บทนำ
สิ่งมีชีวิตประกอบด้วยเซลล์ แต่ละเซลล์มีนิวเคลียส ในนิวเคลียสมีโครโมโซมที่ประกอบด้วยดีเอ็นเอ (DNA) ดีเอ็นเอเป็นหน่วยถ่ายทอดพันธุกรรมที่มีรหัสเฉพาะของโปรตีน เอนไซม์และสารชีวเคมีอื่นๆ ที่มีหน้าที่ต่างๆ ในสิ่งมีชีวิต สมัยก่อนการปรับปรุงพันธุ์พืชใช้วิธีคัดสรรตามธรรมชาติโดยนักปรับปรุงพันธุ์จะคัดเลือกพืชที่มีลักษณะที่ต้องการ เช่น ให้ผลผลิตสูงนำมาผสมเกสรกับพืชที่มีลักษณะที่เด่นที่ต้องการ เช่น ทนต่อโรค พืชลูกผสมที่ได้จะถูกคัดเลือกอีกหลายชั่วรุ่น (Generations) เพื่อให้ได้ลักษณะสองอย่างตามที่ต้องการ ซึ่งต้องใช้เวลาตรงกันข้ามกับปัจจุบันที่ใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมในการพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยการเลือกดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะตามที่ต้องการ นำมาต่อเชื่อมกับส่วนอื่นของดีเอ็นเอแล้วนำกลับเข้าไปใส่ในพืช หรือโดยการยิงอนุภาคของทองหรือทังสเตนที่เคลือบด้วยดีเอ็นเอที่ต้องการเข้าไปในพืช เซลล์จะซ่อมแซมตัวเอง เกิดดีเอ็นเอใหม่ในจีโนม (Genome) พืช ซึ่งการยิงดีเอ็นเอเข้าไปนี้ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ ดังนั้นบางครั้งอาจมีผลต่อลักษณะแสดงออกของยีน หรืออาจมีการผลิตสารพิษหรือสารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ หรือให้ลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ได้ นอกจากนี้ดีเอ็นเอที่ใส่เข้าไปอาจมาจากพืชที่ไม่ได้เป็นอาหาร แบคทีเรีย สัตว์ หรือไวรัส เพื่อให้ได้พืชที่มีความต้านทานต่อศัตรูพืช โรค ยากำจัดวัชพืช รวมทั้งลักษณะด้านคุณภาพ เช่น รส กลิ่น สีและคุณค่าทางอาหาร ตัวอย่าง เช่น ฝ้ายบีที ที่มีความต้านทานต่อหนอนเจาะสมอฝ้ายเช่นเดียวกับข้าวโพดบีทีต้านทานต่อหนอนเจาะฝัก ข้าวทองที่เพิ่มสารเบต้าแคโรทีน
จีเอ็มโอ (Genetically Modified Organism หรือ GMOs) หมายถึง พืชหรือสัตว์ที่มีการดัดแปรยีนหรือสารพันธุกรรม ปัจจุบันเทคโนโลยีการดัดแปรยีนหรือสารพันธุกรรมมีความก้าวหน้าและมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอย่างมาก พืชดัดแปรพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็มหลายชนิดมีวางจำหน่ายตามท้องตลาดในประเทศที่พัฒนา เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง มันฝรั่ง มะเขือเทศ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากพืชจีเอ็ม เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ แป้งขนมปัง เป็นต้น ซึ่งความปลอดภัยของอาหารที่มาจากพืชดัดแปรพันธุกรรมหรืออาหารจีเอ็มเป็นหัวข้อหลักในเรื่องพันธุวิศวกรรม ดังนั้นจึงต้องมีการทดสอบและประเมินความปลอดภัยก่อนวางจำหน่ายในท้องตลาด
อาหารที่มาจากพืชดัดแปรพันธุกรรมจึงมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ที่ต่อต้าน โดยผู้สนับสนุนได้โต้แย้งว่าพืชดัดแปรพันธุกรรมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเด่นชัด แต่ยังคงแสดงลักษณะอื่นๆ เหมือนที่เคยเป็น ดังนั้นพืชดัดแปรพันธุกรรมยังคงลักษณะทุกอย่างเทียบเท่า (Substantially equivalent) พืชต้นพ่อแม่และไม่มีความจำเป็นต้องทดสอบความปลอดภัย ผู้โต้แย้งกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสมมุติฐานที่ไม่มีการทดสอบ ด้วยเทคโนโลยี ใหม่นี้ อาจมีผลที่ไม่รู้หรือไม่ได้ตั้งใจเกิดขึ้นตามมา จึงต้องให้ความระมัดระวัง ต้องมีการทดสอบความปลอดภัยของอาหารที่มาจากพืชดัดแปรพันธุกรรมก่อนที่จะไปให้คนเป็นล้านๆ คนบริโภค (Carman, J., 2004) และหากการค้นคว้ามีการจดลิขสิทธิ์ ก็จะมีความเสี่ยงว่ามันแพงเกินไปสำหรับเกษตรกรที่ยากจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา ด้านเอกชนที่ลงทุนมักมองถึงการลงทุนในตลาดสำหรับคนร่ำรวยและให้ความสนใจต่อประเทศยากจนน้อย ทำให้การผลิตอยู่ในมือของบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งอาจมีผลรบกวนต่อปัญหาความมั่นคงของอาหารโลก
พืชที่มีการถ่ายโอนยีนเริ่มจากนักวิจัย 4 กลุ่มที่ทำการวิจัยเป็นอิสระต่อกัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมาได้แก่ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองเซ็นต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา, Rijksuniversiteit ที่เมือง Ghent ประเทศเบลเยี่ยม มหาวิทยาลัยวิสคอนซินและบริษัทมอนซานโต้ เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี การค้นพบนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ และในปี ค.ศ. 1994 อาหารดัดแปลงพันธุกรรมได้เข้าสู่การตลาดของประเทศสหรัฐอเมริกาคือ มะเขือเทศที่ใช้เทคโนโลยีด้านพันธุวิศวกรรมและสามารถเก็บรักษาให้สุกช้าลงภายใต้ชื่อ The Flavr Savr
เป็นที่คาดกันว่าในปี ค.ศ. 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าดังนั้นการผลิตอาหารก็จะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่าเพื่อให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกยังคงมีเท่าเดิมจึงต้องหาวิธีเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น การใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปรับปรุงวิธีการควบคุมศัตรูพืช ดินและน้ำ ตลอดจนการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยวิธีดั้งเดิมหรือวิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่มีการถ่ายโอนยีนหรือพืชจำแลงพันธุ์เป็นแนวทางที่คาดหวังว่าจะให้ผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้นเมื่อมีการผสมผสานกับวิธีดั้งเดิมอย่างเหมาะสม ได้มีการแสดงให้เห็นว่าพืชที่มีการถ่ายโอนยีนมีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต ในปี ค.ศ. 1996 และ 1997 พืชที่มีการดัดแปรให้ต้านทานต่อไวรัส แมลง และยากำจัดวัชพืช ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 5-10 % ประหยัดยากำจัดวัชพืชถึง 40 % (Herrera-Estrella, LR., 2000) ประเทศที่กำลังพัฒนาในเขตร้อนและใกล้เขตร้อนของโลก พืชได้รับความเสียหายจากศัตรูพืช โรคและดินที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้เนื่องจากภูมิอากาศในแถบนี้เป็นที่ชอบของพาหะของแมลงและโรค รวมทั้งขาดปัจจัยการผลิตที่ดี ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง และปุ๋ย จึงทำให้ได้ผลผลิตต่ำ ผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวก็มีความเสียหายสูงเนื่องจากอากาศเขตร้อนเหมาะสมสำหรับเชื้อราและแมลง การเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม ปัญหาเหล่านี้สามารถทำให้ลดน้อยลงได้โดยเทคโนโลยีชีวภาพ ข้อดีของการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในพืชก็คือ สามารถใช้วิธีการปรับปรุงพืชหนึ่งไปประยุกต์ใช้กับพืชอื่นได้ พันธุวิศวกรรมด้านต้านทานไวรัส ต้านทานแมลงและยืดอายุการสุก เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่สามารถนำไปใช้กับพืชได้หลากหลาย ข้อดีที่สองคือ ไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงมากในการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรรายย่อย ปัจจุบันการพัฒนาส่วนใหญ่ของเทคโนโลยี ถ่ายโอนยีนพืชและยุทธศาสตร์ในการปรับปรุงผลิตพันธุ์พืชถูกผลักดันโดยคุณค่าทางเศรษฐกิจของชนิดหรือลักษณะพืช
ปัจจุบันมีพืชที่ดัดแปรพันธุกรรมมากกว่าหนึ่งครั้งที่เรียกว่า “จีเอ็มสแทค” (GM stacked event) เพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการมากกว่า 1 อย่างในพืชนั้น เช่น การผสมข้ามสายพันธุ์ของพืชจีเอ็มด้วยกันเพื่อให้มีความต้านทานต่อแมลงและทนต่อยากำจัดวัชพืช ในข้าวโพด ฝ้ายและถั่วเหลือง มีการประเมินความเสี่ยงไม่มากเท่าการประเมินพ่อแม่พันธุ์ที่เป็นพืชจีเอ็มที่มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเทียบเท่าพืชต้นแบบทั่วไป ในกรณีพืชจีเอ็มลูกผสม หมายถึง ลูกผสมระหว่างลักษณะพันธุ์พ่อแม่ที่เป็นจีเอ็มกับสายพันธุ์ที่ไม่ได้เป็นจีเอ็ม มีการคัดด้านต่อการประเมินว่าหากพืชลูกผสมที่ไม่ใช่จีเอ็มไม่ต้องมีความทดสอบความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพคนและสัตว์แล้ว ทำไมถึงต้องมีการทดสอบความเสี่ยงของพืชลูกผสมจีเอ็มที่เกิดจากสายพันธุ์พ่อแม่ที่ได้ทดสอบความปลอดภัยแล้วและก็ยังไม่แน่ชัดว่าพืชลูกผสมระหว่างพืชจีเอ็มสองสายพันธุ์พืชจะให้พืชจีเอ็มใหม่ขึ้นมาซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นก็ควรจะมีการประเมินความเสี่ยง อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการยุโรป ( European Commission) พิจารณาว่าหากมีการดัดแปรพันธุกรรมซ้ำ (GM stacked event) ถือว่าเป็นพืช/สัตว์ดัดแปรพันธุกรรมชนิดใหม่ ต้องมีการให้ข้อมูลด้านประเมินความเสี่ยงโดยมีข้อมูลของสายพันธุ์พ่อแม่จีเอ็มร่วมด้วย ซึ่งในอนาคตจะมีการรวมลักษณะเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีคุณค่าด้านต่างๆ เช่น การต้านทานแมลง ทนต่อยากำจัดวัชพืชและลักษณะทางคุณภาพ รูปแบบของการทดสอบความปลอดภัยและวิธีการต้องสามารถประเมินความเทียบเท่าทางโมเลกุลระหว่างการรวมหลายลักษณะและลักษณะเดียวของพืชจีเอ็มได้ (Schrijver, AD., et al., 2007; Sesikeran, B. and Vasanthi, S., 2008)
การประเมินความปลอดภัยอาหารที่มาจากพืชจีเอ็มโดย OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) หัวข้อการประเมินประกอบด้วย
