อาหารฉายรังสีในสหภาพยุโรปและประเทศไทย
งานวิจัยด้านอาหารฉายรังสีมีความก้าวหน้ามาก ซึ่งมีการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยในปี พ.ศ. 2523 คณะกรรมาธิการด้านอาหารฉายรังสีประกาศว่า อาหารใดที่ผ่านการฉายรังสีปริมาณเฉลี่ยไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ จะไม่ก่อให้เกิดโทษอันตราย ไม่ก่อเกิดปัญหาทางโภชนาการและจุลชีววิทยา ไม่จำเป็นต้องทดสอบเรื่องความปลอดภัยอีกต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ประกาศอนุญาตให้อาหารสดฉายรังสีได้ไม่เกิน 1 กิโลเกรย์ และอาหารแห้งฉายรังสีได้ไม่เกิน 30 กิโลเกรย์ เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชน (ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์ , 2551)
1. กฎหมายอาหารฉายรังสีในประเทศไทย (ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์, 2551) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลอาหารฉายรังสี ได้ออกกฎหมายบังคับใช้กับอาหารฉายรังสี ดังนี้
(1) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2515) เรื่อง “กำหนดอาหารอาบรังสีเป็นอาหารที่ควบคุม” ต่อมามีการออกประกาศเพิ่มอีก 1 ฉบับ คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2516) เรื่อง “กำหนดหอมหัวใหญ่อาบรังสีเป็นอาหารที่ควบคุม กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการผลิตเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่าย และฉลากสำหรับหอมหัวใหญ่อาบรังสี” ประกาศกระทรวงฯ ทั้ง 2 ฉบับ ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหาร พ.ศ. 2507
(2) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีผลให้ยกเลิกประกาศกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารอาบรังสีทั้ง 2 ฉบับ และให้ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 9 และ 10 (พ.ศ. 2522) แทน
(3) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 103 (พ.ศ. 2529) เรื่อง “กำหนดวิธีการผลิตอาหารซึ่งมีการใช้กรรมวิธีการฉายรังสี” ในปี 2529 ประเทศสหรัฐอเมริกาออกประกาศรับรองอนุญาตให้ฉายรังสีอาหารแห้งโดยใช้ความแรงรังสีถึง 30 กิโลเกรย์ เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนได้ นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์และข้อบังคับที่ใช้อยู่เดิมให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลของคณะกรรมาธิการอาหารสากล (Codex Alimentarius General Standards for Irradiated Foods) ตลอดจนข้อแนะนำการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์การฉายรังสีเพื่อใช้กับอาหาร (Recommended Code of Practice for Operation of Radiation Facilities for the Treatment of Food) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 103 (พ.ศ. 2529) นี้ ได้เพิ่มชนิดของอาหารที่อนุญาตให้ฉายรังสีเป็น 18 ชนิด เพิ่มจากเดิมซึ่งมีเพียงหอมหัวใหญ่เท่านั้นหรืออนุญาตให้ฉายรังสีได้ นอกจากนี้ยังให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่คณะกรรมการอาหารและยาพิจารณาเพิ่มชนิดของอาหารที่ต้องการฉายรังสีได้
(4) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงฯ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ทุกส่วนราชการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสากล ประกอบกับประเทศไทยได้ทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ ดังนั้นเพื่อให้ข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 103) พ.ศ. 2529 มีความสอดคล้องกับมาตรฐานอาหารฉายรังสีในระดับสากล (Codex) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงออกประกาศกระทรวง (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2549 เรื่อง อาหารฉายรังสี แทนฉบับเดิม โดยอ้างอิงข้อกำหนดมาตรฐานสากล Codex General Standard for Irradiation Food (CODEX-STAN 106-1983, Rev. 1-2003) และ Recommended International Code of Practice for Radiation Processing of Food (CAC/RCP 19-1979, Rev. 2-2003)
