ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       อุตสาหกรรมเครื่องสำอางเป็นอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งที่ทำรายได้มูลค่าสูงให้กับประเทศไทย แนวโน้มตลาดเครื่องสำอางในปัจจุบันเน้นองค์ประกอบที่มาจากธรรมชาติ เนื่องจากมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เท่าเทียมหรือสูงกว่าเครื่องสำอางที่ผลิตจากสารเคมี ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมี ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้สารจากธรรมชาติเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพและความงามมาช้านาน คนไทยสมัยโบราณนิยมใช้สารจากธรรมชาติตบแต่งร่างกายให้มีความสวยงาม ดูเจริญตา ใช้ทาเพื่อให้เกิดกลิ่นหอม หรือกลบกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เช่น 

       (1) ใช้สำหรับขัดผิว ได้แก่ ขมิ้น มะขามเปียก ดินสอพอง 
       (2) ใช้สำหรับทาหน้า ทาตัว ได้แก่ น้ำปรุง และแป้งร่ำอบกลิ่นดอกไม้ ทำมาจากดอกมะลิ กุหลาบ กระดังงา สายหยุด และกำยาน โดยที่ขึ้นชื่อคือ น้ำอบไทย นิยมใช้รดน้ำผู้สูงอายุ 
       (3) ใช้สำหรับทาปาก ได้แก่ สีผึ้ง ทำจากการเคี่ยวน้ำมันมะพร้าวหรือไขผึ้ง 
       (4) ใช้สำหรับทำความสะอาดผม ได้แก่ ประคำดีควาย ใบส้มป่อย เปลือกขี้หนอน ดอกอัญชัน และมะกรูด
       (5) ใช้สำหรับเขียนคิ้ว ได้แก่ ผงถ่านกะลามะพร้าว 
       (6) ใช้สำหรับทาแก้ม ได้แก่ ผงชาด 
โดยตลาดเครื่องสำอางจากธรรมชาติและสมุนไพรที่สำคัญของประเทศไทยคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย
 
                                        
 
                           (ที่มา : http://tmpcd.fda.moph.go.th/)        (ที่มา http://www.thaihealth.or.th/data/content/28682/resize/28682_thaihealth_cdghijkqs348.jpg)
       
       การนำสมุนไพรมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปการใช้สด หรือในรูปของสารสกัด ผู้ผลิตจะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญต่างๆ เช่น แหล่งวัตถุดิบ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสมุนไพรในแต่ละท้องถิ่น ความยากง่ายของการสกัด เป็นต้น เพื่อให้สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยสมุนไพรไทยที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอาง สามารถแยกได้ตามชนิดของเครื่องสำอาง ดังต่อไปนี้

ตารางแสดงสมุนไพรไทยที่ใช้ในเครื่องสำอางประเภทต่างๆ

                   เครื่องสำอาง

ชื่อสมุนไพร

  ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยช่องปาก

การพลู สะเดาบ้าน ใบฝรั่ง ข่อย น้ำมันใบพลู ผักคราดหัวแหวน

  ผลิตภัณฑ์ถนอมผิว

ขมิ้น งา แตงกวา บัวบก ไพล มะขาม มะเขือเทศ ว่านหางจระเข้ กล้วยน้ำว้า หัวไชเท้า มังคุด

  ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม

มะกรูด ส้มป่อย ประคำดีควาย ขิง บวบขม บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร มะพร้าว มะเฟือง ผักบุ้ง ตะไคร้ ว่านหางจระเข้ ขี้เหล็ก

  ผลิตภัณฑ์ปรุงแต่งสีผม

เทียนกิ่ง อัญชัน กะเม็ง ชบา ตำลึง

  ผลิตภัณฑ์สุวคนธบำบัด

กุหลาบ มะลิลา กระดังงา สายหยุด

 
                                      (ที่มา : พรสวรรค์, 2546)
 
(ที่มา : http://www.thaihof.org/main/article/list/type/279)
 
       นอกจากนี้ ในยุโรปกลางก็มีการใช้สมุนไพรธรรมชาติเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางเช่นเดียวกัน เช่น
       (1) โรสแมรี่ (Rosemary) ชื่อทางวิทยาศาสตร์  Rosmarinus officinalis L. เป็นสมุนไพรที่มีการใช้มานานนับพันปีในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ปัจจุบันใช้ประโยชน์ในการบำรุงผิว สมานผิว น้ำมันโรแมรี่ (Rosemary oil) ใช้ปรับสภาพเส้นผม
       (2) ดาวเรืองฝรั่ง (Marigold หรือ Calendula) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Calendula officinalis L. เป็นสมุนไพรที่มีความสำคัญสำหรับทารก ใช้ผสมในแป้งโรยตัวสำหรับเด้ก ผสมในน้ำสำหรับอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายร่วมกับสมุนไพรอื่น เช่น คาโมไมล์ (Chamomile) และคอมเฟรย์ (Comfrey) 
       (3) ลาเวนเดอร์ (Lavender) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Lavandula angustifolia Mill. น้ำมันหอมระเหยจากดอกลาเวนเดอร์เป็นส่วนผสมในน้ำหอมและเครื่องสำอางหลายชนิด ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้หลังการโกนหนวด น้ำมันลาเวนเดอร์ (Lavender oil) ใช้ปรับสภาพเส้นผม
       (4) คาโมมายล์ (Chamomile) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Chamomilla recutita L. เป็นสมุนไพรที่ใช้เป็นยาและเครื่องสำอาง ดอกคาโมมายล์มีน้ำมันหอมระเหย สารสำคัญในน้ำมันหอมระเหยคือ อะซูลีน (Azulene) ในอดีตใช้ดอกคาโมมายล์ผสมน้ำอาบช่วยบรรเทาอาการโรคผิวหนังสำหรับผิวแพ้ง่าย และยับยั้งอาการอักเสบ
       (5) ฮ็อพส์ (Hops) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Humulus lupulus L. ดอกฮ็อพส์มีน้ำมันหอมระเหยแทนนิน ไฟโตเอสโตรเจน ดอกฮ็อพส์ใช้ผสมน้ำอาบช่วยลดการระคายเคืองผิวหนัง และใช้เป็นส่วนผสมในแชมพู น้ำมันใส่ผม และครีมทาผิว
 