อาหารทุกอย่างรวมทั้งที่มาจากพืชจีเอ็มมีความเสี่ยงโดยธรรมชาติต่อสุขภาพ เนื่องจากสามารถทำให้เกิดภูมิแพ้ หรือเป็นพิษหรือขัดขวางการดูดซึมสารอาหาร ไม่สามารถรับประกันได้ว่าอาหารทั่วไปจะไม่มีความเสี่ยงเลย แม้ว่าอาหารจากพืชจีเอ็มบางชนิดประกอบด้วยสารก่อภูมิแพ้ สารพิษและสารต้านการดูดซึมสารอาหาร แต่ระดับของสารเหล่านี้ก็เทียบเท่ากับที่พบในพืชที่ไม่ได้ดัดแปรพันธุกรรม อาหารจีเอ็มจะถูกทดสอบตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ โดยเริ่มจากแหล่งของยีนดัดแปร ตรวจสอบอาหารจีเอ็มเช่นเดียวกับอาหารที่มาจากพืชพันธุ์ที่รู้สารก่อภูมิแพ้ สารพิษและสารต้านโภชนาการหรือสารต้านการดูดซึมสารอาหาร อาจรวมทั้งทดสอบความปลอดภัยของโปรตีนดัดแปรจากอาหารจีเอ็มในระบบย่อยอาหาร ในแต่ละขั้นตอนเปรียบเทียบระดับความเสี่ยงที่พบในอาหารจากพืชปรกติ ถ้าอยู่ในระดับเดียวกันก็ถือว่าอาหารจีเอ็มนั้นปลอดภัยเช่นเดียวกับอาหารทั่วไป
สารต้านโภชนาการ (Antinutrition) เป็นสารประกอบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ไปรบกวนการดูดซึมสารอาหารที่สำคัญในระบบย่อยอาหาร เช่นเดียวกันหากอาหารจีเอ็มมีสารต้านการดูดซึมอาหารต้องแน่ใจว่าไม่เกินระดับของที่มีในอาหารดั้งเดิม ถ้าระดับใกล้เคียงกันก็จะถือว่ามีความปลอดภัยเช่นเดียวกับของเดิม เช่น ในปี ค.ศ. 1995 บริษัทได้ยื่นประเมินความปลอดภัยของน้ำมันคาโนลาซึ่งได้มีการดัดแปลงองค์ประกอบของกรดไขมันในน้ำมัน บริษัทได้เปรียบเทียบองค์ประกอบสารต้านการดูดซึมสารอาหารของผลิตภัณฑ์กับน้ำมันคาโนลาต้นแบบที่ไม่ได้ดัดแปร และพบว่าน้ำมันคาโนลาที่ดัดแปรมีปริมาณสารดังกล่าวไม่เกินระดับที่มีในของต้นแบบ และเพื่อให้มั่นใจว่าอาหารจีเอ็มไม่ได้ลดคุณค่าทางโภชนาการ จึงได้วัดองค์ประกอบทางโภชนาการของอาหารจีเอ็มด้วย และมักรวมถึงการวัดกรดอะมิโน น้ำมัน กรดไขมันและวิตามิน ในหลายประเทศยอมรับและให้มีจำหน่ายอาหารดัดแปรพันธุกรรมพืชหรืออาหารจีเอ็มที่ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยใต้กรอบการประเมินความปลอดภัยขององค์กรระหว่างประเทศ
การยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่ออาหารและพืชดัดแปรพันธุกรรม
ประเทศต่างๆ ที่ยอมรับเทคโนโลยีนี้ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความระมัดระวังเรื่องนโยบาย ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ความสามารถที่จะประเมินความเสี่ยง การออกกฎหมายควบคุม ประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยีนี้ ผลต่อการส่งสินค้าออก พื้นที่บนโลกที่ปลูกพืชจีเอ็มเพิ่มขึ้น 47 เท่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 และในปีค.ศ. 2004 มีพื้นที่ปลูก 81 ล้านเฮกแตร์โดยเกษตรกร 8.25 ล้านใน 17 ประเทศ (Zarrilli, S., 2005) พืชจีเอ็มที่ปลูกมากที่สุดคือ ถั่วเหลืองทนยาฆ่าแมลง รองลงมาคือ ข้าวโพดบีที ฝ้ายบีที ที่ต้านทานแมลงและคาโนลาทนต่อยาฆ่าแมลง แปดประเทศที่เป็นผู้นำการปลูกพืชจีเอ็มคือ สหรัฐอเมริกา (59%) อาร์เจนตินา (20%) แคนนาดาและบราซิล ( ประเทศ ละ 6%) จีน (5%) ปารากวัย (2%) อินเดีย (1%) และแอฟริกาใต้ (1%) นอกจากนี้ยังมีปลูกในประเทศอุรุกวัย ออสเตรเลีย โรมาเนีย เม็กซิโก สเปน ฟิลิปปินส์ ฮอนดูรัส โคลัมเบียและเยอรมันนี ในปี ค.ศ. 2004 พืชจีเอ็มที่ปลูกมาก ได้แก่ ถั่วเหลือง (56%) ฝ้าย ( 28%) คาโนลา (19%) และข้าวโพด (14%) และสินค้าพืชจีเอ็มทั่วโลกมีมูลค่าถึง 4.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2004 เช่นกัน
การนำพืชและอาหารจีเอ็มเข้ามาในระบบการผลิตอาหารทำให้เกิดคำถามตามมามากมายโดยเฉพาะด้านลบ ซึ่งมุ่งเน้นไปยังผลที่มีต่อสุขภาพ ความปลอดภัยและการรักษาสิ่งแวดล้อม สิทธิบัตร ฉลาก ทางเลือกของผู้บริโภคและด้านจริยธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้พืชมักจะไม่ได้รับความสนใจด้านจริยธรรม จนกระทั่งมีอาหารพืชจีเอ็มเพราะสิ่งเหล่านี้มิได้เป็นไปตามธรรมชาติโดยเฉพาะการถ่ายโอนยีนของสัตว์ไปยังพืช จึงเป็นสิ่งที่หยิบยกขึ้นมาในหมู่พวกมังสวิรัติและศาสนา การทดลองอาหารจีเอ็มกับสัตว์ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ของคนจำนวนมาก เทคนิคพันธุวิศวกรรมที่ใส่ยีนเข้าไปในพืชหรือสัตว์ก็ยังไม่ถูกต้องแน่นอน ลำดับดีเอ็นเออาจใส่ไปผิดที่ หรือผิดลำดับหรืออาจไปรบกวนลำดับดีเอ็นเอที่สำคัญที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตนั้นซึ่งอาจทำให้ได้สิ่งที่ไม่ตั้งใจตามมา ตัวอย่าง เช่น มะละกอจีเอ็มมีความต้านทานต่อโรคจุดวงแหวนที่เกิดจากไวรัส เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่ตามมาคือมะละกอจีเอ็มมีความอ่อนแอต่อโรคจุดดำที่เกิดจากเชื้อรา ทั้งนี้ยีนไม่ได้ทำงานตามลำพังแต่ทำในรูปเครือข่ายหน้าที่ของแต่ละยีนขึ้นกับยีนอื่นๆ ในจีโนม (Asante, DKA., 2008) อาหารจีเอ็มมีความเสี่ยงต่ออาการแพ้เนื่องจากโปรตีนในอาหารที่เกิดจากดีเอ็นเอหรือยีนที่ยังไม่เคยรับประทานมาก่อนหรือทดสอบความปลอดภัย สารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ส่วนใหญ่คือ โปรตีน อาหารส่วนใหญ่ที่พบว่ามักจะทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ นม ปลา อาหารทะเล ถั่วเหลือง ถั่ว และข้าวสาลี
