ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ข้อดีและข้อเสียของไบโอดีเซล 

              ไบโอดีเซลมีที่มาจากพืชหรือสัตว์ สามารถผลิตทดแทนได้ ไม่มีวันหมด ย่อยสลายได้เอง ไม่มีพิษ ขณะที่น้ำมันดีเซลผลิตได้จากปิโตรเลียมและนับวันมีแต่จะใช้หมดไปและไม่สามารถสร้างมาทดแทนใหม่ได้ นอกจากนี้วัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลอาจเป็นสิ่งที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น น้ำมันที่ใช้แล้วหรือเศษไขมันสัตว์ แต่เมื่อพิจาณาจะพบว่าการใช้พืชที่สามารถสกัดน้ำมัน เช่น ถั่วเหลืองและปาล์มในการผลิตไบโอดีเซลมีข้อดีคือ ทำให้ราคาของพืชชนิดนั้นสูงขึ้นและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดการพึ่งพาน้ำมันที่นำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรที่นิยมหันมาปลูกพืชพลังงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปลูกพืชพลังงานมากเกินไป จะทำให้พื้นที่ในการปลูกพืชที่ใช้เป็นอาหารลดลง เช่น ข้าว จะทำให้สถานการณ์ของพืชอาหารเกิดความวิกฤต ดังนั้นในการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกจำเป็นจะต้องให้มีความสมดุลกันระหว่างพืชพลังงานและพืชที่ใช้เป็นอาหาร เพื่อให้โลกมีความสมดุลทั้งสองด้านและสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศที่ไม่สามารถผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ (อนุชา พรมวังขวา และ ชัยชาญ ฤทธิเกริกไกร, 2550)

              1. ข้อดีของไบโอดีเซล 

              ไบโอดีเซลช่วยลดการปลดปล่อยของเสียที่ปลายท่อไอเสีย เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ควันและกลิ่น รวมทั้งกำมะถันและสารอะโรมาติกส์ มีไฮโดรคาร์บอนสายสั้นและออกซิเจนสูง ทำให้ไม่มีเขม่าหรือควันดำออกมาเนื่องจากการมีเขม่าจะทำให้เครื่องยนต์เสื่อมสภาพและชำรุดได้ง่ายและที่สำคัญคือ ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกสู่บรรยากาศและไม่ไปทำลายสภาพแวดล้อมของโลก เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศถูกดูดเข้ามาในพืชเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง จะเห็นได้ว่าไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และเมื่อนำไปใช้กับเครื่องยนต์พบว่าสามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์ดีเซลแบบเดิมได้ นอกจากนี้การใช้ไบโอดีเซลยังมีข้อดีกว่าการใช้น้ำมันดีเซล คือ  ไบโอดีเซลมีค่าจุดวาบไฟมากกว่าน้ำมันดีเซล ทำให้มีความปลอดภัยในการใช้งาน รวมทั้งไบโอดีเซลมีค่าการหล่อลื่นสูงซึ่งจะทำให้เครื่องยนต์อายุยืนยาวขึ้นและลดความถี่ในการเปลี่ยนอะไหล่เครื่องยนต์ (Agarwal, D., Sinha, S., and Agarwal, AK., 2006; Lotero, E., et al., 2005)

              2. ข้อเสียของไบโอดีเซล 

              การใช้ไบโอดีเซลจะเพิ่มการปลดปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ออกสู่บรรยากาศโลก ตัวอย่างเช่น น้ำมันไบโอดีเซลจากถั่วเหลืองจะปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์เพิ่มขึ้น12% เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันดีเซล ส่วนไบโอดีเซล B20 (ไบโอดีเซล 20% น้ำมันดีเซล 80% ) จะปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์เพิ่มขึ้น  2-4% เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันดีเซล ดังนั้นการสร้างกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับที่เข้มงวดในการใช้ไบโอดีเซลจึงมีความจำเป็นแม้ว่าการปลดปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์จะมีปริมาณเล็กน้อยก็ตาม การใช้ไบโอดีเซลในเครื่องยนต์ไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์อะไรเพิ่ม แต่เพื่อเป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์จึงมีการใช้ระบบหมุนเวียนก๊าซเสีย (exhaust gas recirculation :EGR) EGR เป็นเทคนิคในการลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์จากเครื่องยนต์ดีเซล โดยนำ COและไอน้ำมาใช้แทนที่ออกซิเจนและไนโตรเจนจากอากาศในการเผาไหม้ที่ห้องเผาไหม้ การหมุนเวียนเอาก๊าซเสียเข้าเครื่องยนต์เพื่อเพิ่มค่าทางความร้อนจำเพาะของสารผสมและลดปริมาณออกซิเจนในของผสม ปัจจัยทั้งสองนี้ช่วยลดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์แต่จะไปช่วยเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน ฝุ่นละออง และค่าการใช้เชื้อเพลิงจำเพาะ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณควัน และความคงทนของเครื่องยนต์ไบโอดีเซลและมีโอกาสที่จะเกิดการออกซิเดชันมากกว่าน้ำมันปิโตรเลียม ทำให้น้ำมันเป็นกรด และเกิดการตกตะกอน อัตราการเกิดออกซิเดชันขึ้นกับโครงสร้างของไฮโดรคาร์บอน ความเข้มข้นของ heteroatom ชนิดของ heteroatom ความเข้มข้นของออกซิเจนและเวลา (Agarwal, D., Sinha, S., and Agarwal, AK., 2006) สำหรับข้อเสียที่ต้องมีการพิจารณาอีกประการหนึ่งคือ การผลิตไบโอดีเซลด้วยปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชันอาจจะทำให้เกิดสารพิษที่สามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้หากในกระบวนการผลิตไม่มีขั้นตอนการกำจัดที่มีประสิทธิภาพ  เช่น สารเคมีจำพวกกรดหรือด่างที่ใช้ (ตัวเร่งปฏิกิริยา) รวมทั้งสารเคมีที่ใช้ในการแยกไบโอดีเซลให้บริสุทธิ์ ข้อดีและข้อเสียของการใช้ไบโอดีเซลแสดงไว้ในตารางที่ 2 (อนุชา พรมวังขวา และ ชัยชาญ ฤทธิเกริกไกร, 2550) 

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของการใช้ไบโอดีเซล

ข้อดี

ข้อเสีย

1.ไบโอดีเซลสามารถสร้างทดแทนได้ตลอดเวลาโดยมาจากพืช ไขมันสัตว์สัตว์ รวมทั้งน้ำมันที่ใช้แล้ว

1.เพิ่มการปลดปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) แต่สามารถแก้ไขได้โดยใช้ระบบหมุนเวียนก๊าซเสีย (EGR)

2.มีการปลดปล่อยก๊าซเสียออกมาน้อย เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ กำมะถัน และเขม่า

2.สารเคมีตกค้างที่เหลือจากปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชันอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และจำเป็นต้องได้รับการกำจัดที่มีประสิทธิภาพ

3. ลดการพึ่งพาน้ำมันที่นำเข้าจากต่างประเทศเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

 

4. ไบโอดีเซลมีความปลอดภัยในการใช้งานและช่วยยืดอายุเครื่องยนต์ให้ยาวนานขึ้น

 


ที่มา : อนุชา พรมวังขวา และ ชัยชาญ ฤทธิเกริกไกร (2550)