ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ผลของอาหารดัดแปรพันธุกรรมพืช

              1. ผลทางด้านโภชนาการของมนุษย์ (Effect on human nutrients) เทคโนโลยีชีวภาพด้านการดัดแปรพันธุกรรมพืชมีแนวโน้มที่จะใช้ปรับปรุงคุณภาพอาหารด้านโภชนาการสำหรับผู้บริโภคในประเทศที่กำลังพัฒนา ในประเทศที่ร่ำรวยในทวีปยุโรป อเมริกาและอื่นๆ ผู้บริโภคใช้จ่ายเพียง 10% ของรายได้สำหรับอาหาร ผู้บริโภคส่วนใหญ่ของประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่มีภาวะขาดสารอาหารแต่อาจมีการบริโภคมากเกินจนทำให้เกิดปัญหาในบางคน ซึ่งต่างจากประเทศที่ยากจนที่ภาวะขาดอาหารและสุขภาพเจ็บป่วยพบเห็นได้บ่อย ผู้บริโภคในประเทศยากจนใช้จ่าย 70% ของรายได้ในอาหารและอาหารส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารประจำประเทศที่ขาดวิตามิน แร่ธาตุ และส่วนประกอบที่สำคัญช่วยรักษาสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังที่เกิดจากอาหาร นอกจากนี้การมีรายได้ต่ำทำให้คนขาดโอกาสที่จะดูแลสุขภาพได้อย่างพอเพียง การใช้เทคโนโลยีชีวภาพในประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปรับปรุงผลผลิตของพืชโดยใช้วิธีการใส่ยีนที่ต้องการเข้าไปในพืช  เช่น พืชทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อดินเค็ม พืชบีทีที่ทนต่อแมลงทำให้การใช้ยากำจัดแมลงลดลง สุขภาพเกษตรกรดีขึ้น การใช้การถ่ายโอนยีนในพืชเพื่อปรับปรุงสารอาหารรองและ /หรือ สาระสำคัญอื่นๆ ในอาหารบริโภคทั่วไปในประเทศ 

              นอกจากสารอาหารหลักและสารอาหารรองแล้ว ยังมีสารอาหารอื่นที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพและชีวิตที่ดี ในประเทศที่ยากจนการได้รับสารอาหารรองไม่เพียงพอมากกว่าครึ่งของประชากร ซึ่งสภาวการณ์นี้เนื่องมาจากอาหารที่มีคุณภาพด้านโภชนาการต่ำ ประชากรต้องการอาหารที่ไม่ใช่อาหารประจำ เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และปลา ผลไม้ ถั่วและผัก ซึ่งอาหารเหล่านี้เป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่และสารอาหารรองเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีขายในตลาดท้องถิ่น แต่อาหารเหล่านี้มักมีราคาแพงสำหรับคนจนที่จะต้องบริโภคเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณภาพสิ่งที่ตามมาคือ เกิดภาวะขาดสารอาหาร ด้วยเหตุนี้เทคโนโลยีชีวภาพจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถปรับปรุงด้านโภชนาการและสุขภาพของผู้บริโภคในประเทศที่กำลังพัฒนาโดยเพิ่มวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารในอาหารบริโภคประจำหรืออาหารอื่น

              การเพิ่มธาตุเหล็กในข้าวเพื่อป้องกันโรคโลหิตจางที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก โดยถ่ายโอนยีนเฟอริทิน (Ferritin) จากถั่วเหลืองใส่ในข้าว ทำให้เมล็ดข้าวมีธาตุเหล็กเพิ่มเป็น 2-3 เท่าของข้าวปรกติ การเพิ่มระดับของสารช่วยดูดซึมและใช้ประโยชน์ของสารอาหารโดยการเพิ่มระดับของไลซีน (Lysine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นและมีจำกัดในข้าว ไลซีนจะช่วยการดูดซึมสารอาหารรองสามารถปรับปรุงได้ด้วยวิธีแปรพันธุ์ (Transgenic method) เช่น การใช้ยีนจากแบคทีเรียสองชนิดผลิตพืชจีเอ็มที่มีไลซีนในเมล็ดสูงเป็น 5 เท่าของเดิม ได้แก่ เมล็ดคาโนลา และถั่วเหลือง การเพิ่มเบต้าแคโรทีนที่เป็นสารเริ่มต้นของวิตามินเอในเมล็ดข้าว (ข้าวทอง) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดวิตามินเอในประเทศที่กำลังพัฒนา  (Bouis, HE., Chassy, BM., and Ochanda, O., 2003) นอกจากนี้ยังมีการดัดแปรพันธุกรรมเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการพืชอาหารอื่นๆ เช่น เพิ่มคุณภาพของน้ำมันและโปรตีนในถั่วเหลือง วิตามินในผลไม้ ดังแสดงในตารางที่ 1  

