ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

การวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหย (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, 2548) 

              น้ำมันหอมระเหยประกอบด้วยองค์ประกอบทางเคมีหลายชนิดแตกต่างกันไป  ในการวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหย  สามารถทำได้หลายวิธี  ที่นิยมนำมาใช้ในการวิเคราะห์  ได้แก่

              1. แก๊สโครมาโทกราฟี่  (Gas Chromatography, GC)  (Prats, MS., and Jimenez, A., 2010) 
              เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยมากที่สุด คอลัมน์ที่นิยมใช้เป็นแบบ  capillary  ภายในจะบรรจุและเคลือบด้วยเฟสนิ่ง  (stationary  phase)  เช่น  DB-1, Carbowax, OV-1, OV-101  ฯลฯ  ในการเลือกชนิดของเฟสนิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะจะมีผลต่อประสิทธิภาพในการแยกสารและการวิเคราะห์  หากเลือกไม่เหมาะสมอาจเกิดความผิดพลาดและทำให้การวิเคราะห์เป็นไปได้ยาก  เครื่องตรวจวัดที่นิยมใช้ได้แก่  FID (The Flame Ionization Detector)  ใช้สำหรับตรวจและวัดปริมาณขององค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยบางชนิด  
              2. High Performance Liquid Chromatography (HPLC)  
              เป็นเทคนิคอีกชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีในน้ำมันหอมระเหย  แต่ไม่เป็นที่นิยมใช้มากนัก  ส่วนใหญ่จะใช้คอลัมน์ชนิด normal phase  
              3. การใช้เทคนิค Hyphenated  และ  Multidimensionnal  gas  chromatography
              Hyphenated  หรือ  Multidimensionnal  เป็นเทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น  และเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้  (Prats, MS., and Jimenez, A., 2010)  เป็นการนำเทคนิคตั้งแต่ 2 เทคนิคขึ้นไปมาวิเคราะห์หาองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหย  โดยอาจนำเครื่องมือชนิดเดียวกันมาต่อพ่วงเข้าด้วยกัน  เช่น  GC-MS  เป็นเทคนิคที่นิยมใช้มากที่สุด  เพื่อเป็นการตรวจสอบและยืนยันผลที่ได้จากการวิเคราะห์ครั้งแรกด้วย  GC-FID
              4. Nuclear Magnetic Resonance Spectroscopy (NMR)
              เป็นเทคนิคที่ใช้ในการศึกษาโครงสร้างของสารในน้ำมันหอมระเหย  โดยดูจากค่าการดูดกลืนพลังงานเรโซแนนซ์ของอะตอมของโปรตอนและคาร์บอนในโมเลกุลของสารนั้นๆ