ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

 

บทนำ

              ปัจจุบันการใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสนใจอย่างสูง  หนึ่งในนั้นคือ สารพอลิเมอร์ธรรมชาติ (natural polymer) ได้แก่ สารพอลิแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) ที่มาจากผลผลิตทางการเกษตรหรือเปลือกแข็งของสัตว์น้ำที่เหลือทิ้ง เช่น เซลลูโลส (cellulose) แป้ง เพกติน (pectin) รวมทั้งไคตินและไคโตแซน (chitin and chitosan) ประโยชน์และข้อดีของสารพอลิเมอร์ธรรมชาติดังกล่าวมีหลายประการ เช่น ผลิตจากวัตถุดิบที่มีอยู่มากมายในธรรมชาติทั้งจากผลผลิตทางการเกษตรหรือผลิตผลทางทะเล  นอกจากนี้สารพอลิเมอร์ธรรมชาติยังเข้ากับธรรมชาติได้ดีและย่อยสลายได้เองจึงมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถดัดแปลงโดยใช้ปฏิกิริยาทางเคมีหรือเอนไซม์ให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้งานเฉพาะอย่างได้  ซึ่งไคตินและไคโตแซนเป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติที่น่าสนใจ สามารถผลิตได้จากเปลือกแข็งของสัตว์น้ำจำพวกกุ้งและปูเป็นหลัก  และยังสามารถสกัดไคตินและไคโตแซนโดยใช้จุลินทรีย์จำพวกพวกเห็ดรา (fungi) ได้ด้วย

              ไคโตแซน เป็นอนุพันธ์ของไคตินและผลิตได้จากปฏิกิริยาการกำจัดหมู่แอซิติลของไคตินไคโตแซนมีองค์ประกอบเป็นกลูโคซามีน (glucosamine) และเอ็น-แอซิติลกลูโคซามีน (N-acetyled glucosamine) เชื่อมต่อกันเป็นสายพอลิเมอร์ด้วยพันธะ (1-4) - กลูโคสิดิก [(1-4) glucosidic bonds]  ทั้งปริมาณและลำดับของหน่วยย่อยเหล่านี้เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติต่างๆ ของไคโตแซน  ไคโตแซนที่ผลิตได้มีหลายรูปแบบและมีคุณสมบัติต่างกันออกไป สามารถถูกดัดแปลงโครงสร้างเกิดเป็นอนุพันธ์ของไคโตแซนได้หลายชนิด ไคโตแซนและอนุพันธ์ของไคโตแซนได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายทั้งในด้านเกษตรกรรม  อาหาร  ยาและวัสดุศาสตร์ เป็นต้น  ในด้านอาหารไคโตแซนได้ถูกนำมาใช้โดยการเติมลงในผลิตภัณฑ์หรือใช้เคลือบผิวเพื่อถนอมคุณค่าและยืดระยะเวลาของการเก็บรักษา  มีงานวิจัยมากมายที่ได้ทำการศึกษาถึงประโยชน์ของการใช้ไคโตแซนในอาหาร รายงานฉบับนี้ได้รวบรวมรายละเอียดของแหล่งวัตถุดิบ  กระบวนการผลิตและคุณสมบัติที่สำคัญของไคโตแซน  ตลอดจนข้อมูลการนำไคโตแซนมาใช้ประโยชน์เพื่อรักษาคุณค่าและยืดอายุของการเก็บรักษาอาหารและเครื่องดื่ม