- อาหารฉายรังสี
- ความหมายของอาหารฉายรังสีและวัตถุประสงค์ในการฉายรังสี
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีการฉายรังสีอาหาร หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
- อาหารฉายรังสีในสหภาพยุโรปและประเทศไทย
- มาตรฐานของ CODEX 106-1983 (CODEX, 2008)
- ความปลอดภัยของอาหารฉายรังสี
- ผลของการฉายรังสีต่อเชื้อโรคในอาหารและบรรจุภัณฑ์แบบต่าง ๆ
- การยอมรับของผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารฉายรังสี
- บทสรุป
- อ้างอิง
- All Pages
การยอมรับของผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารฉายรังสี
มักมีคำถามเกี่ยวกับการยอมรับของผู้บริโภคอาหารฉายรังสี โดยสถาบันการตลาดที่เกี่ยวกับอาหารได้ทำการสำรวจการยอมรับการบริโภคอาหารฉายรังสีผ่านทางเวบไซต์ชื่อ Foodborne Diseases Active Surveillance Network (Foodnet) ผลสำรวจที่ได้รับจากประชาชนร้อยละ 50 ตอบรับว่า พร้อมที่จะซื้ออาหารฉายรังสี ถ้ามีการเชิญชวน และจะมีการตอบรับเพิ่มมากขึ้นถ้าราคาของอาหารฉายรังสีไม่แพงมากเกินไปกว่าอาหารที่ไม่ผ่านการฉายรังสี อัตราการยอมรับจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 80-90 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากผู้บริโภคเข้าใจถึงการฉายรังสีมีผลให้ช่วยลดอันตรายจากเชื้อแบคทีเรียลงได้ ในปี ค.ศ. 2000 หน่วยงานภาครัฐในสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้โรงงานอาหารทำการฉายรังสีเนื้อสดและผลิตภัณฑ์เนื้อเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและจัดจำหน่ายในตลาดหลายแห่ง ทั้งนี้หากผู้บริโภคให้การยอมรับอาหารฉายรังสีย่อมมีผลดีต่อด้านการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจากการเกิดโรคต่าง ๆ มาจากผู้บริโภคสัมผัสหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อย่างไรก็ตาม บางโรงงานที่ผลิตอาหารยังชะลอการใช้วิธีการฉายรังสีเนื่องจากเข้าใจว่ามีจำนวนผู้บริโภคไม่มากนักที่ตั้งใจซื้ออาหารฉายรังสี (Frenzen, PD., et al., 2008) จากผลการสำรวจดังกล่าวของ Foodnet ที่พบว่าเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่สำรวจยินดีที่จะซื้อเนื้อวัวบดหรือเนื้อไก่ที่ผ่านการฉายรังสี และมีเพียงหนึ่งในสี่ที่มีความตั้งใจที่จะจ่ายชำระด้วยความยินดีสำหรับอาหารเหล่านี้ แม้ว่าราคาจะสูงกว่าชนิดที่ไม่ผ่านการฉายรังสีก็ตาม การสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบของอาหารฉายรังสีต่อด้านการสาธารณสุขมีข้อจำกัด นอกจากว่าความนิยมของผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการให้ความรู้และข่าวสารเกี่ยวกับความปลอดภัยและคุณประโยชน์ของอาหารฉายรังสีแล้ว เหตุผลสำคัญที่ผู้บริโภคไม่ต้องการซื้อเนื้อวัวหรือเนื้อไก่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของการสำรวจ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยง ความปลอดภัย หรือ คุณประโยชน์ของอาหารฉายรังสีมีไม่เพียงพอต่อการรับประทานอาหารฉายรังสีนั่นเอง (Frenzen, PD., et al., 2008)
การสำรวจเกี่ยวกับการซื้อผลิตผลทางการเกษตรของผู้บริโภค ผลิตผลแอปเปิ้ลที่ผ่านการฉายรังสีและไม่ฉายรังสี โดยการบริโภคแอปเปิ้ลและกำหนดราคาให้แอปเปิ้ลที่ผ่านการฉายรังสีมีราคาเปลี่ยนแปลงได้ แต่แอปเปิ้ลที่ไม่ฉายรังสีมีราคาปกติ พบว่า ผู้บริโภคที่ซื้อแอปเปิ้ลไม่ฉายรังสี ซื้อแอปเปิ้ลฉายรังสีและซื้อแอปเปิ้ลทั้งสองชนิดเท่ากับ 44%, 38% และ 18% ตามลำดับ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างราคาและการตัดสินใจซื้อสินค้ามีความแปรปรวนเกี่ยวเนื่องกับราคาที่ขึ้นลง ผู้บริโภคจะเปลี่ยนใจซื้อสินค้าชนิดที่มีราคาถูกกว่า มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพแอปเปิ้ลหลังจากการซื้อพบว่า ประมาณหนึ่งในสามตอบรับว่าคุณภาพของแอปเปิ้ลฉายรังสีมีคุณภาพดีกว่าและมีผู้บริโภคเพียง 7.7 เปอร์เซ็นต์ ที่ตอบว่าแอปเปิ้ลฉายรังสีมีคุณภาพด้อยกว่าแอปเปิ้ลไม่ฉายรังสีและพบความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของสีและสิ่งที่เห็นภายนอก สำหรับความสดและความแน่นของเนื้อแอปเปิ้ลมีความใกล้เคียงกัน ประมาณหนึ่งในสี่คิดว่าชอบแอปเปิ้ลฉายรังสีมากกว่า การนำเทคนิคฉายรังสีเพื่อทดแทนการใช้สารเคมีซึ่งถูกห้ามใช้แล้วนั้นเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภคในการตัดสินใจยอมรับโดยต้องเพิ่มความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของเทคนิคการฉายรังสีเพื่อถนอมอาหารให้แก่ผู้บริโภคได้เลือกซื้อมากขึ้น (Terry, DE., and Tabor, RL., 1990)
ผลการทดลองเพื่อประเมินผลการยอมรับของผู้บริโภคโดยใช้รังสีแกมมาเพื่อถนอมอาหารเนื้อบดแช่แข็งบรรจุในหีบห่อสุญญากาศ ด้วยการใช้ปริมาณรังสี 3.0 และ 4.5 กิโลเกรย์ หลังจากฉายรังสีแล้วนำมาเก็บที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 27-29 วัน แล้วนำมาย่างเพื่อประเมินกลิ่น รสชาติ ความนุ่ม ความชุ่มฉ่ำ ของเนื้อ ผลการทดลองพบว่า ไม่พบความแตกต่างของรสชาติ ความนุ่ม และความชุ่มฉ่ำระหว่างเนื้อบดฉายรังสีปริมาณ 3.0 และ 4.5 กิโลเกรย์ แต่หลังจากนำเนื้อบดผสมกับส่วนผสมอื่นเพื่อทำแฮมเบอเกอร์พบว่า ผู้บริโภคให้คะแนนเนื้อบดฉายรังสีปริมาณ 3.0 กิโลเกรย์ไม่แตกต่างจากเนื้อที่ไม่ผ่านการฉายรังสี แต่เนื้อบดฉายรังสีที่ปริมาณ 4.5 กิโลเกรย์ มีคุณภาพด้อยกว่าเล็กน้อย (Wheeler, TL., Shackelford, SD., and Koohmaraie, M., 1999)