด  (Horse chestnut)

ใบsugar beet

Quinoa

 

1.42 – 2.64

4.14 – 5.58

2.44 – 3.88

0.1 – 0.13

3 – 6

5.8

0.14 – 2.3

ที่มา : Guclu-Ustundag, O.  and Mazza , G. (2007)