สหภาพยุโรปยอมรับอาหารและพืชจีเอ็มอย่างระมัดระวัง โดยการยอมรับนั้นขึ้นกับคุณภาพความปลอดภัยและความชอบของอาหารนั้น แม้ว่าจะมีการปฏิเสธจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ในการบริโภคสัตว์จีเอ็มที่นำมาผลิตเป็นอาหาร แม้แต่หญ้าหรืออาหารสัตว์ที่เป็นจีเอ็มนำมาเลี้ยงสัตว์ แต่ที่จริงแล้วในสหภาพยุโรปก็มีการใช้อาหารสัตว์จีเอ็มมาเป็นเวลาหลายปี ประเทศสเปนปลูกข้าวโพดจีเอ็มเพื่อเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ปัจจุบันข้าวโพดจีเอ็มปลูกในประเทศฝรั่งเศส เยอรมันนี สาธารณรัฐเชค และโปรตุเกส นอกจากนี้สหภาพยุโรปนำเข้าถั่วเหลืองปีละ 40 ล้านตันเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถั่วเหลืองจีเอ็ม จึงเห็นได้ว่าผู้บริโภคในสหภาพยุโรปบริโภคอาหารจีเอ็มมาเป็นเวลานานแล้ว และมีกฎข้อบังคับให้มีการติดฉลากอาหารคนและสัตว์ว่าเป็นอาหารจีเอ็มแต่ไม่ได้บังคับให้อาหารที่ผลิตจากสัตว์ที่เลี้ยงด้วยอาหารจีเอ็มต้องติดฉลาก (Knight, JG., Holdsworth, DK., and Mather, DW., 2008)
- ต้านทานต่อไวรัส เชื้อรา และแบคทีเรีย (Resistance to viruses, fungi and bacteria) การป้องกันเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโดยใช้ยีนโปรตีนที่ห่อหุ้มไวรัสหรือทำให้เกิดยีนจำลองของไวรัส การต้านเชื้อราเป็นการดัดแปรพืชให้เกิดชีวสังเคราะห์ของสารต้านเชื้อราโดยเอนไซม์ไคติเนส (Chitinases) เบต้ากลูคาเนส (ß-glucanases) หรือสร้างโปรตีนที่ไปยับยั้งการสร้างไรโบโซม (Ribosome) ที่จำเพาะต่อไรโบโซมของเชื้อรานั้น สำหรับแบคทีเรียก็เช่นเดียวกันจะอยู่ในรูปของเอนไซม์ที่ต้านแบคทีเรีย นอกจากการมียุทธศาสตร์เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชที่ต้านทานต่อโรค แมลง และยากำจัดวัชพืชแล้ว ยังมีปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความแห้งแล้ง ภาวะความเค็มที่มีผลต่อการสังเคราะห์แสง และเพิ่มการเกิดอนุมูลอิสระของออกซิเจนที่ทำให้พืชเจริญไม่เต็มที่ ความเป็นกรด-ด่างของดินที่มีผลต่อการดูดซึมธาตุอาหารพืช จึงมีการดัดแปรพืชด้วยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรมเพื่อให้ได้พืชที่ทนต่อสภาพที่มีน้ำไม่เพียงพอ การปรับปรุงพันธุ์พืชที่ปลดปล่อยคีเลตเพื่อไปละลายธาตุอาหารทำให้พืชดูดไปใช้ได้ สำหรับสภาพพื้นที่มีความเค็มใช้เทคนิคการเพิ่มเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการออสโมซิส หรือสร้างเอนไซม์ที่ต้านการเกิดออกซิเดชัน
2. พืชอุตสาหกรรม (Industrial crops) พืชดัดแปiพันธุกรรมที่เป็นอุตสาหกรรม ได้แก่ พืชที่ให้น้ำมันคือถั่วเหลือง น้ำมันลินสีด (Linseed oil) เรพสีด (Rapeseed) และคาโนลา (Canola) ถั่วเหลืองจีเอ็มโอให้น้ำมันที่มีคุณค่าต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น พืชอุตสาหกรรม 3 ชนิดที่ปลูกในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลืองและฝ้าย เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกใช้พืชจีเอ็มโอ พืชเหล่านี้เป็นแหล่งของส่วนผสมในกระบวนการผลิตอาหาร เช่น น้ำเชื่อมข้าวโพด (Corn syrup) น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันจากเมล็ดฝ้าย และเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศสหรัฐอเมริกา (GOA, 2002 ; McKeon, TA., 2003) พืชอาหารจีเอ็มที่ทำเป็นการค้าพืชแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาคือ มะเขือเทศ ที่มีชื่อการค้าว่า “ Flavr Savr” เป็นมะเขือเทศที่สุกช้า เนื่องจากการยับยั้งเอนไซม์พอลิกาแลคทูโรเนส (Polygalacturonase) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอ่อนตัวของผนังเซลล์ จึงทำให้ชะลอการสุก ยืดอายุการวางจำหน่ายและสะดวกต่อการขนส่ง นอกจากนี้ยังมีการดัดแปรเอนไซม์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวสังเคราะห์กลิ่นและรสชาติ เช่น การผลิตน้ำมันหอมระเหยในมินต์ หรือดัดแปรเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและทำลายกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว การใช้พันธุวิศวกรรมดัดแปรพืชเพื่อผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารหลักหรือสารอาหารหลัก (Macronutrients) และคุณค่าทางอาหารรองหรือสารอาหารรอง (Micronutrients) (Engel, KH., Frenzel, T., and Miller, A., 2002)
สารอาหารหลักนั้นใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมในกระบวนการลิพิดเมแทบอลิซึม (Lipid metabolism) ของพืชน้ำมันเพื่อให้ได้น้ำมันและไขมันสำหรับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการผลิตน้ำมันหรือไขมันที่ใช้เป็นอาหาร มีการดัดแปรความยาวและจำนวนไม่อิ่มตัวของกรดไขมันเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพขายเป็นการค้า เช่น น้ำมันคาโนลา และน้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน นอกจากนี้มีการปรับปรุงคุณภาพของโปรตีนของพืชที่เป็นอาหารคนและสัตว์ ส่วนสารอาหารรอง โดยตัวอย่างพืชจีเอ็มโอที่รู้จักกันดีคือ ข้าวทอง “Golden Rice” เป็นพันธุ์ข้าวที่มี ß-carotene และธาตุเหล็กสูง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการขาดวิตามินเอ และธาตุเหล็กของประชากรโลก
