ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       เครื่องดื่มสมุนไพร เป็นเครื่องดื่มที่ได้จากการใช้ส่วนประกอบต่างๆ ของพืช เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชต่างๆ  นำมาแปรรูปให้เหมาะสมตามฤดูกาล แต่เดิมพืชที่นำมาทำเป็นเครื่องดื่มมักจะเก็บมาสดๆ และใช้ทันที ทำให้มีความสด และคงคุณค่าตามธรรมชาติ ต่อมาเครื่องดื่มสมุนไพรได้ถูกการพัฒนาให้มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น โดยนำวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต มีการบรรจุในภาชนะแบบต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายต่อ การบริโภคในชีวิตประจำวัน เครื่องดื่มสมุนไพรมีประโยชน์ทางยา มีคุณค่าทางอาหาร และช่วยในการป้องกันโรค โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน เหงื่อออกมาก การได้ดื่มน้ำสมุนไพรจะช่วยให้จิตใจชุ่มชื่น รู้สึกสบาย เนื่องจากเครื่องดื่มสมุนไพรบางชนิดสามารถช่วยผ่อนคลายความร้อน ทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง บางชนิดช่วยบำรุงหัวใจ บางชนิดมีคุณสมบัติช่วยย่อย ทำให้ธาตุปกติและฟอกเลือด เครื่องดื่มสมุนไพรจึงเปรียบเป็นยาที่ช่วยบำรุง ปกป้องรักษาสภาวะร่างกายให้เกิดสมดุล ทำให้ส่งผลดีต่อสุขภาพ

(ที่มา : http://www.bd-healthcare.com/e-health/detail.php?id=121)
 
       ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพประเภทเครื่องดื่มสมุนไพรได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเครื่องดื่มสมุนไพรที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ได้แก่ 
       1. น้ำกระเจี๊ยบ เป็นเครื่องดื่มที่ได้มาจากกลีบเลี้ยงของดอก ใช้ได้ทั้งดอกสดและแห้ง ถ้าสดจะมีสีสวย แต่ถ้าแห้งน้ำจะเป็นสีแดงคล้ำ ในกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบมีกรดอินทรีย์หลายชนิด ทำให้กระเจี๊ยบมีรสเปรี้ยว รวมทั้งยังประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม วิตามินซี เป็นต้น มีสรรพคุณช่วยรักษาอาการร้อนในภายในช่องปาก แก้อาการกระหายน้ำ ลดปริมาณไขมันในเส้นเลือด ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ลดระดับความดันโลหิตภายในร่างกายให้กลับเข้าสู่ระดับปกติ เป็นยาระบายอ่อนๆ ขับปัสสาวะ บำรุงสายตา และบำรุงกระดูกและฟัน 
       2. น้ำเก็กฮวย เป็นเครื่องดื่มที่ได้มาจากดอกเก็กฮวยแห้ง ดอกเก็กฮวยประกอบด้วยสารเคมีที่สำคัญ ได้แก่ สารอะดีนีน (Adenine) สารโคลีน (Choline) สารสตาไคดรีน (Stachydrine) และน้ำมันหอมระเหย ซึ่งจะให้รสขม มีสรรพคุณดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ เนื่องจากมีฤทธิ์เย็น ช่วยระบบการย่อยอาหาร เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยรักษาและป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ช่วยขยายหลอดเลือด ลดการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคความดันโลหิตสูง
                 
 
                                                     (ที่มา : http://nlovecooking.com/gumbo-juice/)                                  (ที่มา : http://halsat.com/เก๊กฮวย/)
 
       3. น้ำมะตูม เป็นเครื่องดื่มที่ได้มาจากผลแห้ง มะตูมประกอบด้วยสารเพคติน (Pectin) สารเมือก (Mucilage) และสารแทนนิน ซึ่งจะให้รสฝาด รวมถึงมีสารรสขม ได้แก่ สารคูมาริน (Coumarin) และสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) มีสรรพคุณแก้ท้องเสีย แก้บิด ขับลม ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร บำรุงธาตุ ขับเสมหะ และแก้อาการร้อนใน 

