บทนำ
ปลาสลิดมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ไตรโคแกสเตอร์ เพคโตราลิส (Trichogaster pectoralis) มีชื่อสามัญว่า ซีปัด-ไซแอม (Sepat-Siam) เป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาวะต่างๆ ได้ดี เช่น ทนต่อความเป็นกรดของดินและน้ำ ทนต่อสภาพน้ำเค็ม ทนต่อสภาพที่มีออกซิเจนต่ำได้ดี และค่าใช้จ่ายในการลงทุนก็ไม่สูงมากนัก อีกทั้งในปัจจุบัน ผู้บริโภคนิยมรับประทานปลาสลิดมากขึ้น เนื่องจากมีรสชาติดี มีกลิ่นคาวน้อยกว่าปลาชนิดอื่น และยังมีแนวโน้มในการส่งออกไปยังต่างประเทศที่สูงขึ้น (สภาผู้แทนราษฎร, 2544) ด้วยเหตุนี้เกษตรกรจึงมีความสนใจในการเพาะเลี้ยงปลาสลิดกันอย่างแพร่หลาย
ปลาสลิดเป็นปลาที่ไม่นิยมรับประทานสด แต่นิยมนำมาทำเค็มและตากแห้ง อย่างไรก็ตาม หากมีกรรมวิธีในการแปรรูป การเก็บรักษาหรือมีสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม เช่น อยู่ในอุณหภูมิสูง เกิดการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ หรือจากสัตว์ก่อโรคต่างๆ ย่อมทำให้ปลาสลิดที่ผ่านการแปรรูปแล้วเสียได้ง่าย กรรมวิธีในการแปรรูปและการเก็บรักษา จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ปลาสลิดสามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน ไม่เสียง่าย ดังนั้นการแปรรูปปลาสลิดจะต้องมีกรรมวิธีที่ถูกต้องและการเก็บรักษาที่ถูกวิธี เพื่อยืดอายุของปลาสลิดให้นานที่สุด นอกจากการนำปลาสลิดมาแปรรูปในลักษณะการทำเค็มหรือตากแห้งแล้ว ยังมีการนำมาทำผลิตภัณฑ์จากปลาสลิดประเภทอื่นๆ ได้แก่ ปั้นสิบไส้ปลาสลิด คุกกี้ทองม้วนสอดไส้ปลาสลิด ทองพับสอดไส้ปลาสลิด น้ำพริกตาแดงปลาสลิด ปลาสลิดทอดกรอบบางบ่อ เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น
- Prev
- Next >>