ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
รูปแบบการใช้ประโยชน์จากน้ำมันหอมระเหย  (กองบรรณาธิการ, 2546)  และ (คมสัน หุตะแพทย์, 2546)
              น้ำมันหอมระเหยเป็นน้ำมันที่ประกอบด้วยองค์ประกอบทางเคมีมากมาย  ส่งผลให้การทำงานของระบบอวัยวะภายในร่างกายและสมอง  รวมถึงมีผลทางอารมณ์และจิตใจ  ช่วยให้เกิดความสมดุลหากสูดดมหรือสัมผัสผ่านทางผิวหนัง  รูปแบบในการใช้น้ำมันหอมระเหยสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายรูปแบบ  ซึ่งมีดังต่อไปนี้
              1. การสูดดม  (Inhalation)
              การสูดดมเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด  โดยเกิดขึ้นภายในเสี้ยววินาที  (กฤษณา ภูตะคาม, 2553)  เหมาะสำหรับการบำบัดผู้ที่เป็นโรคหวัดหรือโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ  แต่ไม่ควรใช้กับผู้ที่เป็นโรคหอบหืด  วิธีการใช้ทำโดยการหยดน้ำมันหอมระเหย  6-12  หยดลงในชามหรือกะละมังที่มีน้ำร้อนที่มีไอ  โดยใช้ผ้าขนหนูคลุมศีรษะก้มหน้าเหนือชามหรือกะละมัง  สูดดมไอระเหย  โดยหายใจลึกๆ  การสูดดมไอน้ำจะช่วยทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจชุ่มชื้น  ทำให้ช่องทางเดินหายใจเปิดและผ่อนคลาย  
              2. การนวดตัว  (Aromatherapy  massage)
              เป็นวิธีที่นิยมกันมาก  โดยใช้น้ำมันหอมระเหยผสมลงในน้ำมันที่ใช้นวดตัว  เป็นการช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อ  ระบบประสาท  เนื้อเยื่อและผิวหนัง  ลดอาการปวดเมื่อย  ช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น  วิธีใช้ทำโดยหยดน้ำมันหอมระเหยประมาณ  10-15  หยด  ผสมกับน้ำมันพืชที่ใช้นวดตัว  30  มิลลิลิตร  สำหรับน้ำมันพืชที่ใช้นวดตัว  นอกจากจะเป็นน้ำมันตัวพาน้ำมันหอมระเหยเข้าสู่ผิวแล้ว  ตัวมันเองยังมีคุณสมบัติในการบำรุงผิวพรรณ  ในการใช้ควรเลือกน้ำมันให้เหมาะสมกับผิวของผู้ที่ถูกนวดด้วย
              3. เตาระเหย  (Fragrancers)
              วิธีนี้ทำโดยการหยดน้ำมันหอมระเหย 3-6  หยดลงไปในน้ำที่อยู่ในฝาหรือถ้วยเหนือเตาหรือตะเกียงเผา  ความร้อนจากเทียนประมาณ  60oC  น้ำมันหอมระเหยจะค่อยๆระเหยทำให้เกิดกลิ่นหอม  ช่วยสร้างบรรยากาศ  ทำให้เกิดความผ่อนคลาย  ช่วยบำบัดอารมณ์และจิตใจ  
              4. ผสมน้ำอาบ (Bathing)
              วิธีการนี้ทำโดยการหยดน้ำมันหอมระเหย  5-15  หยดลงไปในอ่างอาบน้ำ  ควรปิดประตูหรือผ้าม่านเพื่อป้องกันกลิ่นระเหยออกไป  แช่ตัวลงไปนาน  10-15  นาที  วิธีการนี้จะทำให้ได้ทั้งการสูดดมและสัมผัสทางผิวหนัง  หากเป็นคนผิวแพ้ง่ายควรผสมน้ำมันหอมระเหยกับน้ำมันตัวพาเสียก่อน  สำหรับการอาบน้ำด้วยวิธีตักอาบหรือใช้ฝักบัว  หลังอาบน้ำเสร็จให้หยดน้ำมันหอมระเหยที่เจือจางแล้วลงบนผ้าหรือฟองน้ำหรือใยบวบ  แล้วใช้ถูตัวด้วยน้ำหมาดๆ  จากนั้นใช้น้ำล้างตัวอีกครั้งหนึ่ง

              5. การแช่มือ  แช่เท้า  (Hand  and  Foot  Bath)

              วิธีการนี้ทำโดยการหยดน้ำมันหอมระเหย  4-5  หยดลงในน้ำอุ่นในอ่างหรือกะละมัง  แล้วแช่มือหรือเท้านาน  10  นาที  จะช่วยให้เกิดการผ่อนคลายความเมื่อยล้าที่มือและเท้าได้  นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการตึงเครียด  ปวดศีรษะหรือปวดไมเกรนได้อีกด้วย   

              6. ฉีดพ่นละอองฝอย  (Room  Sprays)

              วิธีนี้ทำโดยการนำน้ำมันหอมระเหย  10  หยดผสมกับน้ำ  7  ช้อนโต๊ะและอาจผสมเหล้าว๊อดก้าหรือแอลกอฮอล์  95%  1  ช้อนโต๊ะ  (ไม่ใส่ก็ได้)  ใส่ลงในขวดที่มีหัวฉีดเป็นสเปรย์หรือละอองฝอย  เขย่าให้ส่วนผสมเข้ากัน  ใช้ฉีดในห้องนั่งเล่น  ห้องอาหาร  ห้องทำงานหรือห้องนอน

              7. หยดลงบนหมอน  (Pillow  Talk)

              วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่นอนหลับยาก  ให้ลองใช้น้ำมันหอมระเหยที่มีคุณสมบัติผ่อนคลายพวกกระดังงา  กุหลาบ  มะลิ  หยดลงไปบนหมอน  2-3  หยด  จะช่วยให้หลับง่ายและหลับสบาย

              8. กลั้วคอบ้วนปาก  

              วิธีนี้ทำโดยการหยดน้ำมันหอมระเหย  2-3  หยดลงในน้ำ  ¼  แก้ว  คนให้เข้ากัน  ใช้กลั้วคอหรือบ้วนปาก  ช่วยบำบัดโรคในช่องปากและคอ  ช่วยฆ่าเชื้อโรค  ลดกลิ่นปาก  

              9. การประคบ  (Compresses)

              เป็นวิธีที่ใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าเช็ดหน้าจุ่มแช่ลงในน้ำอุ่นที่ผสมน้ำมันหอมระเหย  (หยดน้ำมันหอมระเหย  5-10  หยดต่อน้ำ  160  มิลลิลิตร)  บิดพอหมาด  ประคบบริเวณที่มีอาการนาน  20-30  นาที 

              10. น้ำมันบำรุงผิวหน้าผิวกาย  (Body  and  Facial  Oils)

              เราสามารถใช้น้ำมันหอมระเหยผสมกับน้ำมันที่ใช้บำรุงผิวพรรณทั้งใบหน้าและร่างกาย  โดยใช้น้ำมันหอมระเหย  1% กับน้ำมันบำรุงผิวหน้าและใช้น้ำมันหอมระเหย 3% กับน้ำมันบำรุงผิวกาย

              11. เทียนหอม  (Scented  Candles)

              เราสามารถผสมน้ำมันหอมระเหยลงไปในการทำเทียนได้  เมื่อเวลาจุดไฟกลิ่นหอมก็จะระเหยออกมาคล้ายกับการใช้เตาระเหย  หรืออาจจะผสมน้ำมันหอมระเหย  2-3  หยดลงในน้ำมันตะเกียงก็ได้  ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกัน