การประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ผลิตจากพืชดัดแปรพันธุกรรม
การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์อาหารจีเอ็มมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ได้ถูกนำเข้ามาสู่ห่วงโซ่อาหาร จึงทำให้เกิดระบบประเมินความปลอดภัยของอาหารจีเอ็ม ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบาย ข้อกฎหมายและแนวทางที่จะต้องมีให้สอดคล้องกับการพัฒนาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีรวมทั้งการประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ที่ได้รับ การยอมรับและตลาดของอาหารจีเอ็มจึงขึ้นกับการทดสอบว่าปลอดภัยก่อนจำหน่าย เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารเดิมที่ไม่ใช่จีเอ็ม นอกจากพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาแล้วยังมีสัตว์ที่ถูกดัดแปรยีน เช่น ปลา ซึ่งจะถูกนำเข้าไปสู่ห่วงโซ่อาหารในไม่ช้านี้ (Sesikeran, B. and Vasanthi, S., 2008) จากการพัฒนาเหล่านี้ยุทธศาสตร์และรูปแบบของการประเมินความปลอดภัยของอาหารจีเอ็มจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยองค์กรระหว่างประเทศ เช่น FAO, WHO, OECD และ CODEX ได้วางแนวทางสำหรับประเมินความปลอดภัยอาหารจีเอ็มโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ความเสี่ยง องค์การค้าโลก (WTO) ก็อ้างถึงข้อแนะนำเหล่านี้หากสินค้านั้นเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย สมมุติฐานที่ใช้ในการประเมินคืออาหารดั้งเดิมที่มีประวัติว่าปลอดภัยในการบริโภคถูกใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับประเมินอาหาร/พืชจีเอ็มโดยใช้แนวคิดที่ว่าทุกอย่างเทียบเท่า (Substantial equivalence : SE)
การประเมินความปลอดภัยอาหารที่มาจากพืชจีเอ็มโดย OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) หัวข้อการประเมินประกอบด้วย
• ลักษณะเฉพาะโมเลกุลของชิ้นส่วนจีนที่ใส่ในพืชและผลการเกิดโปรตีนใหม่หรือเมแทบอไลต์
• การวิเคราะห์ส่วนประกอบของพืชที่เป็นกุญแจสำคัญด้านสารอาหารและสารต้านโภชนาการ
• แนวโน้มของการถ่ายโอนยีนจากอาหารจีเอ็มไปยังจุลชีพในทางเดินอาหารของคนและสัตว์
• แนวโน้มการทำให้เกิดภูมิแพ้ของอาหารจีเอ็ม
• คาดปริมาณของระดับการบริโภคโปรตีนที่เกิดใหม่และ/หรือผลิตภัณฑ์สุดท้าย รวมทั้งส่วนประกอบที่เปลี่ยนไป
• ประเมินค่าความเป็นพิษและโภชนาการจากผลของข้อมูล
• ทดสอบความเป็นพิษของอาหารทั้งหมดเมื่อจำเป็น เป็นการทดสอบทั้งหมดของพืชหรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชนั้น เช่น ในกรณีที่ส่วนประกอบในพืชทั้งหมดเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับสิ่งที่เคยเป็นมาก่อน คำแนะนำเฉพาะของหัวข้อเหล่านี้ได้ถูกจัดทำโดยหน่วยงานต่างๆได้แก่ OECD, SFC ( The European Scientific Committee on Foodstuffs), FAO/WHO และ Codex (Kok, EJ. and Kuiper, HA., 2003; Kok, EJ., et al., 2008)
