- อาหารฉายรังสี
- ความหมายของอาหารฉายรังสีและวัตถุประสงค์ในการฉายรังสี
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีการฉายรังสีอาหาร หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
- อาหารฉายรังสีในสหภาพยุโรปและประเทศไทย
- มาตรฐานของ CODEX 106-1983 (CODEX, 2008)
- ความปลอดภัยของอาหารฉายรังสี
- ผลของการฉายรังสีต่อเชื้อโรคในอาหารและบรรจุภัณฑ์แบบต่าง ๆ
- การยอมรับของผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารฉายรังสี
- บทสรุป
- อ้างอิง
- All Pages
Page 5 of 10
มาตรฐานของ CODEX 106-1983 (CODEX, 2008)
มาตรฐานของ CODEX 106-1983 ปรับปรุงจากมาตรฐาน CAC/RS 106-1979 โดยได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการ ในปี ค.ศ. 1983 ด้วยการยอมรับจากสมาชิกขององค์การอาหารและเกษตร (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ต้องวัดและคำนวณปริมาณรังสีดูดกลืนให้เป็นไปตาม Recommended International Code of Practice for the Operation of Radiation Facilities Used for Treatment of Foods กำหนดให้ปริมาณรังสีดูดกลืนสำหรับอาหารฉายรังสีสูงถึง 10 กิโลเกรย์ ปริมาณรังสีดังกล่าวได้รับการรับรองว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่เป็นพิษ ไม่ก่อปัญหาทั้งด้านโภชนาการและจุลชีววิทยา
สาระสำคัญของมาตรฐาน CODEX 106-1983 มีดังนี้
1. ขอบข่ายของมาตรฐานการฉายรังสีอาหาร (Scope)
2. ข้อปฏิบัติทั่วไปสำหรับการฉายรังสีอาหาร ได้แก่ แหล่งกำเนิดรังสีที่ใช้ (Radiation sources) ปริมาณรังสีดูดกลืน (Absorbed dose) เครื่องมือและอุปกรณ์การฉายรังสีต้องมีการควบคุมกำกับดูแลโดยหน่วยงานระดับชาติ ทั้งนี้เพื่อไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เจ้าหน้าที่ดำเนินการต้องผ่านการฝึกอบรมการใช้เครื่องฉายรังสีมาแล้ว มีระบบควบคุมข้อมูลพร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ การควบคุมเป็นไปตามกฎระเบียบด้านการปฏิบัติงานเกี่ยวกับอุปกรณ์และเครื่องมือทางรังสีสำหรับประกอบอาหารของ Recommended International Code of Practice for the Operation of Radiation Facilities Used for the Treatment of Foods (CAC/RCP 19-1979, Rev. 1-1983)
3. ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับสุขอนามัยของอาหารฉายรังสี ต้องเป็นไปตามกฎระเบียบด้านสุขอนามัยทางอาหาร Recommended International Code of Practice-General Principles of Food Hygiene (Ref. No.: CAC/RCP 1-1969, Rev. 2-1985) ดูแลโดยหน่วยงานสาธารณสุขให้สินค้าที่วางจำหน่ายมีความปลอดภัยทางด้านจุลชีววิทยาและเหมาะสมทางด้านโภชนาการ
4. ควบคุมให้เป็นไปตามหลักทางวิชาการด้านการฉายรังสีอาหารโดยไม่นำวิธีการฉายรังสีมาใช้แทนหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good manufacturing practices) และปริมาณรังสีต้องเหมาะสมกับอาหารที่จะนำมาฉายรังสีรวมทั้งบรรจุภัณฑ์ต้องมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับได้ทางด้านสุขอนามัย
5. การฉายรังสีซ้ำกระทำได้สำหรับอาหารที่มีความชื้นต่ำ เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทธัญพืช พืชหัว อาหารแห้ง และอาหารอื่นในทำนองเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมแมลง อาหารที่ยกเว้นไม่เป็นการฉายรังสีซ้ำ ได้แก่ อาหารที่เตรียมจากวัตถุดิบซึ่งได้รับการฉายรังสีในระดับต่ำประมาณ 1 กิโลเกรย์ แล้วนำมาฉายรังสีซ้ำเพื่อวัตถุประสงค์อื่น, อาหารที่มีส่วนประกอบน้อยกว่าร้อยละ 5 ถูกนำมาฉายรังสีซ้ำอีก และอาหารที่จำเป็นต้องฉายรังสีซ้ำเกินกว่าหนึ่งครั้งเพื่อให้ได้รับปริมาณรังสีตามกำหนดตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ แต่ปริมาณรังสีดูดกลืนรวมต้องไม่เกิน 10 กิโลเกรย์
6. อาหารฉายรังสีต้องแสดงฉลากทั้งอาหารอยู่ในบรรจุภัณฑ์หรือไม่ก็ตาม และต้องแสดงรายละเอียดที่เหมาะสมด้วยการระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตและผู้ฉายรังสี วันที่และหมายเลขบรรจุภัณฑ์ การแสดงฉลากของอาหารฉายรังสีก่อนบรรจุควรปฏิบัติตามมาตรฐานของ Codex การสำแดงการกำกับอาหารฉายรังสีควรจะแสดงเอกสารตามระเบียบการขนส่งสินค้า