ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

      

 

      

 

12 มีนาคม 2562 นางสาวอุราวรรณ อุ่นแก้ว รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานนำคณะทำงานตรวจติดตามและประเมินผลโครงการ OTOP และ SMEs ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการในจังหวัดพัทลุง เพื่อติดตามการดำเนินงานตามเป้าหมายการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP โดยลงพื้นที่ กลุ่ม Honey Vee (นางวีรยา สะมานะ) ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน กลุ่มเครื่องแกงบ้านศาลาตำเสา (นายอนนท์ พงศาปาน) ตำบลชะมวง อำเภอควนขนุน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งยาวพัฒนา (นางสุนีย์ สุขรัตน์) ตำบลโคกม่วง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง

                    นางสาวอุราวรรณ อุ่นแก้ว กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ด้วยการปรับปรุงคุณภาพและวิธีการผลิต และผลักดันให้นำผลิตภัณฑ์ไปขอการรับรองมาตรฐาน โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ของกลุ่ม Honey Vee ที่พบว่า หลังจากผู้ประกอบการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรที่ถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด และได้รับการให้คำปรึกษาเชิงลึกจากนักวิทยาศาสตร์ของกรมฯ ในการเลือกวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สบู่กลีเซอรีน พร้อมทั้งการปรับปรุงสถานที่ผลิต และได้ทำการปรับสูตรผลิตภัณฑ์สบู่กลีเซอรีนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนด ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการได้ผ่านการพิจารณาระบบการจดแจ้งออนไลน์ (อย.) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการยื่นขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

                   สำหรับกลุ่มเครื่องแกงบ้านศาลาตำเสา และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งยาวพัฒนา พบว่า หลังจากการเข้ารับการอบรมในหลักสูตรการยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงโดยใช้เทคโนโลยีเฮอร์เดิล การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้ศาสตร์การปรุงอาหารแนวใหม่: Molecule Gastronomy และการบริหารจัดการเรื่องต้นทุน logisticและวัตถุดิบ ตลอดจนการเข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ด้าน วทน. มาประยุกต์ใช้กับการผลิตเครื่องแกง สามารถช่วยควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้สดใหม่ ช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถรักษาสภาพเนื้อสัมผัสไม่ให้ถูกทำลาย ลดระยะกระบวนการผลิต สามารถยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงได้นานมากกว่า 3 เดือน และยังสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์เครื่องแกงของผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถคำนวณต้นทุนการผลิต ทำให้สามารถจัดการด้านบริหารต้นทุน วิเคราะห์ธุรกิจของตน และบริหารต้นทุนได้ โดยเฉพาะการบริหารต้นทุนโลจีสติกส์เป็นกลยุทธ์สำคัญช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนและทำกำไรได้เพิ่มขึ้น

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ฝ่ายประชาสัมพันธ์  สำนักงานเลขานุการกรม 

กรมวิทยาศาสตร์บริการ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี