ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดอาจต้องการบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการจึงต้องเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท โดยสามารถจำแนกประเภทของบรรจุภัณฑ์ตามจุดมุ่งหมายของการใช้งานได้เป็น 2 ประเภท คือ
(1) บรรจุภัณฑ์ที่จำแนกตามวิธีการบรรจุ และวิธีการขนถ่ายสินค้า สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
- บรรจุภัณฑ์เฉพาะหน่วย (Individual
packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ต้องสัมผัสกับสินค้าที่อยู่ภายใน
โดยตรง และถูกออกแบบให้มีรูปร่างต่างๆ เช่น รูปร่างแบบขวด แบบกระป๋อง แบบหลอด แบบถุง หรือแบบกล่อง เป็นต้น เพื่อให้เหมาะสมกับการจับถือและสะดวกต่อการใช้สินค้า
- บรรจุภัณฑ์ชั้นใน (Inner packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่อยู่ถัดออกมาเป็นชั้นที่สอง มีหน้าที่รวบรวม
บรรจุภัณฑ์เฉพาะหน่วยตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไปไว้ด้วยกัน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดจำหน่ายสินค้า ให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ครั้งละมากๆ สะดวกในการขนส่ง เช่น กล่องกระดาษแข็งที่บรรจุเครื่องดื่มตั้งแต่ 2 ขวดขึ้นไป ฟิล์มหดรัดรูปสบู่ตั้งแต่ 2 ก้อนขึ้นไป เป็นต้น
- บรรจุภัณฑ์ชั้นนอก (Outer packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้รวมหน่วยสินค้าขนาดใหญ่ที่ใช้ใน
การขนส่ง เช่น ลัง กล่องกระดาษลูกฟูกขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับบรรจุสินค้าไว้ภายใน โดยที่ผนังด้านนอกของบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้จะต้องให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการขนส่ง เช่น ตรา สินค้า รูปแสดงให้ทราบว่าสินค้าอะไรบรรจุอยู่ภายใน เป็นต้น
บรรจุภัณฑ์เฉพาะหน่วย บรรจุภัณฑ์ชั้นใน บรรจุภัณฑ์ชั้นนอก
(ที่มา : http://netra.lpru.ac.th/~weta/c1/c1_print.html)
(2) บรรจุภัณฑ์ที่จำแนกตามวัสดุที่ใช้ในการผลิต วัสดุที่นิยมใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ สามารถนำมาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งประเภทของบรรจุภัณฑ์ได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
- บรรจุภัณฑ์กระดาษ กระดาษเป็นวัสดุที่สามารถนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ได้หลายรูปแบบ เช่น กล่องกระดาษแข็ง กล่องกระดาษลูกฟูก ถังกระดาษ ถุงกระดาษ เป็นต้น ข้อดีของวัสดุบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ คือ น้ำหนักเบา ใช้ร่วมกับวัสดุบรรจุอื่นได้ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
- บรรจุภัณฑ์แก้ว แก้วเป็นวัสดุที่มีความเฉื่อยต่อการทำปฏิกิริยากับสารเคมี ป้องกันการซึมผ่านของอากาศและไอน้ำได้ดี มีความใส สามารถทำเป็นสีต่างๆ ได้ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) ได้
บรรจุภัณฑ์กระดาษ บรรจุภัณฑ์แก้ว
(ที่มา : http://www.pattayaconcierge.com/post-space/uploads/post/30021-1.jpg) (ที่มา : http://it4.cpd.go.th/product/VISITOR/knowledge.aspx?sId=37)
- บรรจุภัณฑ์พลาสติก พลาสติกเป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีหลายชนิด และมีคุณสมบัติการใช้งานที่แตกต่างกัน เช่น พลาสติกชนิด PET, HDPE, PVC, LDPE, PP, PS, PC เป็นต้น ข้อดีของวัสดุบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ คือ น้ำหนักเบา มีความเหนียว ทนทานต่อการแตกหัก ขึ้นรูปได้ง่ายหลายลักษณะ และมีคุณสมบัติหลากหลาย ทำให้สามารถเลือกใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น สี ความใส ความแข็งแรง ความยืดหยุ่น การป้องกันการซึมผ่านของไอน้ำและแก๊ส เป็นต้น
- บรรจุภัณฑ์โลหะ เป็นวัสดุที่สามารถป้องกันการซึมผ่านของไอน้ำ แก๊ส และแสงสว่างได้ดี มีความแข็งแรง ทนความร้อนและความเย็น ขึ้นรูปได้ง่าย สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ได้ โลหะที่นิยมนำมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ เหล็กเหนียว แผ่นเหล็กเคลือบดีบุก และแผ่นอะลูมิเนียม
บรรจุภัณฑ์พลาสติก บรรจุภัณฑ์โลหะ
(ที่มา : http://www.thai-plastic.com/images/products/sgsiam2901_20100907_143110.gif) (ที่มา : http://oknation.nationtv.tv/blog/home/