                   
 
                                                     ลาเวนเดอร์ (Lavender)                                                                        คาโมมายล์ (Chamomile)
     (ที่มา : http://perfectogift.com/blog/wp-content/uploads/2015/05/Lavender-Oil.jpg)   (ที่มา : https://www.chemipan.com/home/images/german-chamomile.jpg)
 
       การนำส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพรมาใช้ในเครื่องสำอาง ควรใช้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นส่วนราก ต้น ใบ ดอก ผล ยาง หรือทุกส่วนของต้นรวมกัน เนื่องจากส่วนประกอบของพืชที่นำมาใช้นั้น แต่ละส่วนจะมีความเฉพาะในการใช้ประโยชน์แตกต่างกัน ปัจจุบันมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับสมุนไพรมากมาย ทำให้สามารถทราบองค์ประกอบทางเคมีของพืชแต่ละชนิด ซึ่งใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับช่วยพิจารณาในการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ เพราะประสิทธิภาพของสมุนไพรขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณสารสำคัญที่มีอยู่ในสมุนไพรนั้นๆ โดยองค์ประกอบทางเคมีจะเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพร แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
       (1) สารปฐมภูมิ (Primary metabolites) เป็นสารที่พบทั่วไปในพืช เป็นผลผลิตจากกระบวนการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) เช่น คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เม็ดสี     และเกลืออนินทรีย์ เป็นต้น
       (2) สารทุติยภูมิ (Secondary metabolites) หรือสารธรรมชาติ (Natural products) เป็นส่วนประกอบที่มีลักษณะค่อนข้างพิเศษ พบต่างกันในพืชแต่ละชนิด อาจเกิดมาจากกระบวนการชีวสังเคราะห์ (Biosynthesis) โดยมีเอนไซม์เข้าร่วม สารประกอบกลุ่มนี้ เช่น แอลคาลอยด์ แอนทราควิโนน และน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น
       ส่วนใหญ่กลุ่มสารทุติยภูมิเป็นสารธรรมชาติที่แสดงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และประโยชน์ทางเครื่องสำอาง แต่จากการวิจัยพบว่า กลุ่มสารปฐมภูมิบางตัวสามารถแสดงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และประโยชน์ทางเครื่องสำอาง  ได้เช่นกัน จึงอาจแบ่งสารธรรมชาติที่พบเหล่านี้ตามโครงสร้างเคมีออกเป็น 7 กลุ่ม คือ คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrates) แอลคาลอยด์ (Alkaloids) ไกลโคไซด์ (Glycosides) แทนนิน (Tannins) น้ำมันหอมระเหย (Volatile oil, Essential oil) ไขมัน (Fats and Fixed oils)  เรซินและบาลซัม (Resins and Balsams)
       เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพรได้รับความนิยมเป็นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะธุรกิจเสริมความงามเกี่ยวกับการนวดและสปา การใช้พืชสมุนไพรที่มีในประเทศช่วยให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น อนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย รวมถึงช่วยลดการนำเข้าสารเคมีบางชนิดจากต่างประเทศ แต่ผู้บริโภคก็ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในการดูแลความสะอาดร่างกาย หรือบำรุงความงามจากสมุนไพร โดยคำนึงถึงจุดมุ่งหมายของการใช้ ราคาไม่แพงจนเกินไป ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและมีความปลอดภัย อีกทั้ง ต้องสังเกตฉลากของผลิตภัณฑ์ให้ละเอียดรอบคอบด้วย
 
เอกสารอ้างอิง
คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี. บทที่ 7 พืชสมุนไพรเครื่องสำอาง.  [ออนไลน์]  
       [อ้างถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2559]  เข้าถึงจาก : http://www.technologyudru.com/images/column_1280376579/Colum7.pdf
พรสวรรค์  ดิษยบุตร. สมุนไพรที่ใช้ในเครื่องสำอาง. เครื่องสำอางจากสมุนไพร
       กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, 2546, หน้า 15-16. 
วันชัย  ศรีวิบูลย์ และคณะ. สมุนไพรธรรมชาติที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Phytocosmetic เล่ม 1.  
       [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2559]  เข้าถึงจาก : http://elib.fda.moph.go.th/fulltext2/word/14181_1/1.pdf
สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. 
       ฐานข้อมูลสมุนไพรไทยที่ใช้ทางเครื่องสำอาง.  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2559]  เข้าถึงจาก : http://tmpcd.fda.moph.go.th/