ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       ปัจจุบันปัญหาขยะกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมีจำนวนมาก สาเหตุเกิดจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ในสังคมมากมาย ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนได้ร่วมกันดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่หากการจัดการขยะถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน แนวทางหนึ่งที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ด้วยตัวเอง คือ การแยกขยะก่อนทิ้ง 

 

(ที่มา : https://thematter.co/sponsor/pepsi_csr/68436)

       โดยการแยกขยะอย่างถูกวิธี สามารถแยกตามประเภทของขยะได้ 4 ประเภท ดังนี้

       1. ขยะย่อยสลาย (Compostable waste) หรือ มูลฝอยย่อยสลาย คือ ขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้ เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้ เศษเนื้อสัตว์ เป็นต้น แต่ไม่รวมถึง ซากหรือเศษของพืช ผัก ผลไม้ หรือสัตว์ที่เกิดจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ ขยะย่อยสลายนี้เป็นขยะที่พบมากที่สุด โดยพบมากถึง 64 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณขยะทั้งหมดในกองขยะ และถังรองรับขยะย่อยสลาย คือ ถังสีเขียว

       2. ขยะรีไซเคิล (Recyclable waste) หรือ มูลฝอยที่ยังใช้ได้ คือ ของเสียบรรจุภัณฑ์ หรือวัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น แก้ว กระดาษ เศษพลาสติก กล่องเครื่องดื่มแบบ UHT กระป๋องเครื่องดื่ม เศษโลหะ อะลูมิเนียม ยางรถยนต์ เป็นต้น ขยะรีไซเคิลนี้เป็นขยะที่พบมากเป็นอันดับที่สองในกองขยะ โดยพบประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณขยะทั้งหมดในกองขยะ และถังรองรับขยะรีไซเคิล คือ ถังสีเหลือง

                                                            ขยะย่อยสลาย                                                                                            ขยะรีไซเคิล

                                                         

(ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/3886-12745-2-PB.pdf)

       3. ขยะอันตราย (Hazardous waste) หรือ มูลฝอยอันตราย คือ ขยะที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ ได้แก่ วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง วัตถุอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สินหรือสิ่งแวดล้อม เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ภาชนะบรรจุสารกำจัดศัตรูพืช กระป๋องสเปรย์บรรจุสีหรือสารเคมี เป็นต้น ขยะอันตรายนี้เป็นขยะที่มักพบได้น้อยที่สุด โดยพบประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณขยะทั้งหมดในกองขยะ และถังรองรับขยะอันตราย คือ ถังสีส้ม หรือถังสีเทาฝาส้ม 

       4. ขยะทั่วไป (General waste) หรือ มูลฝอยทั่วไป คือ ขยะประเภทอื่นนอกเหนือจากขยะย่อยสลาย ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย มีลักษณะที่ย่อยสลายยาก และไม่คุ้มค่าสำหรับการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ห่อพลาสติกใส่ขนม ถุงพลาสติกบรรจุผงซักฟอก พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติกเปื้อนเศษอาหาร โฟมเปื้อนอาหาร ฟอล์ยเปื้อนอาหาร เป็นต้น ขยะทั่วไปนี้เป็นขยะที่มีปริมาณใกล้เคียงกับขยะอันตราย โดยพบประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณขยะทั้งหมดในกองขยะ และถังรองรับขยะทั่วไป คือ ถังสีน้ำเงิน

                                                             ขยะอันตราย                                                                                              ขยะทั่วไป

                                                         

(ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/3886-12745-2-PB.pdf)

       หากทุกคนช่วยกันแยกขยะอย่างถูกวิธีจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน นอกจากจะช่วยสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบที่ดีในการทิ้งขยะแล้ว ยังก่อให้เกิดคุณประโยชน์ในหลายๆ ด้าน คือ

              - ช่วยลดปริมาณขยะ เพราะเมื่อแยกวัสดุที่มีประโยชน์ออก เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก จะเหลือปริมาณขยะจริงที่ต้องกำจัดหรือทำลายน้อยลง
              - ประหยัดงบประมาณที่ใช้ในการกำจัดขยะ เมื่อปริมาณขยะจริงที่ต้องกำจัดหรือทำลายน้อยลง ส่งผลให้ใช้งบประมาณในการเก็บขนและกำจัดขยะน้อยลงไปด้วย ทำให้สามารถนำงบประมาณที่เหลือไปพัฒนาด้านอื่นเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนได้  
              - สามารถนำวัสดุหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก 
              - ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน เนื่องจากสามารถนำวัสดุประเภท แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก มารีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ ทำให้ลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน 
              - ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม หากขยะมีปริมาณลดน้อยลง สิ่งแวดล้อมก็จะมีคุณภาพดีขึ้น สะอาด และปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน 
 
 
(ที่มา : https://www.m-culture.go.th/th/article_view.php?nid=23116)
 
       ดังนั้น เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปริมาณขยะได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยการแยกประเภทของขยะก่อนนำไปทิ้งในถังขยะสาธารณะทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัดหรือใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งหากปริมาณขยะลดน้อยลงก็ส่งผลให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศดีขึ้นด้วย  
 

เอกสารอ้างอิง

กองส่งเสริมบำรุงความรู้ กรมยุทธศึกษาทหารบก. การจัดการและการคัดแยกขยะ. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2562]. 
       เข้าถึงจาก : http://nrei.rmutsv.ac.th/sites/default/files/poprosal/บทความการจัดการและการคัดแยกขยะ%20S.pdf
กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. ขยะมูลฝอยและการใช้ประโยชน์ : ความรู้ด้าน 3Rs. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2562].  
       เข้าถึงจาก : http://www.pcd.go.th/info_serv/waste_3r.htm
สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ. คู่มือแนวทางการลด คัดแยก และใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอย
       สำหรับอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2562].  
       เข้าถึงจาก : http://www.mt.mahidol.ac.th/MT_Green/images/knowledge/แนวทางการลดคัดแยก%20และใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอย.pdf
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ. การจัดการขยะมูลฝอย วาระแห่งชาติ…เริ่มต้นได้ที่ตัวเรา. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2562]. 
       เข้าถึงจาก : https://www.prachachat.net/columns/news-292725