       4. น้ำอัญชัน เป็นเครื่องดื่มที่ได้มาจากดอก  ในดอกอัญชันมีสารสำคัญชนิดหนึ่ง คือ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็น แก้อาการตาฟาง ตามัว หรือภาวะการเสื่อมของดวงตาที่มาจากโรคเบาหวาน โรคต้อหิน โรคต้อกระจก และมีหน้าที่ไปช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

                                  

                                    (ที่มา : https://www.ranongshop.com/น้ำมะตูม-เครื่องดื่มสมุ/)                           (ที่มา : http://www.tan-kao.com/1656/)
 
       5. น้ำใบบัวบก เป็นเครื่องดื่มที่ได้มาจากต้นบัวบกสด ประกอบด้วยวิตามินเอ วิตามินบี 1 และแคลเซียมในปริมาณสูง มีสรรพคุณช่วยแก้ช้ำใน ทำให้หายฟกช้ำ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ลดอาการปวดศีรษะข้างเดียว บำรุงสมอง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า แก้ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็ง ลดอาการอักเสบและรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยให้การไหลเวีนยของโลหิตดี ทำให้เลือดแข็งตัวเร็ว ช่วยขับปัสสาวะ และบำรุงสายตา
       6. น้ำขิง เป็นเครื่องดื่มที่ได้มาจากขิงสด ซึ่งเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในหลายๆ ด้าน เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี เบต้าแคโรทีน เหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส รวมทั้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเส้นใยเป็นจำนวนมาก น้ำขิงมีสรรพคุณแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม และขับเสมหะ แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน เมารถเมาเรือ ช่วยเจริญอาหาร ลดการจับตัวของลิ่มเลือด ช่วยย่อยอาหารโดยเพิ่มการหลั่งน้ำดีและน้ำย่อยต่างๆ ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยต้านมะเร็ง
 
                                       
 
                       (ที่มา : https://thailandjuicer.com/what-is-lorem-ipsum/น้ำใบบัวบก/)                       (ที่มา : http://www.motherandcare.in.th/
                                                                                                                                                            5สูตรแก้หวัดดีจริงน้ำขิงยังมาแรง)
 
       ทั้งนี้ การดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรที่ดีเพื่อให้เกิดคุณประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย ผู้บริโภคควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
              - ควรดื่มแบบจิบช้าๆ และดื่มทันทีที่ปรุงเสร็จ เพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารและยา
              - ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรชนิดเดียวติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เพราะอาจทำให้เกิดการสะสมสารบางชนิดที่มีฤทธิ์ต่อร่างกายได้
              - หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรร้อนๆ ที่มีอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ขึ้นไป เพราะทำให้เยื่อบุผิวหลอดอาหารเสียสภาพภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ และอาจทำให้มีการดูดซึมสารก่อมะเร็ง จุลินทรีย์ ได้ง่าย
              - หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มสมุนไพรที่ใส่น้ำตาลหรือมีสรหวานมากเกินไป เนื่องจากทำให้อ้วน แต่หากดื่มแบบไม่ใส่น้ำตาลก็จะได้รับคุณค่าจากสมุนไพรนั้นได้โดยตรง 
 
เอกสารอ้างอิง
จริยา  เดชกุญชร. น้ำกระเจี๊ยบ น้ำใบบัวบก. เครื่องดื่มและน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
       กรุงเทพฯ : เพชรการเรือน, 2547, หน้า 18-19, 42.
พินิจ  จันทร และคณะ. น้ำเก็กฮวย น้ำมะตูม น้ำขิง น้ำอัญชัน. เครื่องดื่มสมุนไพรอินเทรนด์
       กรุงเทพฯ : ปัญญาชน, 2554, หน้า 20-21, 35-36, 97, 189-193.
อรนุช  หงษาชาติ. น้ำสมุนไพร. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2560]  
       เข้าถึงจาก : http://www.eto.ku.ac.th/neweto/e-book/plant/herb_gar/wt_herb.pdf
Today Health สุขภาพดี มีได้ทุกวัน. สรรพคุณของน้ำสมุนไพร. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2560]  
       เข้าถึงจาก : http://www.todayhealth.org/food-health/สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/สรรพคุณของน้ำสมุนไพร.html