การใช้ความคิดเกี่ยวกับ substantial equivalence ในการประเมินความปลอดภัยได้จากข้อมูลพืชพันธุ์พ่อแม่ที่จะนำไปดัดแปรพันธุกรรม เช่น แหล่งที่มา ชนิด และแนวโน้มที่จะเป็นอันตราย สิ่งเหล่านี้ช่วยอำนวยความสะดวกของข้อมูลด้านลักษณะเฉพาะของโมเลกุลดีเอ็นเอที่ใส่เข้าไป ลักษณะแสดงออกของยีนในผลิตภัณฑ์ การเปลี่ยนแปลงด้านองค์ประกอบและสัณฐานวิทยา ความเป็นพิษ การเกิดภูมิแพ้ ความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการอาหารจีเอ็ม ผลต่อจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหารของมนุษย์และสัตว์ ผลต่อเมแทบอลิซึมพืช (Sesikeran, B. and Vasanthi, S., 2008) ; Kok, EJ. and Kuiper, HA., 2003)
ขณะที่พืชอาหารจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคตและมีการดัดแปลงเพิ่มขึ้น วิธีการประเมินความปลอดภัยจึงต้องปรับปรุงตามไปด้วย ขณะเดียวกัน WHO ได้ให้ความเห็นว่าอาหารจีเอ็มในท้องตลาดไม่ควรมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและเน้นถึงเทคโนโลยีด้านอาหารจีเอ็มต้องมีการประเมินความปลอดภัยอย่างถูกต้องและเหมาะสมก่อนที่วางจำหน่าย เช่น ศึกษาการวิเคราะห์ด้านองค์ประกอบเทียบเท่า ตรวจวัดผลที่เกิดโดยไม่ได้ตั้งใจ การประเมินตัวชี้วัดทางชีวภาพสำหรับการเกิดภูมิแพ้ ความปลอดภัยของอาหารที่เพิ่มด้านโภชนาการหรือเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ คำแนะนำใหม่สำหรับประเมินอาหารที่มาจากสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรม
การพัฒนาวิธีวิเคราะห์จีเอ็มโอก็เป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารจีเอ็ม โรคมากกว่า 200 โรคมาจากอาหารซึ่งมีอาการตั้งแต่อาการทางทางเดินอาหารที่ไม่รุนแรงจนถึงเสียชีวิตหรืออาจมีอาการเรื้อรังของโรค ความปลอดภัยของอาหารรวมทั้งคุณภาพในห่วงโซ่อาหารเป็นสิ่งต้องการหลักของประชากร การใช้พืชหรือสัตว์จีเอ็มในการผลิตอาหารเป็นสิ่งที่สังคมต้องการความชัดเจน วิธีการวิเคราะห์ทดสอบที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรับประกันความปลอดภัยอาหารและคุณภาพ การเฝ้าระวังจุลินทรีย์และสิ่งที่เป็นจีเอ็มโอในอาหารเป็นหัวข้อที่ต้องนำมาพิจารณา ปัจจุบันมีการพัฒนาและตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี แต่อย่างไรก็ตามมักจะมีคำถามที่เกิดขึ้นในเรื่องของการควบคุมสิ่งมีชีวิตที่เป็นจีเอ็มโอ ได้แก่ 1) การแปลความหมาย/ผลของเปอร์เซ็นต์จีเอ็มโอที่มีอยู่อย่างไร 2) การลดค่าใช้จ่ายในการตรวจวัดจีเอ็มโอ 3) การเลือกใช้วัสดุอ้างอิงที่มีใบรับรอง 4) การตรวจวัดสิ่งที่ไม่รู้ หรือสิ่งที่ไม่คาดคิดและสิ่งที่ไม่ได้รับรองที่เป็นจีเอ็มโอ 5) การตรวจวัดพืชที่เป็น Stacked transgenes ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงเทคนิคการตรวจดีเอ็นเอสำหรับการคัดกรองที่รวดเร็วและการวิเคราะห์จีเอ็มโอที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร (Rodriguez-Lazaro, D., et al., 2007)
อาหารทุกอย่างรวมทั้งที่มาจากพืชจีเอ็มมีความเสี่ยงโดยธรรมชาติต่อสุขภาพ เนื่องจากสามารถทำให้เกิดภูมิแพ้ หรือเป็นพิษหรือขัดขวางการดูดซึมสารอาหาร ไม่สามารถรับประกันได้ว่าอาหารทั่วไปจะไม่มีความเสี่ยงเลย แม้ว่าอาหารจากพืชจีเอ็มบางชนิดประกอบด้วยสารก่อภูมิแพ้ สารพิษและสารต้านการดูดซึมสารอาหาร แต่ระดับของสารเหล่านี้ก็เทียบเท่ากับที่พบในพืชที่ไม่ได้ดัดแปรพันธุกรรม อาหารจีเอ็มจะถูกทดสอบตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ โดยเริ่มจากแหล่งของยีนดัดแปร ตรวจสอบอาหารจีเอ็มเช่นเดียวกับอาหารที่มาจากพืชพันธุ์ที่รู้สารก่อภูมิแพ้ สารพิษและสารต้านโภชนาการหรือสารต้านการดูดซึมสารอาหาร อาจรวมทั้งทดสอบความปลอดภัยของโปรตีนดัดแปรจากอาหารจีเอ็มในระบบย่อยอาหาร ในแต่ละขั้นตอนเปรียบเทียบระดับความเสี่ยงที่พบในอาหารจากพืชปรกติ ถ้าอยู่ในระดับเดียวกันก็ถือว่าอาหารจีเอ็มนั้นปลอดภัยเช่นเดียวกับอาหารทั่วไป
