ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ พัฒนาสินค้า OTOP เมืองลับแล ผลิตกระยาสารทจากทุเรียนป่น เพิ่มมูลค่าสินค้าได้ 5 เท่า พร้อมพัฒนาบรรจุภัณฑ์และกระบวนการผลิตข้าวแคบ เตรียมวางขายบนห้างสรรพสินค้า
นายณัชนพงศ์ วชิรวงศ์บุรี รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP อาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่จังหวัดอุตรดิตถ์ ตาก เพชรบูรณ์ และจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 12 ราย โดยจัดอบรมและให้คำปรึกษาเชิงลึก พร้อมสนับสนุนการปรับปรุงสถานที่ผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรอง อย. และร่วมกับหลายหน่วยงานต่อยอดพัฒนาบรรจุภัณฑ์และหาตลาดรองรับ หรือสถานที่จำหน่ายสินค้า เช่น ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม เป็นต้น
ด้านนางสุดาวัลย์ สืบจ้อน อายุ 42 ปี บ้านเลขที่ 14 หมู่ 9 ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์กระยาสารททุเรียน ซึ่งใช้ทุเรียนป่นที่กรองออกจากทุเรียนหมอนทองทอด เดิมจำหน่ายได้ราคาถูก กิโลกรัมละ 100 บาท เมื่อนำมาผลิตเป็นกระยาสารทแทนข้าว ซึ่งรสชาติดี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และเก็บได้นาน สามารถเพิ่มมูลค่าเป็นกิโลกรัมละ 500 บาท โดยจะจำหน่ายเป็นของฝาก ราคากล่องละ 35 บาท หรือ 3 กล่อง 100 บาท
นางถวิล อินทรัพย์ บ้านเลขที่ 2/5 หมู่ 2 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล สมาชิกกลุ่มข้าวพันผักภูมิลับแล กล่าวว่า ข้าวแคบเป็นอาหารภูมิปัญญาลับแล สามารถรับประทานเป็นของว่าง พันหมี่ พันข้าวเหนียว เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ถุงธรรมดารัดตอก ทำให้โดนลมแล้วแข็ง แห้ง เสียรสชาติและสถานที่ตากไม่ได้มาตรฐานมีแมลงตอม ซึ่งโครงกานี้ได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นถุงซิปล็อคและพัฒนาสถานที่ตากบนตระแกรงมีมุ้งลวดครอบมิดชิด ขณะนี้อยู่ระหว่างขอ อย. เพื่อขยายช่องทางการตลาด วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าต่อไป
 
ที่มา : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : http://nwnt.prd.go.th