ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       กล้วย (Banana) เป็นพืชล้มลุกขนาดใหญ่ในเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดอยู่  ในวงศ์ Musaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Musa sapientum L. สำหรับประเทศไทยพบว่ามีการปลูกกล้วยกันมาช้านาน สันนิษฐานว่ามีคนไทยปลูกกล้วยมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย หรือประมาณ 1,300 ปี มาแล้ว และในปัจจุบันกล้วยถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศ มีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งกล้วยป่า กล้วยท้องถิ่น และกล้วยที่นำมาจากต่างประเทศ โดยนิยมปลูกกันแพร่หลายทั่วทุกภูมิภาค เนื่องจากปลูกง่าย ให้ผลผลิตเร็ว และสามารถนำทุกส่วนมาใช้ประโยชน์ได้

              

                                            (ที่มา : https://www.krungthai-axa.co.th/en/banana)                 (ที่มา : https://sukkaphap-d.com/15-สรรพคุณประโยชน์ของกล/)

 

       จากรายงานพบว่ากล้วยเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต โพแทสเซียม แมกนีเซียม ไอโอดีน วิตามินซี บี อี และแคโรทีน ที่มีสรรพคุณในการช่วยป้องกัน และรักษาโรคได้หลายชนิด ซึ่งผลสุกนอกจากจะใช้รับประทานแล้ว ยังสามารถนำมาปรุงอาหารคาวหวานและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีการแปรรูปทั้งด้านอาหาร และไม่ใช่อาหาร เช่น การอบ/ตาก การทอด การปิ้ง การต้ม/นึ่ง การแปรรูปเชือกกล้วย ทั้งนี้ การแปรรูปกล้วยต้องคำนึงถึงคุณภาพ และความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ผลิตภัณฑ์ที่ได้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยผลิตภัณฑ์จากกล้วยที่มีคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ได้แก่

       1. น้ำกล้วย (Banana drink) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำกล้วย (มผช.1483/2558) เป็นเครื่องดื่มที่ได้จากการนำกล้วยสด หรืออาจนำไปนึ่งก่อนปอกเปลือก แล้วนำเนื้อกล้วยมาตีป่นกับน้ำ กรอง อาจมีการปรุงแต่งกลิ่นรสและเติมส่วนผสมอื่น เช่น น้ำตาล กรดซิทริก น้ำนมถั่วเหลือง ชาเขียว อาจเติมสเตบิไลเซอร์ นำไปฆ่าเชื้อโดยวิธีพาสเจอร์ไรซ์ก่อนหรือหลังบรรจุ และเก็บรักษาโดยการแช่เย็น 
       2. กล้วยอบ (Dried banana) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน กล้วยอบ (มผช.112/2558) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำกล้วยมาทำให้แห้งโดยใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์หรือแหล่งพลังงานอื่น อาจปรุงแต่งรสก่อนหรือหลัง การทำให้แห้งด้วยส่วนประกอบอื่น เช่น น้ำผึ้ง หรือวัตถุปรุงแต่งกลิ่นรสอื่นก็ได้ อาจตกแต่ง เคลือบ หรือสอดไส้ด้วยส่วนประกอบอื่น เช่น ช็อกโกแลต งา ผลไม้กวน 
       3. แป้งกล้วย (Banana flour) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน แป้งกล้วย (มผช.1375/2550) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำกล้วยดิบมาแปรรูปเป็นแป้งก่อนนำไปประกอบอาหารเพื่อบริโภค โดยนำผลกล้วยมาปอกเปลือก อาจนึ่งหรือลวกก่อนปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นบาง ทำให้แห้งโดยใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์หรือแหล่งพลังงานอื่น บดให้ละเอียด ร่อนผ่านตะแกรง ซึ่งแป้งกล้วยมักนิยมนำมาใช้ทำอาหารประเภทขนมอบ ขนมไทย และเครื่องดื่ม
       4. กล้วยผงชงดื่ม (Instant banana) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน กล้วยผงชงดื่ม (มผช.1525/2562) เป็นเครื่องดื่มที่ได้จากการนำกล้วย อาจนำไปนึ่งหรือลวกก่อนปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้น ทำให้แห้งโดยใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์หรือแหล่งพลังงานอื่น บดให้ละเอียด อาจเติมส่วนประกอบอื่น เช่น น้ำตาล เกลือ นมผง ผงโกโก้ หรือได้จากการนำน้ำกล้วยมาทำให้แห้งด้วยวิธีที่เหมาะสม
       5. ผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วย (Banana rope products) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วย (มผช.56/2560) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำกาบและก้านของต้นกล้วยที่กรีดเป็นเส้น ทำให้แห้ง อาจถักเปียหรือฟั่นเป็นเกลียวตามขนาดที่ต้องการ มาออกแบบหรือประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ อาจแต่งสีหรือย้อมสี เคลือบด้วยสารเคลือบผิว ประกอบหรือตกแต่งด้วยวัสดุอื่นเพื่อเพิ่มความแข็งแรงหรือความสวยงาม เช่น โลหะ ไม้ พลาสติก กระดาษแข็ง ผ้า ลูกปัด ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ กระเป๋า ตะกร้า ถาดผลไม้
 

