- อาหารฉายรังสี
- ความหมายของอาหารฉายรังสีและวัตถุประสงค์ในการฉายรังสี
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีการฉายรังสีอาหาร หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
- อาหารฉายรังสีในสหภาพยุโรปและประเทศไทย
- มาตรฐานของ CODEX 106-1983 (CODEX, 2008)
- ความปลอดภัยของอาหารฉายรังสี
- ผลของการฉายรังสีต่อเชื้อโรคในอาหารและบรรจุภัณฑ์แบบต่าง ๆ
- การยอมรับของผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารฉายรังสี
- บทสรุป
- อ้างอิง
- All Pages
บทนำ
การฉายรังสีอาหารได้รับการยอมรับจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ แต่ยังคงมีปริมาณการใช้ไม่มากนัก เนื่องจากปัญหาในการยอมรับของผู้บริโภค กรรมวิธีการฉายรังสีอาหารเป็นการนำประโยชน์ของพลังงานที่เกิดการไอออไนซ์ส่งผ่านไปยังอาหารเพื่อทำลายแบคทีเรียและจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แหล่งของรังสีที่เป็นต้นกำเนิด ได้แก่ รังสีแกมมา รังสีเอ็กซ์ และรังสีอิเล็กตรอน การฉายรังสีอาหารช่วยให้เก็บรักษาอาหารได้นานขึ้น ควบคุมการงอกและชะลอการสุกของผลิตผลทางการเกษตร อาหารที่ผ่านการฉายรังสีจะไม่สูญเสียคุณค่าทั้งด้านโภชนาการและคุณภาพทางประสาทสัมผัส เนื่องจากไม่ผ่านการใช้ ความร้อนและไม่ทำให้คุณสมบัติของอาหารเปลี่ยนแปลง เช่น ผลไม้ที่ผ่านการฉายรังสีจะยังคงมีความชุ่มฉ่ำเหมือนเดิม เนื้อสดและเนื้อแช่แข็งสามารถนำมาฉายรังสีได้โดยไม่จำเป็นต้องทำให้สุกและอาหารที่ผ่านการฉายรังสีจะไม่มีรังสีตกค้างเช่นเดียวกับการฉายเอ็กซเรย์ฟันและกระดูก ปริมาณรังสีที่ใช้ในการฉายรังสีอาหารเกี่ยวข้องกับชนิดของอาหารและประสิทธิภาพในการฉายรังสีอาหาร ซึ่งอาหารที่ผ่านการฉายรังสีแล้ว ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี วันเดือนและปีที่ทำการฉายรังสีด้วย ในประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลอาหารฉายรังสี ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกามีคณะกรรมาธิการอาหารสากล (Codex Alimentarius General Standards for Irradiated Foods) ทำหน้าที่กำกับดูแลการฉายรังสีอาหาร ทั้งนี้ในส่วนของผู้ประกอบการไทยควรมีการส่งเสริมศักยภาพการผลิตอาหารฉายรังสีพร้อมกับผลักดันให้หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญของสหภาพยุโรปให้การรับรองแหล่งผลิตหรือโรงงานฉายรังสีอาหารไปพร้อมกัน เพื่อขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารสู่ตลาดสหภาพยุโรป โดยมีมาตรฐาน CODEX 106-1983 ซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการในปี ค.ศ. 1983 จากสมาชิกองค์การอาหารและเกษตร (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดให้ปริมาณรังสีดูดกลืนสำหรับอาหารฉายรังสีมีได้สูงถึง 10 กิโลเกรย์ และรับรองว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่เป็นพิษ ไม่ก่อปัญหาทั้งด้านโภชนาการและจุลชีววิทยา นอกจากนี้หากผู้บริโภคเข้าใจถึงการฉายรังสีอาหารอย่างถูกต้องแล้ว จะทำให้ผู้บริโภคให้การยอมรับอาหารฉายรังสีมากขึ้น
- Prev
- Next >>