ประกาศกระทรวง (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2549 เรื่อง อาหารฉายรังสี มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2550 โดยมีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้
(1) กำหนดคำนิยามต่าง ๆ เช่น อาหารฉายรังสี การฉายรังสีอาหาร วัตถุประสงค์ของการฉายรังสีและผู้ฉายรังสีอาหาร
(2) ชนิดของรังสีที่ใช้ ต้องได้จากแหล่งกำเนิดรังสี ดังต่อไปนี้
ก. รังสีแกมมา ได้จากเครื่องฉายรังสีที่มีโคบอลต์-60 หรือซีเซียม-137
ข. รังสีเอ็กซ์ ได้จากเครื่องผลิตรังสีเอ็กซ์ทำงานที่ระดับพลังงานต่ำกว่าหรือเท่ากับ 5 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์
ค. รังสีอิเล็กตรอน ได้จากเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนที่ทำงานด้วยระดับพลังงานที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 10 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์
(3) กำหนดปริมาณรังสีดูดกลืนต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการฉายรังสีตามแต่กรณี และต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนดในเอกสารแนบท้ายประกาศ จะเห็นได้ว่าประกาศฉบับนี้ไม่กำหนดชนิดของอาหารที่อนุญาตให้ฉายรังสี แต่เน้นที่วัตถุประสงค์ของการฉายรังสี
(4) การควบคุมกรรมวิธีการผลิต กำหนดให้การฉายรังสีอาหารต้องดำเนินการในสถานที่และใช้เครื่องมือที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุคลากรที่ดำเนินการต้องผ่านการฝึกอบรมการใช้เครื่องฉายรังสีมาแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับการฉายรังสีและปริมาณรังสีดูดกลืนของอาหารต้องมีระบบควบคุมข้อมูลและเก็บไว้อย่างน้อย 3 ปี และพร้อมให้ตรวจสอบได้
(5) อาหารที่ผ่านการฉายรังสีมาแล้วจะนำมาฉายรังสีซ้ำอีกไม่ได้ ยกเว้นอาหารที่มีความชื้นต่ำ เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง อาหารแห้ง และอาหารอื่นในทำนองเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดแมลงที่เข้าไปภายหลังจากที่ได้มีการฉายรังสีแล้ว ทั้งนี้ปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุดต้องไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ ยกเว้นมีความจำเป็นหรือมีเหตุผลทางวิชาการ หากปริมาณรังสีดูดกลืนเกินกว่าที่กล่าวมา จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
(6) อาหารที่ได้รับการฉายรังสีในกรณีต่อไปนี้ ไม่ถือว่าเป็นการฉายรังสีซ้ำ ได้แก่
(6.1) อาหารที่เตรียมจากวัตถุดิบซึ่งได้รับการฉายรังสีในระดับต่ำมาแล้ว เช่น เพื่อควบคุมการแพร่ พันธุ์ของแมลง เพื่อป้องกันการงอกของรากและพืชหัว แล้วนำมาฉายรังสีซ้ำเพื่อวัตถุประสงค์อื่น
(6.2) อาหารที่มีส่วนประกอบผ่านการฉายรังสีแล้ว น้อยกว่าร้อยละ 5 ถูกนำมาฉายรังสีซ้ำอีก
(6.3) อาหารที่ไม่สามารถฉายรังสีให้ได้รับปริมาณรังสีตามกำหนดในครั้งเดียว เพื่อให้ได้วัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ
(7) ห้ามนำวิธีการฉายรังสีมาใช้ทดแทนหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (good manufacturing practices) หรือหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีทางการเกษตร (good agricultural practices)
(8) อาหารฉายรังสีต้องแสดงฉลาก นอกจากต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง ฉลากแล้ว ยังต้องแสดงรายละเอียดเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
(8.1) ที่ตั้ชื่อและงของสำนักงานใหญ่ของผู้ผลิตและผู้ฉายรังสี
(8.2) ต้องแสดงข้อความว่า “ผ่านการฉายรังสีแล้ว” หรือข้อความที่สื่อความหมายในทำนองเดียวกัน
(8.3) ระบุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี ด้วยข้อความ “เพื่อ.............” (ความที่เว้นไว้ให้ระบุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี) เช่น “เพื่อทำลายและยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแมลง”