ผลของอาหารดัดแปรพันธุกรรมพืช
1. ผลทางด้านโภชนาการของมนุษย์ (Effect on human nutrients) เทคโนโลยีชีวภาพด้านการดัดแปรพันธุกรรมพืชมีแนวโน้มที่จะใช้ปรับปรุงคุณภาพอาหารด้านโภชนาการสำหรับผู้บริโภคในประเทศที่กำลังพัฒนา ในประเทศที่ร่ำรวยในทวีปยุโรป อเมริกาและอื่นๆ ผู้บริโภคใช้จ่ายเพียง 10% ของรายได้สำหรับอาหาร ผู้บริโภคส่วนใหญ่ของประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่มีภาวะขาดสารอาหารแต่อาจมีการบริโภคมากเกินจนทำให้เกิดปัญหาในบางคน ซึ่งต่างจากประเทศที่ยากจนที่ภาวะขาดอาหารและสุขภาพเจ็บป่วยพบเห็นได้บ่อย ผู้บริโภคในประเทศยากจนใช้จ่าย 70% ของรายได้ในอาหารและอาหารส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารประจำประเทศที่ขาดวิตามิน แร่ธาตุ และส่วนประกอบที่สำคัญช่วยรักษาสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังที่เกิดจากอาหาร นอกจากนี้การมีรายได้ต่ำทำให้คนขาดโอกาสที่จะดูแลสุขภาพได้อย่างพอเพียง การใช้เทคโนโลยีชีวภาพในประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปรับปรุงผลผลิตของพืชโดยใช้วิธีการใส่ยีนที่ต้องการเข้าไปในพืช เช่น พืชทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อดินเค็ม พืชบีทีที่ทนต่อแมลงทำให้การใช้ยากำจัดแมลงลดลง สุขภาพเกษตรกรดีขึ้น การใช้การถ่ายโอนยีนในพืชเพื่อปรับปรุงสารอาหารรองและ /หรือ สาระสำคัญอื่นๆ ในอาหารบริโภคทั่วไปในประเทศ
นอกจากสารอาหารหลักและสารอาหารรองแล้ว ยังมีสารอาหารอื่นที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพและชีวิตที่ดี ในประเทศที่ยากจนการได้รับสารอาหารรองไม่เพียงพอมากกว่าครึ่งของประชากร ซึ่งสภาวการณ์นี้เนื่องมาจากอาหารที่มีคุณภาพด้านโภชนาการต่ำ ประชากรต้องการอาหารที่ไม่ใช่อาหารประจำ เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และปลา ผลไม้ ถั่วและผัก ซึ่งอาหารเหล่านี้เป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่และสารอาหารรองเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีขายในตลาดท้องถิ่น แต่อาหารเหล่านี้มักมีราคาแพงสำหรับคนจนที่จะต้องบริโภคเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณภาพสิ่งที่ตามมาคือ เกิดภาวะขาดสารอาหาร ด้วยเหตุนี้เทคโนโลยีชีวภาพจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถปรับปรุงด้านโภชนาการและสุขภาพของผู้บริโภคในประเทศที่กำลังพัฒนาโดยเพิ่มวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารในอาหารบริโภคประจำหรืออาหารอื่น
การเพิ่มธาตุเหล็กในข้าวเพื่อป้องกันโรคโลหิตจางที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก โดยถ่ายโอนยีนเฟอริทิน (Ferritin) จากถั่วเหลืองใส่ในข้าว ทำให้เมล็ดข้าวมีธาตุเหล็กเพิ่มเป็น 2-3 เท่าของข้าวปรกติ การเพิ่มระดับของสารช่วยดูดซึมและใช้ประโยชน์ของสารอาหารโดยการเพิ่มระดับของไลซีน (Lysine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นและมีจำกัดในข้าว ไลซีนจะช่วยการดูดซึมสารอาหารรองสามารถปรับปรุงได้ด้วยวิธีแปรพันธุ์ (Transgenic method) เช่น การใช้ยีนจากแบคทีเรียสองชนิดผลิตพืชจีเอ็มที่มีไลซีนในเมล็ดสูงเป็น 5 เท่าของเดิม ได้แก่ เมล็ดคาโนลา และถั่วเหลือง การเพิ่มเบต้าแคโรทีนที่เป็นสารเริ่มต้นของวิตามินเอในเมล็ดข้าว (ข้าวทอง) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดวิตามินเอในประเทศที่กำลังพัฒนา (Bouis, HE., Chassy, BM., and Ochanda, O., 2003) นอกจากนี้ยังมีการดัดแปรพันธุกรรมเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการพืชอาหารอื่นๆ เช่น เพิ่มคุณภาพของน้ำมันและโปรตีนในถั่วเหลือง วิตามินในผลไม้ ดังแสดงในตารางที่ 1
