ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

บทสรุป

              ไบโอดีเซลมีคุณสมบัติตามวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ น้ำมันพืช ไขมันสัตว์ และน้ำมันที่ใช้แล้วนิกจากนี้ชนิดของแอลกอฮอล์ที่ใช้ในการทำปฏิกิริยาและเทคโนโลยีในการผลิตก็มีส่วนทำให้ไบโอดีเซลที่ได้มีคุณสมบัติแตกต่างกันด้วยการเกิดปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชันในแต่ละครั้งจะต้องศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณเมทิลเอสเตอร์ที่เกิดขึ้นได้แก่ อัตราส่วนของปริมาณแอลกอฮอล์ต่อปริมาณน้ำมันที่ใช้ ความเร็วของการปั่นกวน อุณหภูมิและเวลาที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา ชนิดและปริมาณของตัวเร่งปฏิกิริยา เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติการเผาไหม้ รวมทั้งการปลดปล่อยก๊าซต่างๆ ของไบโอดีเซล การใช้ไบโอดีเซลมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ มีกำมะถันน้อยและไม่มีสารในกลุ่ม อะโรมาติกส์ที่เป็นสาเหตุของการเกิดควันดำ ส่วนข้อเสียคือ ทำให้เกิดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์มากกว่าการใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการใช้เครื่องยนต์ที่มีระบบหมุนเวียนก๊าซเพื่อลดปริมาณก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ไบโอดีเซลเป็นน้ำมันที่สามารถใช้แทนน้ำมันดีเซลได้ โดยสามารถเติมในเครื่องยนต์ดีเซลได้ตามปกติโดยไม่ต้องมีการดัดแปลงหรือปรับแต่งเครื่องยนต์โดยไบโอดีเซลจะมีจุดวาบไฟ น้ำหนักและความหนาแน่นมากกว่าน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ค่าจุดขุ่นและค่าจุดไหลเท และ CFPP ของไบโอดีเซลจะมีค่าสูงกว่าน้ำมันดีเซล  ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีการนำไบโอดีเซลเข้ามาใช้บ้างแล้วในทางการเกษตร เช่น เติมลงในเครื่องยนต์ดีเซลที่มีรอบการใช้งานต่ำหรือที่เห็นได้ชัดคือ การนำไบโอดีเซลมาเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดีเซลที่ต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ แต่การผลิตไบโอดีเซลในปัจจุบันยังมีราคาแพงอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันปิโตรเลียม รวมทั้งยังไม่สามารถผลิตได้ ในปริมาณที่มาก ทำให้การนำไบโอดีเซลมาใช้ประโยชน์ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาวิธีการและวัตถุดิบเพื่อให้เกิดการผลิตไบโอดีเซลได้มากเพื่อจะได้นำมาทดแทนการใช้น้ำมันดีเซล