บัวหลวง (Lotus) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Nelumbo nucifera Gaertn. ชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น โกกระณต บัว บัวอุบล บัวฉัตรขาว บัวฉัตรชมพู บัวฉัตรสีชมพู บุณฑริก ปุณฑริก ปทุม ปัทมา สัตตบงกช สัตตบุษย์ หรือเขมรเรียก โช้ค เป็นต้น ซึ่งต้นบัวหลวงนั้นมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์และมีชื่อเรียกที่ไม่เหมือนกัน นอกจากจะนำดอกบัวไปไหว้พระแล้ว ส่วนต่างๆ ของบัวยังสามารถนำมารับประทานได้อีกด้วย เนื่องจากมีประโยชน์และสรรพคุณมากมายหลายอย่าง
ที่มา : http://www.เกร็ดความรู้.net/บัวหลวง/
สำหรับต้นบัวหลวงนั้นจัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุยืนหลายปี เติบโตได้ดีในดินเหนียว โดยลำต้นของบัวหลวงนี้สามารถอยู่ได้ทั้งใต้ดินและน้ำ โดยมีเหง้าเป็นท่อนยาวๆ เมื่อนำมาตัดแนวขวางจะเป็นรูกลมๆ หลายรู และมีไหลบัวที่สามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ ซึ่งโดยปกติสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งการใช้เมล็ดและการแยกไหลบัว ส่วนใบนั้นจะออกเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ขอบเรียบเป็นคลื่น เมื่อเป็นใบอ่อนจะลอยอยู่ปริ่มน้ำ แต่เมื่อเป็นใบแก่จะชูขึ้นพ้นน้ำ และดอกนั้นจะออกเป็นดอกเดี่ยวมีทั้งสีชมพูหรือขาว ซึ่งกลีบของดอกบัวหลวงนี้จะมีเยอะเรียงแบบซ้อนชั้นกันอยู่ ส่วนฝักบัวนั้นภายในมีผลอ่อนจำนวนมาก โดยมีผลทรงกลมรีเป็นกลุ่มหลายเมล็ดอยู่บริเวณฝักรูปกรวยภายในดอก และมีดีบัวอยู่ในเม็ดบัว ซึ่งดีบัวนี้จะไม่มีกลิ่นแต่มีรสชาติขมมาก ซึ่งดอกและผลของบัวหลวงนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม
ที่มา: http://buasapatprayod.blogspot.com/2016/02/blog-post_8.html
ส่วนต่างๆ ของบัวหลวงมีคุณค่าในเรื่องของการประกอบอาหาร และในเรื่องของการนำมาใช้เป็นยา ทางด้านเภสัชวิทยาพบว่า มีสารที่เป็นตัวยาสำคัญๆ เช่น สาร nuciferine มีฤทธิ์กดประสาท ต้านการอักเสบ ลดไข้ แก้ไอ และมีผลในการยับยั้งการหลั่งสาร serotonin โดยพบสรรพคุณต่างๆ ของบัวหลวงมีดังนี้
- ใบอ่อน ช่วยบำรุงร่างกายให้ชุ่มชื้น ให้รสฝาดเปรี้ยว
- ใบแก่ ช่วยบำรุงโลหิต แก้ไข้ และแก้ริดสีดวงจมูก ให้รสฝาดเปรี้ยวเมาเล็กน้อย
- ดอก ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ ทำให้คลอดลูกได้ง่าย และแก้ไข้ แก้เสมหะและโลหิต ให้รสฝาดหอม
- เกสร ช่วยบำรุงครรภรักษา แก้ไข้รากสาด รวมทั้งแก้ไข้จากพิษร้อน และชูกำลังให้แข็งแรง ให้รสฝาดหอม
- ฝัก ช่วยแก้อาการท้องเสีย ขับรก และแก้พิษจากเห็ดเมา ให้รสฝาดหอม
- เมล็ด ช่วยแก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงไขข้อ รวมทั้งแก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยให้กระชุ่มกระชวย ตลอดจนขับเสมหะ แก้ดีพิการ หรือพุพอง และแก้อาเจียน เพิ่มไขมันในร่างกาย ให้รสหวานมัน
- เปลือกฝัก ช่วยสมานแผลในมดลูก และแก้ท้องเดิน ให้รสฝาดหอม
- ดีบัว ช่วยแก้กระหายน้ำ ขยายหลอดเลือดหัวใจ และแก้น้ำกามเคลื่อนขณะนอนหลับ ให้รสขม
- เปลือกหุ้มเมล็ด ช่วยคุมธาตุ สมานแผล และแก้ท้องร่วง ให้รสฝาด
- ก้านดอก ช่วยแก้ริดสีดวงจมูก ให้รสเย็นเมา
- เหง้า (ราก) ช่วยบำรุงกำลัง ขับเสมหะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ รวมทั้งแก้ดีพิการ หรือพุพอง แก้อาเจียน มีฤทธิ์เป็นยานอนหลับ ลดไข้ ลดอาการเกร็งของลำไส้เล็ก ให้รสหวานเย็นมัน
นอกจากจะมีสรรพคุณทางยาแล้ว บัวหลวงในส่วนต่างๆ ยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวานและอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่
- รากบัวหลวง (เหง้าบัว) สามารถนำใช้ปรุงเป็นอาหารได้ทั้งคาวหวาน เช่น เหง้าบัวผัดน้ำมัน เหง้าบัวอ่อนต้มหรือตุ๋นกระดูกหมูกับเครื่องยาจีน นำมาเชื่อมแห้งรับประทานเป็นของหวาน ทำเป็นน้ำรากบัว หรือนำมาต้มเป็นน้ำสมุนไพรรากบัว