2. ผลทางด้านสุขภาพของมนุษย์ (Effect on human health) พืชอาหารดัดแปรพันธุกรรมมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1995 จนถึงปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 2000 16% ของพื้นที่เพาะปลูกของโลกมีการปลูกถั่วเหลือง คาโนลา ฝ้ายและข้าวโพดแปลงพันธุ์ โดยส่วนใหญ่ของพืชเหล่านี้มีลักษณะที่ทนต่อสารกำจัดวัชพืช ต้านทานแมลง ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทำให้ลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพ ตัวอย่างเช่น เกษตรกรในประเทศออสเตรเลียที่ปลูกฝ้ายสามารถลดการฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืชลดลงประมาณครึ่งหนึ่งของที่ใช้กับพืชดั้งเดิม เช่นเดียวกับในประเทศสหรัฐอเมริกาเกษตรกรปลูกฝ้ายได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและลดการใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งการลดสารพวกออกาโนฟอสเฟตจะเป็นการลดผลกระทบของสารเคมีเหล่านี้กับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่เป้าหมายและสิ่งที่ตามมาคือ มีผลบวกต่อสุขภาพของเกษตรกร (Barton and Dracup, 2000) โภชนาการด้านสุขภาพของประชากร ได้แก่ การปรับปรุงคุณภาพของอาหาร การป้องกันและควบคุมโรคที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการโดยเฉพาะผู้ยากไร้ เช่น ข้าวทองเป็นข้าวที่ใช้สำหรับประชากรโลกที่ขาดวิตามินเอที่เป็นสาเหตุของการมองไม่เห็นทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น พืชจีเอ็มที่ใช้เป็นแหล่งของอาหารแล้วยังมีการจัดการด้านพืชเพื่อให้ผลิตวัคซีนและยา วัคซีนจากผลไม้และผัก เช่น ไวรัส (Tobacco mosaic virus) ได้ถูกใส่เข้าไปในผักโขม (Spinacia oleracea) ด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรม เพื่อให้พืชผลิตชิ้นส่วนของสารก่อภูมิต้านทานที่ต้องการสำหรับพัฒนาเป็น Anthrax vaccine (Darnton-Hill, I., Margettes, B., and Deckelbaum, R., 2004)
ตารางที่ 1 พืชอาหารดัดแปรพันธุกรรมที่ได้รับการประเมินโดย FDA
ต้านทานแมลง |
ต้านทานไวรัส |
ทนต่อสารกำจัด วัชพืช |
น้ำมันพืชที่ดัดแปลง |
หยุดการเจริญพันธุ์ |
ยืดเวลาการสุก/ทำให้นิ่ม |
ข้าวโพด มะเขือเทศ มันฝรั่ง ฝ้าย
|
สควอช มะละกอ มันฝรั่ง |
ข้าวโพด ข้าว คาโนลา(canola) ซูก้าบีท (sugar beet) แฟ๊กซ์(Flax) ฝ้าย แรดิช(radish) ถั่วเหลือง |
ถั่วเหลือง คาโนลา
|
ข้าวโพด คาโนลา แรดิช |
แคนตาลูป มะเขือเทศ |
ที่มา : GOA (2002)
3. ผลทางด้านคุณภาพของอาหาร (Effect on food quality) พืชอาหารจีเอ็มนอกจากมีลักษณะด้านการเกษตรคือ ทนต่อโรค แมลง ยากำจัดวัชพืชและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมแล้ว ลักษณะด้านคุณภาพ เช่น รสชาติและคุณค่าทางอาหารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมได้ทำให้มีอาหารมีคุณภาพดีขึ้นและช่วยลดการขาดสารอาหารรองของประชากรในประเทศที่กำลังพัฒนา สารอาหารเป็นสิ่งที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้โดยเฉพาะเพื่อประชากรยากจนที่ขาดสารอาหาร การเพิ่มสารอาหารรองในอาหารประจำท้องถิ่น (Staple foods) อาจทำได้ 4 วิธีคือ (1) เพิ่มแร่ธาตุและวิตามินในอาหารประจำท้องถิ่นด้วยการผสมพันธุ์พืชแบบดั้งเดิม (2) เพิ่มแร่ธาตุและวิตามินด้วยการใส่ยีนที่มีรหัสสำหรับโปรตีนที่มีพันธะกับธาตุรอง (3) ลดระดับของสารยับยั้งหรือสารต้านการดูดซึมสารอาหาร (4) เพิ่มสารประกอบที่จะไปเพิ่มสภาพพร้อมใช้ทางชีวภาพของสาร (Darnton-Hill, I., Margettes, B., and Deckelbaum, R., 2004)
4. ผลทางด้านสิ่งแวดล้อม (Effect on environment) แม้ว่าพืชอาหารจีเอ็มจะให้คุณประโยชน์ในด้านการเกษตร เกษตรกรและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาแต่เทคโนโลยีนี้ก็ไม่ได้ปราศจากความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ยังคงมีความกลัวว่าจะมีผลต่อ คน สัตว์ วงจรชีวิตพืช ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม แม้ว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดแต่ก็ยังมีความคิดว่าอาจมีได้ในอนาคต สิ่งที่คำนึงมากเรื่องสิ่งแวดล้อมคือ การเคลื่อนย้ายยีนจากพืชจีเอ็มไปยังพืชที่ไม่ใช่จีเอ็มของพืชชนิดเดียวกันหรืออาจข้ามชนิด บ้างก็อ้างว่าการที่พืชจีเอ็มทนต่อยากำจัดวัชพืช ทำให้เกิดวัชพืชที่ดื้อยาขึ้นเรียกว่า “Super weed” หรือการทำให้แมลงปรับตัวให้ทนทานต่อยากำจัดแมลง (GAO, 2002 ; Thomson, J., 2003)
กฎระเบียบของอาหารดัดแปรพันธุกรรมพืชในประเทศต่างๆ
1. ประเทศสหรัฐอเมริกา พืชอาหารจีเอ็มได้นำออกจำหน่ายเป็นการค้าครั้งแรกปี ค.ศ. 1994 และ 2004 สหรัฐอเมริกามีพื้นที่ปลูก 47.6 ล้านเฮกแตร์ (ถั่วเหลือง ข้าวโพด ฝ้ายและคาโนลา) จึงถือได้ว่าเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรของโลก รัฐบาลมีกฎหมายที่ให้ความมั่นใจต่อความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์จีเอ็ม โดย FDA รับผิดชอบความปลอดภัยด้านอาหารและอาหารสัตว์ Plant Health Inspection Service (APHIS) รับผิดชอบด้านการประเมินความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมของพืชจีเอ็มและThe Environmental Protection Agency (EPA) รับผิดชอบต่อการพัฒนาและปล่อยพืชจีเอ็มที่มีคุณสมบัติในการควบคุมแมลง กฎหมายที่ใช้ในการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มาจากเทคโนโลยีใหม่ ได้แก่ พระราชบัญญัติต่างๆ เช่น The Plant Protection Act (PPA), the Federal Food, Drug and Cosmetic Act (FFDCA), the Federal Insecticide, Fungicide, and Rodenticide Act (FIFRA) และ the Toxic Substance Control Act (TSCA) ในปี ค.ศ. 1992 FDA ได้ออกนโยบายเกี่ยวกับอาหารที่มาจากพืชพันธุ์ใหม่ ผู้พัฒนาจะต้องรับผิดชอบที่จะให้ความมั่นใจต่อผู้บริโภคว่าอาหารนั้นปลอดภัยและสอดคล้องกับข้อกำหนด ในปี ค.ศ. 2001 FDA ได้เสนอกฎและร่างเอกสารข้อแนะนำสำหรับอาหารจีเอ็ม (Zarrilli, S., 2005)