(8.4) จะแสดงเครื่องหมายการฉายรังสีหรือไม่ก็ได้ แต่หากต้องการแสดงต้องใช้เครื่องหมายตามที่กำหนดในเอกสารท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข
(8.5) แสดงวันเดือนและปีที่ทำการฉายรังสี
(9) ส่วนประกอบในอาหารที่ผ่านการฉายรังสี ต้องแสดงข้อความ “ผ่านการฉายรังสีแล้ว” หรือข้อความที่สื่อความหมายในทำนองเดียวกันกำกับชื่อส่วนประกอบของอาหารนั้น
(10) กรณีที่ส่วนประกอบของอาหารเพียงอย่างเดียวที่ได้มาจากวัตถุดิบที่ผ่านการฉายรังสี ต้องแสดงข้อความ “ผ่านการฉายรังสีแล้ว” หรือข้อความที่สื่อความหมายในทำนองเดียวกันกำกับชื่อส่วนประกอบของอาหารนั้นด้วย
2. กฎหมายของอาหารฉายรังสีในสหภาพยุโรป (อรอนงค์ มหัคฆพงศ์, 2551) ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการฉายรังสีโดยไม่ติดฉลากแจ้งให้ผู้บริโภคทราบ และการใช้ปริมาณรังสีไม่เป็นไปตามกำหนดอาจถูกปฏิเสธการนำเข้าจากประเทศในสหภาพยุโรป ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและป้องกันการเกิดปัญหา ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อม และติดตามสถานการณ์เพื่อให้สินค้าผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งไปจำหน่ายไม่เกิดปัญหาและเสียหายต่อภาคการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย
อาหารฉายรังสีจะได้รับอนุญาตให้นำเข้าและจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรปจนกว่าจะมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขภายใต้ Directive 1999/2/EC และ Directive 1999/3/EC ได้แก่ ต้องมีฉลากกำกับอาหารฉายรังสี มีเอกสารรับรองโดยระบุชื่อ สถานที่ตั้ง และจัดเก็บบันทึกข้อมูลการใช้รังสีเป็นเวลา 5 ปี และสถานที่ฉายรังสีต้องได้รับการตรวจสอบรับรองและขึ้นบัญชีจากผู้เชี่ยวชาญของอียู โดยผู้ประสงค์ส่งออกสินค้าเพื่อจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรปสามารถแจ้งและยื่นเอกสารข้อมูลให้ Directorate-General of Health and Consumer Protection (DG-SANCO) พิจารณาโดยคณะกรรมาธิการยุโรป หลังจากนั้นคณะเจ้าหน้าที่หน่วยงาน Food and Veterinary Office (FVO) จะมาตรวจสอบรับรองและอนุญาต ผู้ประกอบการไทยควรได้รับการส่งเสริมศักยภาพการผลิตอาหารฉายรังสีพร้อมกับผลักดันให้หน่วย งานผู้เชี่ยวชาญของสหภาพยุโรปให้การรับรองแหล่งผลิตหรือโรงงานฉายรังสีอาหาร ซึ่งจะเป็นช่องทางขยายโอกาสการส่งออกสินค้าอาหารสู่ตลาดสหภาพยุโรปได้มากขึ้นและยังช่วยลดปริมาณการกักกันสินค้าอาหารของไทย
ระเบียบเกี่ยวกับอาหารฉายรังสีในสหภาพยุโรป ได้แก่
(1) Directive 1999/2/EC เป็นกฎหมายของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เรื่อง อาหารและส่วนผสมอาหารที่ผ่านการฉายรังสี ซึ่งระบุขั้นตอนของกรรมวิธีฉายรังสี การติดฉลากและเงื่อนไขในการอนุญาตให้ฉายรังสีอาหาร โดยอนุญาตให้ฉายรังสีได้เมื่อมีความจำเป็น ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และไม่ใช้การฉายรังสีแทนหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการรักษาสุขอนามัยในการผลิต (Hygiene and health practices for good manufacturing) อาหารที่ผ่านการฉายรังสีกำหนดให้ต้องติดฉลากแสดงข้อความ “Irradiated” หรือ “Treated with ionizing radiation” หากเป็นอาหารที่ไม่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ต้องติดป้ายหรือระบุบนเมนูให้ผู้บริโภคทราบว่าเป็นอาหารฉายรังสี เช่น ในร้านอาหาร นอกจากนั้นยังต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร (SCF : Scientific Committee for Food of EU) หากต้องการเพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ที่อนุญาตให้ฉายรังสีได้
(2) Directive 1999/3/EC เป็นกฎหมายที่ระบุรายการอาหารที่อนุญาตให้ฉายรังสีได้ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงชนิดเดียว คือ เครื่องเทศ (Dried aromatic herbs, spices and vegetable seasonings) ปัจจุบันสหภาพยุโรปอนุโลมให้ประเทศสมาชิก ออกกฎหมายภายในประเทศอนุญาตให้ฉายรังสีอาหารบางประเภทได้ เช่น มันฝรั่ง กระเทียม มันเทศ แป้งข้าวเจ้า เนื้อสัตว์ปีก กุ้ง ปลา ขากบแช่แข็ง ผักและผลไม้อบแห้ง