ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

       ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือสารเสริมอาหารออกมามากมาย จนเราเลือกไม่ถูกว่าเราควรรับประทานสารเสริมอาหารตัวไหนดี แต่จะมีสารตัวหนึ่งที่เราพบเห็นและคุ้นชินซึ่งมีอยู่ในเครื่องดื่มอยู่บ่อยๆ นั่นก็คือ กาบา (GABA) แต่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เลยว่ากาบาตัวนี้คืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร

       กาบา (GABA) มีชื่อเต็มว่า Gamma – Amino Butyric Acid (แกมมา-อะมิโนบิวไทริกแอซิด) ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ออกฤทธิ์ยับยั้งหรือต้านทาน (Inhibitor) ทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมองที่ได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าต่างๆ ช่วยทำให้สมองเกิดการผ่อนคลาย ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการควบคุมการทำงานของสมอง สารกาบาเป็นกรดอะมิโนที่ผลิตจากกระบวนการ decarboxylation ของกรดอะมิโนที่ชื่อว่า glutamic acid กรดชนิดนี้จะมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ประเภทสารยับยั้งในระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยเพิ่มความผ่อนคลายให้แก่สมอง นอกจากนี้ สารกาบายังทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นต่อมไร้ท่อ anterior pituitary ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต ทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อ และทำให้กล้ามเนื้อเกิดความกระชับ อีกทั้งยังเกิดสาร lipotropic ซึ่งเป็นสารป้องกันการสะสมไขมันได้ด้วย

ที่มา : https://mejorconsalud.com/gaba-acido-gamma-aminobutirico/

       โดยปกติสารกาบาชนิดนี้จะมีอยู่ในระบบประสาทส่วนกลางของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว ซึ่งสารกาบาสามารถเกิดขึ้นได้จากกระบวนการทางธรรมชาติที่เปลี่ยนสารกลูตาเมท (Glutamate) ในสมองให้กลายเป็นสารกาบา แต่การได้รับสารกลูตาเมทจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว อาจจะมีความแปรปรวนในด้านปริมาณ และในบางครั้งอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ จึงมักมีการเติมกาบาเสริมลงในผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสารกาบาในปริมาณที่เพียงพออย่างแท้จริง โดยสารกาบาที่ใช้เติมในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อลดความเครียด หรือความผ่อนคลายอารมณ์ มักจะพบผสมอยู่ในเครื่องดื่ม น้ำผลไม้ โยเกิร์ต ลูกอม หมากฝรั่ง ไส้กรอก ขนมปัง ชีส นมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม และกาแฟพร้อมดื่ม หรืออาจอยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดเม็ด เพื่อความสะดวกในการรับประทาน นอกจากนี้ยังพบว่าข้าวกล้องงอกที่กำลังได้รับความนิยมขณะนี้ก็มีสาร GABA ถึง 15 เท่า จากข้าวกล้องปกติอีกด้วย

 

       สารกาบา (GABA) จึงเป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มของคนที่รักสุขภาพ เนื่องจากมีคุณประโยชน์ต่างๆ มากมายที่ได้รับแล้วยังช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย คือ

              1. เป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยให้สมองผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด ลดความวิตกกังวล ช่วยให้นอนหลับ หากมีสารสื่อประสาทชนิดกระตุ้นมากเกินไปจะทำให้ร่างกายตื่นตัวตลอดจึงทำให้เครียดง่าย สารสื่อประสาทชนิดยับยั้งจะทำหน้าที่ต้านทาน จึงทำให้ผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล นอกจากนี้ยังช่วยให้ความคิดความจำดี

              2. กระตุ้นการทำงานของต่อมไร้ท่อ (Pituitary Gland) จากสมองส่วนหน้า (Anterior Pituitary) ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อ และกระดูกโครงร่างของร่างกาย

 3. กระตุ้นการสร้างสารไลโปโทปิก (Lipotropic) ซึ่งเป็นสารป้องกันไขมันเกาะตัวในร่างกายลดการสะสมไขมันจึงช่วยควบคุมน้ำหนักได้

              4. ป้องกันโรคที่เกี่ยวกับสารสื่อประสาท เช่น อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) พาร์กินสัน (Parkinson’s disease)

              5. ชะลอความเสื่อมของเซลล์ ป้องกันการเกิดมะเร็ง เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ที่มีประสิทธิภาพสูง

              6. กระตุ้นการสร้างสารที่ช่วยป้องกันไขมันสะสม (Lipotropic) ช่วยให้กล้ามเนื้อกระชับ สร้างเนื้อเยื่อให้มีความกระชับ

              7. ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะช่วยให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น เลือดจึงไหลเวียนดีขึ้น จึงช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตให้ปกติ

              8. กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immune system) กระตุ้นการสร้างฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ที่เป็นสารประกอบสำคัญในเม็ดเลือดแดง (Heme)

 

       อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทางงานวิจัย พบว่า ปริมาณกาบาแค่เพียงประมาณ 20-30 มิลลิกรัมต่อวัน ก็เพียงพอต่อการผ่อนคลายความเครียดแล้ว ดังนั้นการรับประทานสารกาบาในปริมาณที่มากไปกว่านี้คงจะไม่มีผลดีอะไรตอบคืนกลับมามากกนัก ผู้บริโภคบางคนอาจจะมีความจำกัดในการรับประทานอาหารที่มาจากธรรมชาติในบางชนิด การรับประทานในรูปแบบของอาหารเสริมทั้งแบบที่ผสมในอาหารหรือแบบที่เป็นอาหารเสริมชนิดเม็ด จึงเป็นหนึ่งในทางออกที่เหมาะสมสำหรับคนที่ต้องการเสริมการทำงานของระบบประสาทและสมองที่ดีทางหนึ่ง เพียงแต่ต้องรับประทานให้พอเหมาะพอควรตามแต่ที่ร่างกายต้องการก็เท่านั้นเอง

 

 

เอกสารอ้างอิง

กาบามีประโยชน์อย่างไร.[ออนไลน์][อ้างถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561] เข้าถึงจาก

       http://www.pikool.com/กาบา

คลายเครียดด้วยกาบา.[ออนไลน์][อ้างถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561] เข้าถึงจาก

       https://www.สุขภาพน่ารู้.com /คลาดเครียดด้วยกาบา/