ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       ขยะถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบและเหมาะสม เพราะหากไม่มีการจัดการอย่างถูกวิธี อาจทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้ โดยกระบวนการจัดการขยะประกอบไปด้วยหลายขั้นตอน และหนึ่งในนั้นคือ ขั้นตอนการคัดแยกขยะ การคัดแยกเป็นกลไกแรกๆ ของการจัดการขยะ มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้กลับมาใช้ประโยชน์ ก่อนจะนำขยะที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ไปกำจัดต่อไป ซึ่งหากคัดแยกไปใช้ประโยชน์ได้ในปริมาณมาก ก็สามารถช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดน้อยลง

(ที่มา : https://www.posttoday.com/life/healthy/586878)

       ชุมชนควรให้ความรู้และส่งเสริมให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบ้านเรือน สถานประกอบการ อาคารที่พัก อาคารสำนักงาน สถาบันศึกษา ห้างสรรพสินค้า และโรงแรม ดำเนินการคัดแยกขยะตามข้อกำหนดดังนี้

       1. คัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ หรือขยะรีไซเคิล ออกจากขยะย่อยสลาย ขยะอันตราย และขยะทั่วไป
       2. เก็บกักขยะที่ทำการคัดแยกแล้วในถุง หรือถังรองรับขยะแบบแยกประเภทที่หน่วยราชการกำหนด
       3. เก็บกักขยะที่ทำการคัดแยกแล้วในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่กีดขวางทางเดิน อยู่ห่างจากสถานที่ประกอบอาหาร ที่รับประทานอาหาร และแหล่งน้ำดื่ม
       4. ให้เก็บกักขยะอันตราย หรือภาชนะบรรจุสารที่ไม่ทราบแน่ชัด เป็นสัดส่วนแยกต่างหากจากขยะอื่นๆ  เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสารพิษ หรือการระเบิด แล้วนำไปรวบรวมไว้ในภาชนะรองรับขยะอันตรายของชุมชน
       5. ห้ามเก็บกักขยะอันตรายไว้รวมกัน โดยให้แยกเก็บเป็นประเภทๆ หากเป็นของเหลวให้ใส่ถังหรือภาชนะบรรจุที่มิดชิดและไม่รั่วไหล หากเป็นของแข็งหรือกึ่งของแข็งให้เก็บใส่ถังหรือภาชนะที่แข็งแรง
       6. หลีกเลี่ยงการเก็บกักขยะที่ทำการคัดแยกแล้ว และมีคุณสมบัติที่เหมาะแก่การเพาะพันธุ์ของพาหะนำโรค หรืออาจเกิดการรั่วไหลของสารพิษไว้เป็นเวลานาน
       7. หากมีการใช้น้ำทำความสะอาดวัสดุคัดแยกแล้วหรือวัสดุเหลือใช้ที่มีไขมันหรือตะกอนน้ำมันปนเปื้อน จะต้องระบายน้ำเสียนั้นผ่านตะแกรง และบ่อดักไขมันก่อนระบายสู่ท่อน้ำสาธารณะ
       8. ห้ามเผา หลอม สกัดหรือดำเนินกิจกรรมอื่นใด เพื่อการคัดแยก การสกัดโลหะมีค่า หรือการทำลายขยะในบริเวณที่พักอาศัย หรือพื้นที่ที่ไม่มีระบบป้องกันและควบคุมของเสียที่จะเกิดขึ้น
 
 
(ที่มา : https://mgronline.com/local/detail/9620000002922)
 
       สำหรับประเภทของภาชนะรองรับขยะที่ทำการคัดแยกนั้น โดยทั่วไปมักแบ่งออกเป็น 4 ประเภท เพื่อให้สามารถรองรับขยะได้ครบทุกชนิด คือ
              - ถังสีเขียว ใช้สำหรับรองรับขยะย่อยสลาย (Compostable waste) เช่น เศษอาหาร เศษพืชผัก เปลือกผลไม้ ใบไม้ เป็นต้น ขยะเหล่านี้เป็นอินทรียวัตถุที่มีความชื้นสูงและย่อยสลายได้ดีตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักได้
              - ถังสีเหลือง ใช้สำหรับรองรับขยะรีไซเคิล (Recyclable waste) เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ อะลูมิเนียม พลาสติก เป็นต้น เมื่อรวบรวมขยะเหล่านี้แล้วสามารถนำไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปขยะต่อไป
              - ถังสีส้ม ใช้สำหรับรองรับขยะอันตราย (Hazardous waste) เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ถ่านไฟฉาย กระป๋องสีสเปรย์ กระป๋องยาฆ่าแมลง กระป๋องน้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ เป็นต้น ขยะเหล่านี้ต้องคัดแยกไว้ต่างหากเพื่อนำไปกำจัดตามวิธีที่เหมาะสมต่อไป
              - ถังสีน้ำเงิน ใช้สำหรับรองรับขยะทั่วไป (General waste) เช่น พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติกเปื้อนอาหาร โฟมเปื้อนอาหาร เป็นต้น 
 
                                                              สีเขียว : ขยะย่อยสลาย                                                              สีเหลือง : ขยะรีไซเคิล
                                                                                                  
 
                                                                 สีส้ม : ขยะอันตราย                                                                  สีน้ำเงิน : ขยะทั่วไป

                                                                                                           

                                                                (ที่มา : https://www.governmentcomplex.com/upload/cms_file/1520686069_815.pdf)

       ดังนั้น เราทุกคนสามารถช่วยกันจัดการขยะด้วยตัวเองได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากการคัดแยกขยะก่อนทิ้งให้ถูกวิธี และทิ้งขยะแต่ละประเภทลงในภาชนะรองรับที่ถูกต้อง เพื่อเป็นความสะดวกสำหรับผู้ขนย้าย สามารถนำขยะบางชนิดไปขายเพิ่มรายได้ รวมถึงง่ายต่อการนำไปกำจัดในขั้นตอนต่อไป ช่วยลดปริมาณขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น 

 

เอกสารอ้างอิง

กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. คู่มือแนวทางและข้อกำหนดเบื้องต้นการลดและใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอย. [ออนไลน์] 
       [อ้างถึงวันที่ 11 กันยายน 2562].  เข้าถึงจาก : http://infofile.pcd.go.th/waste/6-08-2018_03.pdf?CFID=1792856&CFTOKEN=41292535
สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ. คู่มือแนวทางการลด คัดแยก และใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอย สำหรับอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน
       [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 10 กันยายน 2562].  เข้าถึงจาก : http://www.mt.mahidol.ac.th/MT_Green/images/knowledge/แนวทางการลดคัดแยก%20
       และใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอย.pdf
อาณัติ  ต๊ะปินตา. ขั้นตอนในการจัดการขยะมูลฝอย. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอย กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553, หน้า 69-76.