การใช้เทคโนโลยีชีวภาพดัดแปรพันธุกรรมพืช ได้มีการคำนึงถึงแนวโน้มของความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ ดังนั้นขณะที่เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมกำลังพัฒนา นักวิทยาศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้วางกฎระเบียบและผู้วางนโยบายเห็นพ้องต้องกันว่า พืชจีเอ็มควรได้รับการประเมินอย่างระมัดระวังก่อนที่จะนำไปใช้กันอย่างกว้างขวาง สหรัฐอเมริกาได้ตีพิมพ์ Coordinated Framework for Regulation of Biotechnology วางแนวทาง กฎระเบียบ ข้อกฎหมายและนิยามของสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรม โดยมี 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ USDA, EPA และ FDA เพื่อประเมินความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์อันเนื่องมาจากพืชจีเอ็ม บริษัทต้องยื่นอาหารจีเอ็มใหม่ให้กับ FDA เพื่อทำการประเมินโดยทดสอบความปลอดภัยตามกฎระเบียบที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์แหล่งที่มา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีประวัติที่จะทำให้เกิดภูมิแพ้ เป็นพิษหรือต้านการดูดซึมสารอาหารหรือไม่ (GAO, 2002) โดย FDA ได้ประเมินอาหารจากพืชดัดแปรสำหรับมนุษย์ที่สามารถบริโภคได้ ดังแสดงในตารางที่ 2
2. ประเทศออสเตรเลีย พืชดัดแปรพันธุกรรมที่ได้รับการรับรองจากมาตรฐานอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (Food Standards Australia New Zealand, FSANZ) ยอมให้ขายได้ในประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ ถั่วเหลือง คาโนลา (canola) ข้าวโพด มันฝรั่ง ซูการ์บีท (sugarbeet) และฝ้าย อาหารจากพืชดัดแปรพันธุกรรมได้แก่ ขนมปัง ของขบเคี้ยว น้ำมัน ขนมหวาน เครื่องดื่ม และ sausage skin ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี ค.ศ 2001 อาหารเหล่านี้ต้องมีฉลากระบุแต่ไม่ครอบคลุมถึงอาหารที่มาจากสัตว์เลี้ยงด้วยพืชดัดแปรพันธุกรรม เช่น เนื้อ นม ไข่ และน้ำผึ้ง (Carman, J., 2004)
ตารางที่ 2 การดัดแปรพันธุกรรมเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของพืชอาหาร
สารโภชนาการ |
พืชเป้าหมาย |
ผลผลิตยีนเป้าหมาย |
ไขมันและน้ำมัน
โปรตีน
คาร์โบไฮเดรต
แคโรตินอยด์ และวิตามิน อี |
ถั่วเหลือง คาโนล่า ทานตะวัน
ข้าว ถั่วเหลือง มันเทศ
มันฝรั่ง มันสำปะหลัง กล้วย
ผลไม้และผัก ถั่วเหลือง |
Omega-3-fatty acid Stearidonic acid (SDA) Docosahexaenoic
Beta-phaseolin Methionine enriched glycinin Essential amino acid rich protein
Amylose and amylopectin (structure/ratio) Amylose and amylopectin (structure/ratio) Amylose and amylopectin (structure/ratio)
Beta-carotene Alpha-tocopherol
|
ที่มา : Bouis, HE., Chassy, BM., and Ochanda, O. (2003)
3. สหภาพยุโรป อาหารชนิดใหม่ (ของคนและสัตว์) และส่วนประกอบอาหารชนิดใหม่ที่เป็นจีเอ็มต้องขึ้นทะเบียนอาหารตาม EU Regulation 1829/2003 ซึ่งต้องมีการประเมินก่อนที่จะวางจำหน่าย Regulation 1830/2003 จะว่าด้วยการตรวจสอบย้อนกลับและการติดฉลากของสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปรพันธุกรรม (Thomson, J., 2003 ; Zarrilli, S., 2005)
4. ประเทศกรีซ มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบจีเอ็มโอในอาหารคือ Hellenic Food Safety Authority ผู้ที่นำเข้าและดำเนินการด้านจีเอ็มโอโดยไม่ได้รับอนุญาตและการไม่ติดฉลากผลิตภัณฑ์จะต้องถูกลงโทษ หากบริษัทใดให้ใบรับรองไม่ถูกต้องก็ต้องถูกลงโทษเช่นกัน (Varzakas, th., Chryssochoidis, g., and Argyropoulos, D., 2007) แต่ละประเทศจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบและมีกฎระเบียบบังคับสำหรับพืชและสัตว์ที่มาจากการดัดแปรพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์จีเอ็มว่าจะอนุญาตให้มีการนำเข้า วางจำหน่ายหรือไม่ (Zarrilli, S., 2005)
บทสรุป
จากการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม การผลิตอาหารจึงต้องเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็นอย่างน้อยเพื่อความมั่นคงด้านอาหารสำหรับประชากรโลก เทคโนโลยีด้านพันธุวิศวกรรมพืชจึงเป็นทางหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาจึงได้เร่งพัฒนาการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็ม เนื่องจากพืชจีเอ็มให้ผลผลิตสูง ทนต่อโรค แมลง ไวรัส ยากำจัดวัชพืช และทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งให้ลักษณะคุณภาพตามต้องการ เช่น รสชาติ คุณค่าทางโภชนาการ อย่างไรก็ตาม อาหารที่มาจากพืชดัดแปรพันธุกรรมนั้นมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ที่ต่อต้าน ในขณะที่พืชอาหารจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคตและมีวิธีการดัดแปรเพิ่มขึ้น การทดสอบและการประเมินความปลอดภัยจึงต้องมีการปรับปรุงตามไปด้วย อาหารจีเอ็มในท้องตลาดไม่ควรมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องมีการทดสอบและประเมินความปลอดภัยอย่างถูกต้องและเหมาะสมก่อนที่จะวางจำหน่าย ในบางประเทศกำหนดให้มีการติดฉลากอาหารที่มาจากพืชและสัตว์จีเอ็ม แต่ละประเทศจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบและมีกฎระเบียบบังคับสำหรับพืชและสัตว์ที่มาจากการดัดแปรพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์จีเอ็มว่าจะอนุญาตให้มีการนำเข้า และวางจำหน่ายหรือไม่
อ้างอิง
Asante, DKA. Genetically modified food-The dilemma of Africa. African Journal of Biotechnology, May, 2008, vol. 7, no. 9, p. 1204-1211.
Barton, JE. And Dracup, M. Genetically modified crops and the environment. Agronomy Journal, July-August, 2000, vol. 92, p. 797-803.
Bouis, HE. ,Chassy, BM. , and Ochanda, O. Genetically modified food crops and their contribution to human nutrition and food quality.
Trends in Food Science & Technology, 2003, vol. 14, p. 191-209.
Carman, J. Is GM food safe to eat? Edited by Hindmarsh, R; and Lawrence, G. In Recording nature critical perspectives on genetic engineering.
Sydney:UNSW Press, 2004, p. 82-93.
Darnton-Hill, I. , Margetts, B. , and Deckelbaum, R. Public health nutrition and genetics: implications for nutrition policy and promotion.
Proceedings of the Nutrition Society, 2004, vol. 63, p. 173-185.
Engel, KH. , Frenzel,T. , and Miller, A. Current and future benefits from the use of GM technology in food production. Toxicology Letters, 2002,
vol. 127, p. 329-336.
GAO. Genetically modified foods experts view regimen of safety test as adequate, but FDA’s evaluation process could be enhanced. 2002,
May 23; United State general accounting office: Washington, DC. 2002, p. 4-11.
Herrera-Estrella, LR. Genetically modified crops and developing countries. Plant Physiology, November, 2000, vol. 124, p. 923-925.
Knight, JG. ,Holdsworth, DK. , and Mather, DW. Perspective GM food and neophobia:connecting with the gatekeepers of consumer choice.
Journal of the Science of Food and Agriculture, 2008, vol. 38, p. 739-744.
Kok, EJ., and Kuiper, HA. Comparative safety assessment for biotech crops. Trends in Biotechnology, October, 2003, vol. 21, no. 10, p. 439-444.
Kok, EJ., et al. Comparative safety assessment of plant-derived food. Regulatory Toxicology and Pharmacology, 2008, vol. 50, p. 98-113.
McKeon, TA. Genetically modified crops for industrial products and processes and their effects on human health.
Trends in Food Science & Technology, 2003, vol. 14, p. 229-241.
Rodriguez-Lazaro, D. , et al. Trends in analytical methodology in food safety and quality: monitoring microorganisms and genetically
modified organisms. Trends in Food Science & Technology, 2007, vol. 18, p. 306-319.
Schrijver, AD. , et al. Risk assessment of GM stacked events obtained from crosses between GM events. Trends in Food Science & Technology,
2007, vol. 18, p. 101-109.
Sesikeran, B. , and Vasanthi, S. Constantly evolving safety assessment protocols for GM foods. Asia Pac J Clin Nutr, 2008, vol. 17(SI), p. 241-244.
Thomson, J. Genetically modified food crops for improving agricultural practice and their effects on human health.
Trends in Food Science & Technology, 2003, vol. 14, p. 210-228.
Varzakas, TH. , Chryssochoidis, G. , and Argyropoulos, D. Approaches in the risk assessment of genetically modified foods by the Hellenic
Food Safety Authority. Food and Chemical Toxicology, 2007, vol. 45, p. 530-542.
Zarrilli, S. International trade in GMOs and GM products: national and multilateral legal frameworks. 2005, United nations: New York and Geneva,
2005, p. 1-22.