ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

บทสรุป 

              การฉายรังสีอาหาร (Food irradiation) เป็นวิธีการหนึ่งของการถนอมอาหารให้เก็บรักษาได้นานขึ้น  รังสีเป็นพลังงานที่มีลักษณะเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถทะลุทะลวงผ่านวัตถุได้สูง แต่ไม่ทำให้วัตถุนั้นเปลี่ยนเป็นสารรังสีและการฉายรังสีอาหารจะใช้ปริมาณรังสีต่ำ จึงไม่มีการตกค้างและสะสมสารรังสีในอาหารดังที่วิตกกังวลกัน  ประโยชน์ที่ได้จากการฉายรังสีอาหารและผลิตผลเกษตร เช่น ฆ่าเชื้อโรค  พยาธิและแมลง  การชะลอการสุกของผลไม้  การยับยั้งการงอกของหอมหัวใหญ่ การชะลอการบานของเห็ด ฯลฯ อาหารบางประเภทนั้นไม่เหมาะที่จะนำมาฉายรังสีเนื่องจากทำให้เกิดกลิ่นและรสชาติ ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ได้แก่ นมและอาหารที่มีไขมันสูง 

              การยอมรับอาหารฉายรังสีของผู้บริโภค (Consumer acceptance of irradiated food) เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาอาหารฉายรังสี แม้ว่าจะมีประโยชน์มากมายเพียงใด ทั้งนี้อาจเนื่องจากความรู้สึกและการรับรู้เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ที่นำไปใช้ในสงครามโลกได้ทำลายล้างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง มีการศึกษาวิจัยเรื่องความปลอดภัยของการบริโภคอาหารฉายรังสีอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้ได้คำตอบสำหรับข้อสงสัยต่างๆ ของผู้บริโภคจนกระทั่งปัจจุบันมีประเทศที่ประกาศยอมรับอาหารฉายรังสีแล้วกว่า 40 ประเทศ  เช่น  สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส แคนาดา จีน ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ ปากีสถาน ฯลฯ ประเทศไทยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ. 2529 ฉบับที่ 103 เรื่องการกำหนดวิธีการผลิตอาหาร ซึ่งมีกรรมวิธีการฉายรังสี ชนิดอาหารที่อนุญาตให้ฉายรังสี โดยระบุชนิดและปริมาณรังสีสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้แตกต่างตามชนิดอาหารและวัตถุประสงค์ แต่ต้องไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ และอาหารฉายรังสีต้องติดฉลากแสดงรายละเอียด เช่น ชื่อและที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของผู้ผลิตและฉายรังสี วัตถุประสงค์การฉายรังสี วัน/เดือน/ปีที่ฉายรังสีและติดเครื่องหมายแสดงอาหารฉายรังสี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงฯ ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสากล (Codex) จึงออกประกาศกระทรวง (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2549 เรื่อง อาหารฉายรังสี แทนฉบับเดิม มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2550 โดยอ้างอิงข้อกำหนดมาตรฐานสากล Codex General Standard for Irradiation Food (CODEX-STAN 106-1983, Rev. 1-2003) และ Recommended International Code of Practice for Radiation Processing of Food (CAC/RCP 19-1979, Rev. 2-2003) ประกาศกระทรวง (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2549 ได้กำหนดคำนิยามต่าง ๆ ชนิดของรังสีที่ใช้ เช่น รังสีแกมมา รังสีเอ็กซ์  รังสีอิเล็กตรอน กำหนดปริมาณรังสีดูดกลืนโดยเน้นที่วัตถุประสงค์ของการฉายรังสี การควบคุมกรรมวิธีการผลิต การฉายรังสีซ้ำ โดยอาหารฉายรังสีต้องแสดงฉลากชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตและผู้ฉายรังสีต้องแสดงข้อความว่า “ผ่านการฉายรังสีแล้ว” ระบุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี แสดงวันเดือนและปีที่ทำการฉายรังสี อาหารฉายรังสีจึงเป็นอาหารที่ต้องควบคุมกรรมวิธีการผลิตอย่างเข้มงวดควบคู่กับการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้บริโภค ตลอดจนการวิจัยพัฒนาเพื่อให้เป็นอาหารที่ปลอดภัยและได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง