ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
คุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยจากพืชแต่ละวงศ์  (ฐาปนีย์ หงส์รัตนาวรกิจ, 2550)  
              จากที่ทราบกันว่า  น้ำมันหอมระเหยเป็นน้ำมันที่สกัดได้จากส่วนต่างๆของพืช  ได้แก่  ดอก  ผล  เปลือกผล  เมล็ด  ใบ  ราก  ลำต้นใต้ดิน  เนื้อไม้  หรือเปลือกไม้  โดยพืชที่มีคุณสมบัติในการให้น้ำมันหอมระเหยมีหลากหลายวงศ์  โดยจะขอยกตัวอย่างพืชบางวงศ์ที่นิยมนำมาใช้เป็นน้ำมันหอมระเหยในการทำสุคนธบำบัด  ซึ่งมีดังต่อไปนี้
              1. พืชวงศ์กะเพรา  (Lamiaceae/Labiatae)  เป็นวงศ์ที่ให้น้ำมันหอมระเหยมากที่สุด  พืชในวงศ์นี้  ได้แก่  กะเพรา  โหระพา  ลาเวนเดอร์  เปเปอร์มินท์  โรสแมรี่  ไธม์  พิมเสน  เป็นต้น  น้ำมันที่ได้ส่วนใหญ่มักมาจากใบ  มีคุณสมบัติในการระงับเชื้อ  ลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ  พืชวงศ์นี้เป็นพืชที่มีความปลอดภัยสูง  ยกเว้นน้ำมันเสจ  (sage  oil)  และน้ำมันฮิสสอพ  (hyssop  oil)  เพราะมีองค์ประกอบพวกคีโตน  หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เป็นพิษต่อระบบประสาท
              2. พืชวงศ์อบเชย  (Lauraceae)  ได้แก่  อบเชย  การบูร  ใบเบย์  เป็นต้น  พืชในวงศ์นี้จะมีกลิ่นแรง  (strong  odor)  และมีกลิ่นฉุน  (penetrating  odor)  ช่วยทำให้เบิกบาน  (uplift)  แต่พืชในวงศ์ส่วนใหญ่ทำให้เกิดพิษสูง  เช่น  ใบเบย์  ขี้เหล็ก  หรือ  sasafias
              3. พืชวงศ์ชมพู่  (Myrtaceae)   ได้แก่  กานพลู  ยูคาลิปตัส  เสม็ดขาว  ทีทรี  น้ำมันเขียว  เป็นต้น  ส่วนใหญ่มาจากใบซึ่งมีคุณสมบัติในการระงับเชื้อ  โดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจ  ต้านไวรัส  (antiviral)  ฝาดสมาน  (antringent)  และบำรุงกำลัง  (tonic)  แต่มีข้อควรระวังในการใช้คือ  อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง 
              4. พืชวงศ์มะลิ  (Oleaceae)  ได้แก่  มะลิซ้อน  มะลิลา  น้ำมันมะลิที่ใช้กันจะเป็นส่วนของ  absolute  หรือเป็นสารสังเคราะห์ของ  jasmones  น้ำมันมะลิมีคุณสมบัติช่วยคลายกล้ามเนื้อ  (relaxant)
              5. พืชวงศ์พริกไทย  (Piperaceae)  ได้แก่  พริกไทยดำ  มีคุณสมบัติระงับปวด  (analgesic)  ขับเสมหะ  (expectorant)  บำรุงกำลังและกระตุ้นระบบประสาท  (nerve-stimulant)
              6. พืชวงศ์หญ้า  (Poaceae/Gramineae)  ได้แก่  ตะไคร้  ตะไคร้หอม  แฝกหอม  เป็นต้น  น้ำมันหอมระเหยจากพืชวงศ์นี้มีคุณสมบัติต้านการอักเสบและบำรุงกำลัง  มีรายงานว่า  แฝกหอมช่วยกระตุ้นระบบประสาทและระบบภูมิคุ้มกัน  (immune  system)
              7. พืชวงศ์กุหลาบ  (Rosaceae)  พืชในวงศ์นี้ชนิดที่ให้น้ำมันหอมระเหย  คือ  Rose  otto  โดยกลิ่นของน้ำมันกุหลาบที่ได้จากการกลั่นด้วยไอน้ำจะมีความหอมหวานน้อยกว่าที่ได้จากการสกัดด้วยตัวทำละลาย  ซึ่งน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการกลั่นจะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มากกว่า
              8. พืชวงศ์ส้ม  (Rutaceae)  น้ำมันหอมระเหยจากพืชวงศ์นี้มีที่มาหลายแหล่ง  ได้แก่  บริเวณเปลือกผล  ได้จากส้ม  มะกรูด  มะนาว  ส้มโอ  เป็นต้น  บริเวณใบและดอก  ได้จาก  bitter  orange  (Citrus   aurantium  var.  amara)
              9. พืชวงศ์ขิง  (Zingiberaceae)  ได้แก่  ขิง  ข่า  ขมิ้นชัน  ขมิ้นขาว  ไพล  ไพลดำ  ฯลฯ  พืชในวงศ์นี้มีลักษณะพิเศษตรงที่ทุกส่วนของต้นจะมีกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยอยู่  บางชนิดมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ  จากงานวิจัยมีการนำตัวอย่างพืชในวงศ์นี้  5  ชนิด  ได้แก่  ข่า  ขมิ้นชัน  ขมิ้นขาว  ไพลและไพลดำ  มาทดสอบพบว่า  พืชที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด  ได้แก่  ขมิ้นชัน (จักรพันธ์ จุลศรีไกวัลและคณะ, 2553)