user_data/file_data/201405/02/67396a5a9.jpg)
นอกจากนี้ ยังมีวัสดุอีกชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ คือ ไม้ ซึ่งมีความแข็งแรง คงรูป นิยมขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ แต่อาจเสียหายจากความชื้น แมลง และไฟ ได้
บรรจุภัณฑ์แต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับความต้องการของผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่
- ลักษณะของผลิตภัณฑ์ เช่น ขนาด รูปร่าง น้ำหนัก ความหนาแน่น ความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ ระบุลักษณะของการเสื่อมเสีย และสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสื่อมเสีย เช่น สิ่งแวดล้อมภายนอก
จุลินทรีย์ ปฏิกิริยาเคมี เป็นต้น
- อันตรายจากสายการผลิตและการกระจายสินค้า ระบุผลิตภัณฑ์อาจได้รับอันตรายจากขั้นตอนใดบ้าง และอย่างไร ระบุชนิด วิธีการ และระยะเวลาในการขนส่งผลิตภัณฑ์ รวมถึงระบุสภาวะ และระยะเวลาใน การเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ เช่น อุณหภูมิ และความชื้น
- ความต้องการทางการตลาด ก่อนที่จะเลือกบรรจุภัณฑ์ ต้องศึกษาถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น รสนิยม พฤติกรรมการซื้อ ปริมาณการซื้อ วิธีการนำไปใช้ วิธีเก็บรักษา เพื่อที่จะได้เลือกบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมทั้งต้องคำนึงถึงการโฆษณาและส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์
- วัสดุบรรจุ การเลือกใช้วัสดุบรรจุต้องคำนึงถึงลักษณะของผลิตภัณฑ์ สมบัติของวัสดุ ราคา เครื่องจักรที่ใช้บรรจุ และความต้องการทางการตลาด
- เครื่องจักรบรรจุ โดยต้องคำนึงถึงลักษณะของผลิตภัณฑ์ สมบัติของวัสดุบรรจุ ราคา และความต้องการทางการตลาด
- ค่าใช้จ่าย ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญและไม่ควรละเลย ผู้ประกอบควรเลือกบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการคุ้มครองสินค้าที่เหมาะสมและราคาไม่สูงจนเกินไป ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายของวัสดุบรรจุ ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบรรจุ ค่าใช้จ่ายของเครื่องจักรบรรจุ ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
(ที่มา : http://www.foodnetworksolution.com/news_and_articles/article/0121/อายุของผลิตภัณฑ์อาหาร-ตอนที่-1)
ขั้นตอนในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สามารถสรุปได้ดังนี้
- ศึกษาผลิตภัณฑ์
- ศึกษาสาเหตุของความเสียหาย/เสื่อมเสีย
- วิเคราะห์ตลาด
- สำรวจบรรจุภัณฑ์/เทคโนโลยีการบรรจุ
- สำรวจเครื่องจักรบรรจุ
- ประเมินต้นทุน
- ตัดสินใจเลือกบรรจุภัณฑ์
บรรจุภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น ทำให้เกิดการสูญเสียในระหว่างการขนส่งและการขายเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดนั้นจะสามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตให้ยาวนานขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตถึงมือผู้บริโภคในสภาพที่ดี ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น สามารถขายสินค้าได้ในราคาสูง รวมทั้งช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
ดวงพร สาระมาศ และคณะ. บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารสด. วารสารบรรจุภัณฑ์ไทย,
กรกฎาคม-กันยายน, 2547, ปีที่ 14, ฉบับที่ 55, หน้า 37-44.
ดวงฤทัย ธำรงโชติ. หน้าที่และความสำคัญของภาชนะบรรจุ. เทคโนโลยีภาชนะบรรจุ (Packaging Technology),
กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2550, หน้า 1-21.
ปัญจ์ยศ มงคลชาติ. การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เพื่อเพิ่มมูลค่าการตลาดและโลจิสติกส์ และการยืดอายุผลิตภัณฑ์.
เอกสารการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การเพิ่มกลยุทธ์การตลาดแก่ผู้ประกอบการ OTOP และวิสาหกิจชุมชน”,
กรุงเทพฯ : สำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2559.
วาณี ชนเห็นชอบ. เทคโนโลยีการบรรจุอาหาร (Food Packaging Technology). [ออนไลน์]
[อ้างถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560] เข้าถึงจาก : http://synergysupply.co.th/docs/lamination_knowledge.pdf