ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       ไมโครพลาสติก (Microplastics) คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกลม ทรงรี หรือบางครั้งมีรูปร่างไม่แน่นอน

 

 

(ที่มา : https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0025326X19302036)

 

โดยไมโครพลาสติกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

       1. Primary microplastics เป็นพลาสติกที่ถูกผลิตให้มีขนาดเล็กมาตั้งแต่ต้น เพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น เม็ดพลาสติกที่นำมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก (Plastic pellet) เม็ดพลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า เครื่องสำอาง หรือยาสีฟัน (Plastic scrub) ซึ่งมักเรียกกันว่า ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือเม็ดสครับ ไมโครพลาสติกประเภทนี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำและไหลลงสู่ทะเล

 

                                                                         

                                             (ที่มา : https://www.trueplookpanya.com/                                (ที่มา : https://www.thebangkokinsight.com/16056/)
                                               knowledge/content/69827/-sciche-sci-)

 

       2. Secondary microplastics เป็นพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ หรือมาโครพลาสติก (Macroplastic) ซึ่งสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานเกิดการย่อยสลายหรือแตกหัก โดยกระบวนการย่อยสลายพลาสติกขนาดใหญ่ให้กลายเป็นพลาสติกขนาดเล็กนี้สามารถเกิดได้ทั้งกระบวนการย่อยสลายทางกล (Mechanical degradation) กระบวนการย่อยสลายทางเคมี (Chemical degradation) กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพ (Biological degradation) และกระบวนการย่อยสลายด้วยแสงอาทิตย์ ((UV degradation) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้สารแต่งเติมในพลาสติกหลุดออก ส่งผลให้โครงสร้างของพลาสติกเกิดการแตกตัวจนมีขนาดเล็ก กลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ในแม่น้ำและทะเล

 

                                                                         

                                                              (ที่มา : http://www.oie.go.th/sites/default/files/attachments/article/microplastics.pdf)

 

       ปัจจุบันไมโครพลาสติกกลายเป็นปัญหามลพิษทางทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทั่วโลก เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ทำให้ยากต่อการเก็บและการกำจัด รวมถึงมีคุณสมบัติที่คงสภาพ ย่อยสลายได้ยาก เมื่อมีการระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ไมโครพลาสติกสามารถปนเปื้อน แพร่กระจาย สะสม และตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย โดยการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทางทะเลพบได้ทั้งในน้ำ และตะกอนดิน หากสิ่งมีชีวิตในทะเลกินเอาไมโครพลาสติกเข้าไป ทำให้เกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร (Food chain) และสามารถถ่ายทอดไปตามลำดับขั้นของการบริโภคอาหารในระบบนิเวศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อร่างกายในสัตว์ที่กินเม็ดไมโครพลาสติกเข้าไป เช่น การทำลายเนื้อเยื่อหลอดเลือด และมีผลกระทบต่อระบบหัวใจ อีกทั้ง ยังมีรายงานเกี่ยวกับสารที่เป็นองค์ประกอบและพบการปนเปื้อนอยู่ในไมโครพลาสติกมักเป็นสารพวกโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ดีดีที (DDT) และไดออกซิน ซึ่งเป็นสารพิษที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้

 

                                                                         

                                            (ที่มา : https://www.trueplookpanya.com/                                    (ที่มา : https://www.tistr.or.th/tistrblog/?p=4707)
                                              knowledge/content/69827/-sciche-sci-)

 

       อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานไมโครพลาสติกก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการได้รับผ่านทางห่วงโซ่อาหาร ซึ่งนักวิจัยทั่วโลกกำลังศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงในการสะสมของสารพิษ และการถ่ายทอดของสารปนเปื้อนในไมโครพลาสติกสู่มนุษย์ รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องในอนาคต และจากผลกระทบข้างต้น วิธีการหนึ่งที่ทุกคนสามารถช่วยลดปริมาณไมโครพลาสติกไม่ให้แพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆ คือ การสร้างจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันให้น้อยลงนั่นเอง

 

เอกสารอ้างอิง

วารสารเพื่อการเตือนภัยสินค้าการเกษตรและอาหาร. วิกฤต “ไมโครพลาสติก” วายร้ายระบบนิเวศแหล่งน้ำของโลก. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2562]. 
       เข้าถึงจาก :https://warning.acfs.go.th/web-upload/m_magazine/8/52/file_download/65b6e3924eb29160205d467a3b4872b2.pdf
ศีลาวุธ  ดำรงศิริ และ เพ็ญรดี  จันทร์ภิวัฒน์. ไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำจืดและแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค.[ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2562].  
       เข้าถึงจาก : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/ej_2562_2_2.pdf
สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและป่าชายเลน และ คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา. รายงานฉบับสมบูรณ์ การสำรวจและจำแนกตัวอย่าง
       ขยะทะเล ประเภทไมโครพลาสติก.[ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2562].  เข้าถึงจาก : 
       https://www.dmcr.go.th/upload/dt/file/file-3095-201705161494905397559.pdf
สุดา  อิทธิสุภรณ์รัตน์. ไมโครพลาสติกในทะเล. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2562].  เข้าถึงจาก : https://www.deqp.go.th/media/images/B/0C/GR33.1.pdf