ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
ฤทธิ์ทางชีวภาพของน้ำมันหอมระเหย  (ฐาปนีย์ หงส์รัตนาวรกิจ, 2550)
              น้ำมันหอมระเหยเข้าสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีสุคนธบำบัดมี  3  วิธีคือ  ผ่านทางผิวหนัง  ผ่านทางระบบทางเดินหายใจหรือการสูดดม  (Mcguinness, H., 2003)  และการรับประทาน  (วิธีการรับประทานไม่นิยมมากนัก  จะพบมากในประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น)  หลังจากน้ำมันหอมระเหยเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะถูกดูดซึมเข้าไปและมีผลต่อระบบต่างๆภายในร่างกาย  (กฤษณา ภูตะคาม, 2553)  ดังนี้  
              1. ฤทธิ์ต่อระบบประสาท  
              น้ำมันหอมระเหยมีผลต่อทั้งระบบประสาทส่วนกลางและส่วนนอก  (peripheral  nervous  system)  โดยส่งผลกระตุ้นระบบประสาททำให้รู้สึกตื่นตัว  มีกำลัง  สดชื่น  นิยมนำมาใช้ในผู้ที่มีอาการซึมเศร้า  รู้สึกหดหู่  อ่อนเพลีย  น้ำมันหอมระเหยที่ใช้ได้แก่  น้ำมันมะลิ  น้ำมันโรสแมรี่  น้ำมันมะนาว
              2. ฤทธิ์ต้านจุลชีพ  (Antimicrobial  effects)
                       -  ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย  น้ำมันหอมระเหยประเภทนี้มีองค์ประกอบสำคัญประเภทสารประกอบฟีนอล  สารประกอบแอลดีไฮด์  สารประกอบแอลกอฮอล์  สารประกอบเอสเทอร์และสารประกอบคีโตน  โดยสาร terpenoids จะยับยั้งการทำงานผนังเซลล์ของเชื้อโดยยับยั้งการส่งผ่านอิเลคตรอน  การเคลื่อนย้ายโปรตีน  ตลอดจนปฏิกิริยาต่างๆของเอนไซม์ทำให้เซลล์ตายได้
                       -  ฤทธิ์ต้านเชื้อรา  มีองค์ประกอบสำคัญของสารประกอบแอลดีไฮด์  น้ำมันหอมระเหยชนิดนี้ได้แก่  น้ำมันเทียนสัตตบุศย์  น้ำมันเทียนข้าวเปลือก  น้ำมันทีทรี  น้ำมันข้าวเปลือก
                       -  ฤทธิ์ต้านไวรัส  องค์ประกอบสำคัญได้แก่  anethole, -caryophyllene, carvone, cinnamic aldehyde,  citral  เป็นต้น  น้ำมันหอมระเหยชนิดนี้ได้แก่  น้ำมันอบเชยจีน  น้ำมันอบเชยลังกา  น้ำมันสะระแหน่ ฯลฯ
              3. ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร
              น้ำมันหอมระเหยที่ใช้ในระบบทางเดินอาหารได้มาจากพืชในวงศ์กะเพรา  เช่น  กะเพรา  โหระพา  สะระแหน่  ไธม์  พิมเสน  พืชวงศ์ผักชีและพืชวงศ์ส้ม
              4. ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินหายใจ
              ช่วยละลายเสมหะ  ขับเสมหะ  แก้ไอ  บรรเทาอาการคัดจมูก  ช่วยลดการคั่ง  (decogestant)  กระตุ้นระบบทางเดินหายใจ  องค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยที่มีคุณสมบัติในการละลายเสมหะได้แก่  สารพวกคีโตน  เช่น  carvone,  menthone  ได้แก่  น้ำมันยูคาลิปตัส  น้ำมันสน  น้ำมันไธม์  น้ำมันสะระแหน่
              5. ฤทธิ์ต่อระบบกล้ามเนื้อและข้อต่อ
              น้ำมันหอมระเหยจะทำหน้าที่ในการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณที่มีเลือดคั่งอยู่  ทำให้ลดอาการบวมหรืออักเสบได้  โดยน้ำมันหอมระเหยที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ  azulene,  chamazulene,  (-)--bisabolol   เป็นต้น  น้ำมันหอมระเหยเหล่านี้ได้แก่  น้ำมันคาโมไมล์  น้ำมันสะระแหน่น้ำมันสน  น้ำมันยูคาลิปตัส
              6. ฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนเลือด  หัวใจและหลอดเลือด
              ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดส่งผลให้หัวใจและสมองทำงานได้ดี  น้ำมันหอมระเหยที่ใช้ได้แก่  น้ำมันกุหลาบ  น้ำมันกานพลู  น้ำมันโรสแมรี่  เป็นต้น  ส่วนน้ำมันที่ช่วยลดอาการปวดไมเกรน  ทำให้หลอดเลือดขยาย  บางชนิดยังสามารถลดความดันเลือดในผู้ที่มีภาวะเครียดได้คือ  น้ำมันลาเวนเดอร์  น้ำมันกระดังงา  น้ำมันดอกส้ม  เป็นต้น  
              7. ฤทธิ์ต่อระบบต่อมไร้ท่อและฮอร์โมน
              น้ำมันหอมระเหยบางชนิดมีหน้าที่คล้ายฮอร์โมนภายในร่างกาย  ตัวอย่างเช่น  น้ำมันเทียนข้าวเปลือก  น้ำมันเสจ  ช่วยทำให้เซลล์ผิวหนังมีความชุ่มชื่น  ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน  (estrogen)  และน้ำมันกระดังงา  ช่วยเพิ่มการหลั่งไขมันที่ผิวหนัง  ซึ่งเป็นสาเหตุให้หน้ามันหรือเป็นสิว  ทำหน้าที่คล้ายกับฮอร์โมนแอนโดรเจน  จากหน้าที่ที่คล้ายคลึงกันนี้ทำให้เราสามารถนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้ในการบำบัดอาการผิดปกติที่เกิดจากฮอร์โมนเพศได้
              นอกจากนี้ยังพบว่า  น้ำมันหอมระเหยยังมีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันช่วยให้มีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น  ทำให้ปริมาณเม็ดเลือดบางชนิด  เช่น  เซลล์เม็ดเลือดแดง  เซลล์เม็ดเลือดขาว  มีจำนวนเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการบำบัดโดยใช้น้ำมันหอมระเหย  (Kuriyama, H., et al., 2005)