              2. ผลทางด้านสุขภาพของมนุษย์ (Effect on human health) พืชอาหารดัดแปรพันธุกรรมมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1995 จนถึงปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 2000 16% ของพื้นที่เพาะปลูกของโลกมีการปลูกถั่วเหลือง คาโนลา ฝ้ายและข้าวโพดแปลงพันธุ์ โดยส่วนใหญ่ของพืชเหล่านี้มีลักษณะที่ทนต่อสารกำจัดวัชพืช ต้านทานแมลง ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทำให้ลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพ ตัวอย่างเช่น เกษตรกรในประเทศออสเตรเลียที่ปลูกฝ้ายสามารถลดการฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืชลดลงประมาณครึ่งหนึ่งของที่ใช้กับพืชดั้งเดิม เช่นเดียวกับในประเทศสหรัฐอเมริกาเกษตรกรปลูกฝ้ายได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและลดการใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งการลดสารพวกออกาโนฟอสเฟตจะเป็นการลดผลกระทบของสารเคมีเหล่านี้กับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่เป้าหมายและสิ่งที่ตามมาคือ มีผลบวกต่อสุขภาพของเกษตรกร (Barton and Dracup, 2000) โภชนาการด้านสุขภาพของประชากร ได้แก่ การปรับปรุงคุณภาพของอาหาร การป้องกันและควบคุมโรคที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการโดยเฉพาะผู้ยากไร้ เช่น ข้าวทองเป็นข้าวที่ใช้สำหรับประชากรโลกที่ขาดวิตามินเอที่เป็นสาเหตุของการมองไม่เห็นทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น พืชจีเอ็มที่ใช้เป็นแหล่งของอาหารแล้วยังมีการจัดการด้านพืชเพื่อให้ผลิตวัคซีนและยา วัคซีนจากผลไม้และผัก  เช่น ไวรัส (Tobacco mosaic virus) ได้ถูกใส่เข้าไปในผักโขม (Spinacia oleracea) ด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรม เพื่อให้พืชผลิตชิ้นส่วนของสารก่อภูมิต้านทานที่ต้องการสำหรับพัฒนาเป็น Anthrax vaccine (Darnton-Hill, I., Margettes, B., and Deckelbaum, R., 2004)

ตารางที่ 1  พืชอาหารดัดแปรพันธุกรรมที่ได้รับการประเมินโดย FDA

ต้านทานแมลง

ต้านทานไวรัส

ทนต่อสารกำจัด

วัชพืช

น้ำมันพืชที่ดัดแปลง

หยุดการเจริญพันธุ์

ยืดเวลาการสุก/ทำให้นิ่ม

ข้าวโพด

มะเขือเทศ

มันฝรั่ง

ฝ้าย

 

สควอช

มะละกอ

มันฝรั่ง

ข้าวโพด ข้าว

คาโนลา(canola)

ซูก้าบีท (sugar beet)

แฟ๊กซ์(Flax)

ฝ้าย

แรดิช(radish)

ถั่วเหลือง

ถั่วเหลือง

คาโนลา

 

ข้าวโพด

คาโนลา

แรดิช

แคนตาลูป

มะเขือเทศ

ที่มา : GOA (2002)

              3. ผลทางด้านคุณภาพของอาหาร (Effect on food quality) พืชอาหารจีเอ็มนอกจากมีลักษณะด้านการเกษตรคือ ทนต่อโรค แมลง ยากำจัดวัชพืชและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมแล้ว ลักษณะด้านคุณภาพ เช่น รสชาติและคุณค่าทางอาหารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมได้ทำให้มีอาหารมีคุณภาพดีขึ้นและช่วยลดการขาดสารอาหารรองของประชากรในประเทศที่กำลังพัฒนา สารอาหารเป็นสิ่งที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้โดยเฉพาะเพื่อประชากรยากจนที่ขาดสารอาหาร การเพิ่มสารอาหารรองในอาหารประจำท้องถิ่น (Staple foods) อาจทำได้ 4 วิธีคือ (1) เพิ่มแร่ธาตุและวิตามินในอาหารประจำท้องถิ่นด้วยการผสมพันธุ์พืชแบบดั้งเดิม (2) เพิ่มแร่ธาตุและวิตามินด้วยการใส่ยีนที่มีรหัสสำหรับโปรตีนที่มีพันธะกับธาตุรอง (3) ลดระดับของสารยับยั้งหรือสารต้านการดูดซึมสารอาหาร (4) เพิ่มสารประกอบที่จะไปเพิ่มสภาพพร้อมใช้ทางชีวภาพของสาร  (Darnton-Hill, I., Margettes, B., and Deckelbaum, R., 2004)

              4. ผลทางด้านสิ่งแวดล้อม (Effect on environment) แม้ว่าพืชอาหารจีเอ็มจะให้คุณประโยชน์ในด้านการเกษตร เกษตรกรและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาแต่เทคโนโลยีนี้ก็ไม่ได้ปราศจากความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ยังคงมีความกลัวว่าจะมีผลต่อ คน สัตว์ วงจรชีวิตพืช ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม แม้ว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดแต่ก็ยังมีความคิดว่าอาจมีได้ในอนาคต สิ่งที่คำนึงมากเรื่องสิ่งแวดล้อมคือ การเคลื่อนย้ายยีนจากพืชจีเอ็มไปยังพืชที่ไม่ใช่จีเอ็มของพืชชนิดเดียวกันหรืออาจข้ามชนิด บ้างก็อ้างว่าการที่พืชจีเอ็มทนต่อยากำจัดวัชพืช ทำให้เกิดวัชพืชที่ดื้อยาขึ้นเรียกว่า “Super weed” หรือการทำให้แมลงปรับตัวให้ทนทานต่อยากำจัดแมลง (GAO, 2002 ; Thomson, J., 2003)