- ไหลบัว (หลดบัว) สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งสดและแห้ง เช่น การนำมาทำแกงเลียง แกงส้ม ต้มกะทิ ผัดเผ็ดต่าง ๆ ฯลฯ
- สายบัว นำมาปรุงเป็นอาหารหรือใช้แทนผักได้หลายชนิด เช่น แกงส้มสายบัวกับปลาทู แกงส้มสายบัว ต้มกะทิปลาทู ฯลฯ
- ดอกนำมาบูชาพระ หรือนำมาใช้ในทางศาสนา เนื่องจากดอกบัวหลวงเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทางพระพุทธศาสนา มีความเกี่ยวข้องโดยตรงสำหรับการบูชาพระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
- กลีบดอกนิยมนำไปทำเมี่ยงดอกบัว ยำดอกไม้ หรือทำเมนูกลีบบัวชุบแป้งทอด
- กลีบดอกแห้ง ในอดีตใช้ม้วนเป็นบุหรี่
- สารสกัดจากเกสรนำมาใช้ทำเป็นเครื่องสำอาง ที่เป็นตัวช่วยชะลอการสร้างเม็ดสีผิว ทำให้ผิวหนังเต่งตึงและอ่อนนุ่ม เช่น ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิวทั้งกลางวันกลางคืน
- เกสรตัวผู้เมื่อนำมาตากแห้ง สามารถใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องยาไทยและจีนได้หลายชนิด เช่น ยาลม ยาหอม ยานัตถุ์ ฯลฯ
- ใบบัวหลวง นำมาใช่สำหรับห่อข้าว ห่ออาหาร ห่อขนม ซึ่งจะช่วยทำเพิ่มความหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้น หรือจะนำห่อผักสดเก็บในตู้เย็น หรือใช้ในงานประดิษฐ์ต่างๆ ส่วนใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดแกล้มกับน้ำพริกได้
- ใบบัวแก่ เมื่อนำมาตากแห้ง ใช้เป็นส่วนผสมของยากันยุง
- ก้านใบและก้านดอกบัว สามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษ และเส้นใยใช้ทำไส้ตะเกียง
- เม็ดบัวทั้งอ่อนและแก่ สามารถนำมารับประทานหรือใช้ประกอบอาหารได้หลากหลาย ที่รู้จักกันดีก็คือ น้ำอาร์ซี ข้าวอบใบบัว เม็ดบัวต้มน้ำตาลทรายแดงผสมในเต้าฮวยหรือเต้าทึ้ง สังขยาเม็ดบัว เม็ดบัวเชื่อม สาคูเม็ดบัว ขนมหม้อแกงเม็ดบัว เป็นต้น และยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นแป้งได้เป็นอย่างดี
- เปลือกบัว นำมาใช้เป็นวัสดุในการปลูกเห็ดชนิดหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “เห็ดบัว”
- เปลือกเมล็ดและฝักแก่ ใช้ทำเป็นปุ๋ย
- เนื่องจากดอกบัวหลวงมีความสวยและมีกลิ่นหอม จึงนิยมปลูกไว้ประดับในสระน้ำหรือปลูกไว้ในกระถางทรงสูง
ที่มา : http://program.thaipbs.or.th/MhoKhaoMhoGang/episodes/31885
ที่มา : http://www.thaicookingmenu.com/ ที่มา : http://www.siamarcheep.com ที่มา : https://www.wongnai.com/restaurants/277608zz- แกงส้มไหลบัวกุ้งสด/ /รากบัวเชื่อม.html red-lotus-cafe-ตลาดทุ่งบัวแดง-บางเลน
บัวหลวงนับเป็นพันธุ์ไม้น้ำอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณค่า ที่มีประโยชน์ในด้านของปัจจัย 4 ที่มนุษย์ทุกคนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย ทั้งในด้านการบริโภคโดยตรง หรือการนำมาใช้ในส่วนประกอบของยา ในการรักษาโรคต่างๆ และนำมาประกอบอาหารหลากหลายได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากคนไทยมองเห็นความสำคัญและสามารถปรับปรุงพันธ์ของบัวหลวงให้มีความพิเศษในด้านการสกัดสารมาใช้ประโยชน์ บัวหลวงก็น่าจะเป็นพืชที่มีคุณค่าแก่วงการแพทย์ได้เป็นอย่างดี
เอกสารอ้างอิง
ไทยเกษตรศาสตร์. บัว…พืชเป็นยาและอาหาร. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 23เมษายน 2561] เข้าถึงจาก
http://www.thaikasetsart.com /บัว-พืชเป็นยาและอาหาร/
บัวหลวง ประโยชน์และสรรพคุณของบัวหลวง.[ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 20เมษายน 2561] เข้าถึง
จากhttp://www.เกร็ดความรู้.net/บัวหลวง/
บัวหลวง.[ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 23เมษายน 2561] เข้าถึงจาก https://guru.sanook.com/2448/
บัวหลวง.[ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 24เมษายน 2561] เข้าถึงจาก http://herbalbeauty9
.blogspot.com/2016/07/blog-post_62.html