ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       น้ำมันมะพร้าว (Coconut oil) คือ น้ำมันที่ได้จากการนำเนื้อมะพร้าวมาผ่านกรรมวิธีต่างๆ เช่น บีบ อัดให้ความร้อน เพื่อให้ได้น้ำมันมะพร้าว แล้วนำมาแยกตะกอน ซึ่งในอดีตคนไทยนิยมใช้น้ำมันมะพร้าวในการทอด ประกอบอาหาร รวมทั้งใช้เป็นยาพื้นบ้านสำหรับรักษาอาการฟกช้ำดำเขียว ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และโรคกระดูก ส่วนปัจจุบันน้ำมันมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมักถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตทางอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น สบู่ ผงซักฟอก แชมพู เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมพลาสติก ฟอกหนัง เป็นต้น 

(ที่มา : http://www.kasetupdate.com/2014/11/Virgin-Coconut-oil-Cold-pressed.html)
 
โดยน้ำมันมะพร้าวสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
       1. น้ำมันมะพร้าว RBD (RBD coconut oil) เป็นน้ำมันมะพร้าวที่สกัดได้จากเนื้อมะพร้าวห้าว โดยการบีบ หรือใช้ตัวทำละลายผ่านความร้อนสูงและกระบวนการทางเคมี RBD คือ การทำให้บริสุทธิ์ (Refining) การฟอกสี (Bleaching) และการกำจัดกลิ่น (Deodorization) ซึ่งน้ำมันมะพร้าวที่สกัดได้และเหมาะสำหรับนำมาบริโภคนั้นจะมีสีเหลืองอ่อน ไม่มีกลิ่นและรส ปราศจากวิตามินอี  มีปริมาณกรดไขมันอิสระ (Free fatty acid) ไม่เกิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันไม่ค่อยมีน้ำมันมะพร้าวชนิดนี้จำหน่าย เนื่องจากโรงงานสกัดน้ำมันมะพร้าวส่วนใหญ่เลิกดำเนินการไปแล้ว
       2. น้ำมันมะพร้าวบีบเย็น (Cold-pressed coconut oil) เป็นน้ำมันมะพร้าวที่ผลิตจากเนื้อมะพร้าวสด โดยกระบวนการบีบไม่ผ่านความร้อนสูง เป็นน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ที่สุด สีใสเหมือนน้ำ มีวิตามินอี และไม่ผ่านกระบวนการเติมออกซิเจน มีค่าเปอร์ออกไซด์และกรดไขมันอิสระต่ำ มีกลิ่นมะพร้าวอ่อนๆ ถึงแรง (ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิต) มีความชื้นไม่เกิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ โดยอาจเรียกน้ำมันมะพร้าวชนิดนี้อีกอย่างว่า น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ (Virgin coconut oil) เป็นน้ำมันที่ผลิตโดยอุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือในครัวเรือน ซึ่งน้ำมันมะพร้าวชนิดนี้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากที่สุด
 
(ที่มา : http://thaihealthlife.com/น้ำมันมะพร้าว/)
 
       ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจและนิยมรับประทานน้ำมันมะพร้าวกันมากขึ้น เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวมีองค์ประกอบสำคัญที่ให้คุณค่าต่อสุขภาพ คือ
       1. กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated fatty acids) น้ำมันมะพร้าวประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัวมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณกรดไขมันทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลปานกลาง ได้แก่ กรดคาโปอิก (Caproic acid) กรดคาปริลิก (Caprylic acid) กรดคาปริก (Capric acid) กรดลอริก (Lauric acid) และกรดไมริสติก (Myristic acid) ซึ่งเมื่อรับประทานและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเผาผลาญได้ดี จึงถูกสะสมในเนื้อเยื่อไขมันได้น้อยกว่ากรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลยาว นอกจากนี้ น้ำมันมะพร้าวยังประกอบด้วยกรดไขมัน   ไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acids) ประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์
       2. กรดลอริก (Lauric acid) น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันจากพืชชนิดเดียวในโลกที่มีปริมาณกรดลอริกสูง คือ ประมาณ 48-53 เปอร์เซ็นต์ กรดลอริกนี้เองที่ทำให้น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติพิเศษในการเสริมสุขภาพและความงาม อีกทั้ง น้ำมันมะพร้าวยังมีกรดคาปริกอยู่ประมาณ 6-7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของกรดลอริก
       3. วิตามินอี (Vitamin E) น้ำมันมะพร้าวที่ไม่ผ่านกระบวนการ RBD ยังคงมีวิตามินอีที่มีประสิทธิภาพอยู่ในปริมาณสูง โดยทำหน้าที่เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant of free radicals) 
       น้ำมันมะพร้าวจึงถูกจัดว่าเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าน้ำมันชนิดอื่น เพราะมีคุณประโยชน์ต่างๆมากมาย ได้แก่
              - ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมัน น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่ให้พลังงานน้อยกว่าน้ำมันชนิดอื่น และช่วยเพิ่มอัตราเมตาบอลิซึม ทำให้น้ำมันที่บริโภคเข้าไปถูกเผาผลาญเป็นพลังงานทั้งหมด ไม่สะสมเป็นไขมันในร่างกาย จึงไม่ทำให้อ้วน
              - ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง กรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลปานกลางในน้ำมันมะพร้าวช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง และกระบวนการรับรู้ของมนุษย์
              - ช่วยให้กระดูกแข็งแรง สารอาหารในน้ำมันมะพร้าวอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่จำเป็นต่อความแข็งแรงของกระดูก ได้แก่ แคลเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งทำให้ช่วยเสริมสร้างมวลกระดูก ไม่ให้เปราะ แตกหักง่าย
              - บำรุงกำลัง น้ำมันมะพร้าวย่อยง่าย ร่างกายดูดซึมไปใช้ในกระบวนการเผาผลาญได้ทันที อีกทั้งกินแล้วอิ่มนาน ทำให้ร่างกายมีกำลังเพิ่มขึ้นโดยไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง
              - บำรุงครรภ์ หากคุณแม่รับประทานน้ำมันมะพร้าวในช่วงตั้งครรภ์ สามารถช่วยให้ทารกในครรภ์มีภูมิคุ้มกันที่ดี
 
                                             กระตุ้นการเผาผลาญไขมัน ไม่ทำให้อ้วน                                                                        บำรุงครรภ์
 
                                                         
 
                                   (ที่มา : http://www.tropicanaoil.com/blog/detail/90)                                  (ที่มา : https://www.sanook.com/women/77793/)                        
 
              - ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวมีกรดลอริกสูงมาก ซึ่งเป็นสารตัวเดียวกับกรดไขมันที่มีในนมแม่ เมื่อบริโภคเข้าไปกรดลอริกจะเปลี่ยนเป็นมอโนลอริน (Monolaurin) ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค
              - ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ วิตามินอีในน้ำมันมะพร้าวทำหน้าที่เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ โดยป้องกันเซลล์ไม่ให้ถูกเติมออกซิเจน และเป็นตัวต่อต้านอนุมูลอิสระซึ่งเกิดจากมลพิษในสิ่งแวดล้อม อาหารและเครื่องดื่ม รังสี ความเครียด
              - ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกลุ่มเสื่อม เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติลดคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคกลุ่มเสื่อมต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต เป็นต้น
              - ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ และมะเร็งผิวหนัง
              - บำรุงสุขภาพในช่องปาก กรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวช่วยขจัดคราบพลัคและเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ช่วยให้ปากสะอาด
       นอกจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว น้ำมันมะพร้าวยังมีประโยชน์ในด้านความงามอีกด้วย เช่น ใช้ทาผิวเพื่อบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใสไม่แห้งกร้าน ใช้บำรุงหนังศีรษะและเส้นผม ใช้ทากันแดด ใช้เป็นน้ำมันนวดตัว ใช้เป็นคลีนนิ่งออยล์สำหรับเช็ดคราบเครื่องสำอาง เป็นต้น 
 
                                                               ทาบำรุงผิว                                                                                        เช็ดคราบเครื่องสำอาง
 
                                                          
 
                              (ที่มา : http://www.lady108.com/39664/14-ประโยชน์ของ                           (ที่มา : https://www.jeedmak.com/น้ำมันมะพร้าว-สารพัดประ/)  
                                   น้ำมันมะพร้าว-ของดีราคาถูก-ที่หลายคนอาจมองข้าม/)
 
       ผู้บริโภคสามารถรับประทานน้ำมันมะพร้าวเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพได้หลายวิธี ทั้งรับประทานโดยตรง ซึ่งปกติผู้ใหญ่อาจรับประทานในปริมาณ 3 ช้อนโต๊ะต่อวัน หรือ 1 ช้อนโต๊ะต่อมื้ออาหาร ทั้งนี้ ไม่ได้กำหนดเป็นปริมาณที่ตายตัว อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของผู้บริโภค และการใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร เช่น ใช้แทนน้ำมันพืชในการทอด หรือผัด ใช้ผสมลงในอาหารและเครื่องดื่มชนิดต่างๆ เป็นต้น 
 
เอกสารอ้างอิง
ณรงค์  โฉมเฉลา. วิธีใช้น้ำมันมะพร้าว. มหัศจรรย์น้ำมันมะพร้าว, กรุงเทพฯ : โพสต์ พับลิชชิง, 2554, หน้า 268-275.
ธนิกา  ปฐมวิชัยวัฒน์. น้ำมันมะพร้าวกับการลดน้ำหนัก.  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2561].  
       เข้าถึงจาก : https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/17/
ธนิฏฐา  ปีกอง. การรับประทานน้ำมันมะพร้าว. โอสธทิพย์จากธรรมชาติ น้ำมันมะพร้าว, กรุงเทพฯ : ดวงกมลสมัย, 2554, หน้า 92-98.
สุทธิชัย  ปทุมล่องทอง. คุณประโยชน์จากน้ำมันมะพร้าว และสาระน่ารู้จากน้ำมันมะพร้าว. น้ำมันมะพร้าว น้ำมันบริสุทธิ์สุดยอดยามหัศจรรย์,
       กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2554, หน้า 45-77.
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำมันมะพร้าว มผช.670/2547
       [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2561]  เข้าถึงจาก : http://tcps.tisi.go.th/pub/tcps670_47.pdf