การเกิดภูมิแพ้เป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ช็อกหมดสติได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภูมิแพ้ในอาหารปลอดภัย อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพอาหารจึงได้ประเมินอาหารจีเอ็มว่ามีความปลอดภัยเท่ากับอาหารธรรมดาหรือไม่ เช่น ในปี ค.ศ. 1996 องค์กรอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ทบทวนความปลอดภัยของถั่วเหลืองจีเอ็มซึ่งให้น้ำมันถั่วเหลืองที่มีต่อสุขภาพมากกว่า โดยประเมินความปลอดภัยตามมาตรฐานเช่นเดียวกับถั่วเหลืองที่ไม่ได้ดัดแปรพันธุกรรม แม้ว่าถั่วเหลืองจีเอ็มจะมีสารก่อภูมิแพ้แต่ไม่ได้แสดงความแตกต่างระหว่างการทำให้เกิดภูมิแพ้ของถั่วเหลืองจีเอ็มและถั่วเหลืองดั้งเดิม
การเกิดพิษเป็นการตอบสนองต่อสารพิษในคนซึ่งแตกต่างจากปฏิกิริยาการเกิดภูมิแพ้คือ ทุกคนจะเกิดการตอบสนองต่อสารพิษ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาอาหารจีเอ็มจึงมุ่งเน้นให้ระดับความเป็นพิษในอาหารไม่เกินระดับที่มีในอาหารปรกติ ถ้าสารพิษมีเกินระดับปรกติ อาหารจีเอ็มนั้นก็ยอมรับไม่ได้ จนถึงปัจจุบันอาหารจีเอ็มได้พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างจากของเดิม ในบางกรณีพบว่าสารพิษที่เกิดตามธรรมชาติไม่ได้รับความสนใจแต่เมื่อมีการประเมินความปลอดภัยอาหารจีเอ็มจึงถูกตรวจพบ เช่น สารโทมาทีน (Tomatine) เป็นสารพิษธรรมชาติที่พบในมะเขือเทศที่ไม่ได้รับความสนใจจนกระทั่งมีการพัฒนามะเขือเทศจีเอ็ม FDA และบริษัททั้งหลายจึงให้ความสนใจที่จะวัดปริมาณโทมาทีน ซึ่งจากการตรวจสารโทมาทีนในมะเขือเทศดั้งเดิมและมะเขือเทศจีเอ็มพบว่าอยู่ในช่วงเดียวกัน
สารต้านโภชนาการ (Antinutrition) เป็นสารประกอบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ไปรบกวนการดูดซึมสารอาหารที่สำคัญในระบบย่อยอาหาร เช่นเดียวกันหากอาหารจีเอ็มมีสารต้านการดูดซึมอาหารต้องแน่ใจว่าไม่เกินระดับของที่มีในอาหารดั้งเดิม ถ้าระดับใกล้เคียงกันก็จะถือว่ามีความปลอดภัยเช่นเดียวกับของเดิม เช่น ในปี ค.ศ. 1995 บริษัทได้ยื่นประเมินความปลอดภัยของน้ำมันคาโนลาซึ่งได้มีการดัดแปลงองค์ประกอบของกรดไขมันในน้ำมัน บริษัทได้เปรียบเทียบองค์ประกอบสารต้านการดูดซึมสารอาหารของผลิตภัณฑ์กับน้ำมันคาโนลาต้นแบบที่ไม่ได้ดัดแปร และพบว่าน้ำมันคาโนลาที่ดัดแปรมีปริมาณสารดังกล่าวไม่เกินระดับที่มีในของต้นแบบ และเพื่อให้มั่นใจว่าอาหารจีเอ็มไม่ได้ลดคุณค่าทางโภชนาการ จึงได้วัดองค์ประกอบทางโภชนาการของอาหารจีเอ็มด้วย และมักรวมถึงการวัดกรดอะมิโน น้ำมัน กรดไขมันและวิตามิน ในหลายประเทศยอมรับและให้มีจำหน่ายอาหารดัดแปรพันธุกรรมพืชหรืออาหารจีเอ็มที่ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยใต้กรอบการประเมินความปลอดภัยขององค์กรระหว่างประเทศ