ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหย  (Methods  of  Extraction)  (Mcguinness, H., 2003)
              การสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชธรรมชาติมีหลายวิธีด้วยกัน  โดยการเลือกวิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยจะต้องพิจารณาลักษณะและปัจจัยต่างๆร่วมด้วย  ตัวอย่างเช่น  ส่วนของพืชที่นำมาสกัด  คุณสมบัติทางเคมีและกายภาพของน้ำมันหอมระเหยที่ต้องการ  วัตถุประสงค์ของการนำน้ำมันหอมระเหยไปใช้  ฯลฯ  วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยสามารถแบ่งออกได้  ดังต่อไปนี้  
              1. การกลั่น  (Distillation)  (ฐาปนีย์ หงส์รัตนาวรกิจ, 2550)  
              วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย  เพราะเป็นวิธีที่ประหยัดและสามารถใช้แยกน้ำมันหอมระเหยได้เกือบทุกชนิด  สิ่งที่สำคัญที่ต้องควบคุมในการกลั่น  คือ  ระยะเวลาและอุณหภูมิ  เพราะจะส่งผลถึงคุณภาพและกลิ่นของน้ำมันที่ได้  การกลั่นแบ่งออกได้  3  วิธี  คือ
                    1.1 การกลั่นด้วยน้ำ  (water  distillation / hydrodistillation)  
                    นิยมใช้กับพืชที่มีองค์ประกอบทางเคมีไม่สลายตัวเมื่อถูกความร้อน  โดยการนำพืชที่ต้องการกลั่นมาใส่ในหม้อกลั่น  แล้วเติมน้ำจนท่วมพืช  ต้มจนน้ำเดือด  เมื่อน้ำเดือดระเหยเป็นไอ  ไอน้ำจะช่วยพาน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในเนื้อเยื่อพืชออกมา  เมื่อผ่านเครื่องควบแน่น  ไอน้ำและไอของน้ำมันหอมระเหยจะควบแน่นเป็นของเหลว  ได้เป็นน้ำและน้ำมันหอมระเหยแยกออกจากกัน  ข้อเสียของวิธีนี้ คือ  ในกรณีที่ต้องกลั่นพืชปริมาณมากๆ  ความร้อนที่ให้สู่หม้อกลั่นจะไม่สม่ำเสมอตลอดทั้งหม้อกลั่น  ก่อให้เกิดการไหม้หรือการสลายตัวขององค์ประกอบบางชนิดทำให้กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยเปลี่ยนไป  หรืออาจมีกลิ่นของภาชนะติดมาด้วย(สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, 2548)  สำหรับการกลั่นพืชปริมาณน้อยๆ ในห้องปฏิบัติการ เราสามารถทำได้ โดยใช้ชุดกลั่นที่ทำจากเครื่องแก้ว เรียกว่า ชุดกลั่นชนิด Clevenger  
                    1.2 การกลั่นด้วยน้ำและไอน้ำ  (water  and  steam  distillation)
                    นิยมใช้กับพืชที่มีองค์ประกอบทางเคมีสลายตัวเมื่อถูกความร้อนโดยตรง  ทำโดยนำพืชที่ต้องการกลั่นมาวางบนตะแกรงที่อยู่เหนือหม้อต้มน้ำ  ให้ความร้อนจนน้ำเดือดกลายเป็นไอน้ำ (ฐาปนีย์ หงส์รัตนาวรกิจ, 2550)  ไอน้ำจะช่วยพาน้ำมันหอมระเหยแล้วควบแน่นกลับมาเป็นน้ำกับน้ำมันหอมระเหย  (ดังรูปที่ 3)  การกลั่นโดยวิธีนี้  อาจเรียกว่า  Wet  steam  พืชที่ใช้กลั่นโดยวิธีนี้จะมีคุณภาพดีกว่าวิธีแรก  
 
 
(ที่มา : http://www.tistr.or.th/pharma/Essen_ext.htm)
รูปที่3 แสดงลักษณะของเครื่องกลั่นด้วยน้ำและไอน้ำ
 
                    1.3 การกลั่นด้วยไอน้ำ  (steam  distillation)
                    ทำโดยการนำพืชที่ต้องการกลั่นมาวางบนตะแกรงที่อยู่เหนือหม้อกลั่นให้ผ่านความร้อนจากไอน้ำ  ไอน้ำจะเป็นตัวพาน้ำมันหอมระเหยในพืชระเหยออกมาอย่างรวดเร็ว  ข้อดีของวิธีนี้คือ  ใช้เวลากลั่นสั้นและน้ำมันหอมระเหยที่ได้มีคุณภาพและปริมาณสูงกว่าสองวิธีแรก  พืชที่ไม่เหมาะสมในการกลั่นด้วยวิธีนี้คือ  ส่วนของพืชที่มีลักษณะบาง  เช่น  กลีบกุหลาบ  ควรใช้วิธีการสกัดโดยใช้ไขมันจะเหมาะสมกว่า  (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, 2548)  (ดังรูปที่ 4)
 
(ที่มา : Mcguinness, H., 2003)  
รูปที่4 แสดงลักษณะของเครื่องกลั่นด้วยไอน้ำ
 
              2. การสกัดโดยใช้ตัวทำละลาย  (Solvent  extraction)
              วิธีนี้จะทำให้ได้น้ำมันหอมระเหยที่มีความเข้มข้นสูง  (สิริลักษณ์ มาลานิยม, 2545)  โดยตัวทำละลายที่นิยมใช้  ได้แก่  ปิโตรเลียมอีเทอร์  เบนซีนหรือเฮกเซน  ซึ่งจะสกัดสารหอมจากพืชออกมา  ซึ่งจะมีไข  สารสีและแอลบูมินออกมาด้วย  นำสารที่สกัดได้ไประเหยไล่ตัวทำละลายออกที่อุณหภูมิต่ำภายใต้ระบบสุญญากาศ  จะได้ส่วนที่เรียกว่า  concrete  (ดังรูปที่ 5)  (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, 2548)  เราสามารถนำ  concrete  ไปใช้ในการแต่งกลิ่นสบู่ได้  แต่ไม่นิยมใช้ในน้ำหอมเพราะยังไม่บริสุทธิ์เพียงพอ  (ฐาปนีย์ หงส์รัตนาวรกิจ, 2550)   วิธีนี้ไม่นิยมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและอาหาร  เนื่องจากยังมีสารละลายที่เป็นพิษตกค้างอยู่  (Prats, MS., and Jimenez, A., 2010)
 
(ที่มา : Mcguinness, H., 2003)  
รูปที่5 แสดงลักษณะของการสกัดด้วยตัวทำละลาย
 
              3. การบีบหรือการบีบเย็น  (Expression/Cold  expression)
              วิธีนี้มักใช้กับพืชตระกูลส้ม  เช่น  ส้ม  มะนาว  มะกรูด  ส้มโอ  โดยการบีบเปลือกของผลไม้ทำให้เซลล์ของพืชแตกออกแล้วปล่อยน้ำมันออกมา  (ฐาปนีย์ หงส์รัตนาวรกิจ, 2550)  เนื่องจากการสกัดด้วยวิธีนี้ไม่ใช้ความร้อนจึงทำให้น้ำมันหอมระเหยที่ได้มีกลิ่นใกล้เคียงกับพืชสด  แต่มีข้อเสียคือ  น้ำมันที่ได้จะมีปริมาณน้อยและไม่บริสุทธิ์  (สิริลักษณ์ มาลานิยม, 2545)
              4. การสกัดโดยใช้ไขมัน  (Enfleurage) 
              วิธีนี้มักใช้กับดอกไม้กลีบบางจำพวกกุหลาบและดอกมะลิ  โดยการนำดอกไม้มาวางทับถาดกระจกที่เกลี่ยด้วยไขมันสัตว์บางๆ  เพื่อให้ไขมันดูดซับสารหอมจากดอกไม้  โดยใช้เวลาประมาณ  1-3  วัน  กระบวนการนี้จะทำซ้ำๆกันจนกระทั่งไขมันดูดสารหอมอย่างเพียงพอ  ไขมันที่ดูดสารหอมนี้เรียกว่า  pommade  นำ  pommade  ไปละลายในแอลกอฮอล์ก็จะได้น้ำมันหอมระเหยออกมา  การผลิตน้ำมันหอมระเหยมักจะสกัดด้วยวิธีนี้มากกว่า 10% 
              5. การสกัดโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์  (Super-critical  carbon  dioxide  extraction)
              วิธีนี้เป็นวิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยแบบใหม่  โดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในรูปของเหลวและแก๊ส  ภายใต้ความดันและอุณหภูมิที่สูง  (Prats, MS., and Jimenez, A., 2010)  โดยใช้ความดันประมาณ  200  atm  ที่อุณหภูมิประมาณ  30oC  น้ำมันหอมระเหยที่ได้จะมีคุณภาพดีและมีความบริสุทธิ์สูง  แต่มีข้อเสียคือ  เครื่องมือมีราคาแพงมาก