                                           กล้วยอบ                                                              แป้งกล้วย                                                     ผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วย

                              

                      (ที่มา : https://cooking.kapook.com/                  (ที่มา : http://www.chutamas.info/?p=1212)      (ที่มา : https://www.77kaoded.com/content/186938)

                                  view197053.html)
 

       นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปกล้วย ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน กล้วยในน้ำผึ้ง (มผช.757/2548) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน กล้วยหมี่ (มผช.1242/2559) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ปลีกล้วยแห้งชงดื่ม (มผช.1524/2562) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ผ้าใยกล้วย (มผช.925/2548) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์ใยกล้วย (มผช.928/2548) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์กาบกล้วย (มผช.943/2548) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เครื่องเรือนเชือกกล้วย (มผช.1248/2558) ผู้สนใจสามารถเข้าดูเอกสาร มผช. แบบออนไลน์ได้ที่ http://otop.dss.go.th/index.php/en/2014-09-18-13-01-47/standard   

                                                            ผ้าใยกล้วย                                                                                      ผลิตภัณฑ์กาบกล้วย

                                                                             

                                  (ที่มา : http://www.thinsiam.com/archives/80446)                              (ที่มา : https://mgronline.com/smes/detail/9520000049847)
 
       อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วยในเชิงการค้ามากขึ้น เนื่องจากการแปรรูปกล้วยเป็นกรรมวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยเกษตรกรป้องกันกล้วยสดล้นตลาด ยกระดับราคาผลผลิตไม่ให้ตกต่ำ ยืดอายุการเก็บรักษา และส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ออกสู่ตลาด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่อง การแปรรูปกล้วย ได้จากเอกสารภายในสำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยสามารถสืบค้นได้จากฐานข้อมูลระบบห้องสมุดอัตโนมัติในเว็บไซต์ http://library.dss.go.th/ จากคำสืบค้น คือ
                                   -  กล้วย (http://library.dss.go.th/cgi-bin/koha/opac-search.pl?q=กล้วย) 
                                   -  กล้วยหอม (http://library.dss.go.th/cgi-bin/koha/opac-search.pl?q=กล้วยหอม)
                                   -  แป้งกล้วย (http://library.dss.go.th/cgi-bin/koha/opac-search.pl?q=แป้งกล้วย)
 
เอกสารอ้างอิง
กองบรรณาธิการขุมทรัพย์เทวดา. กล้วย พืชปลูกง่ายได้เงินล้าน. เคล็ดลับวิธีปลูกและผลิตกล้วยหอม และสารพัดกล้วย พืชปลูกง่ายได้เงินล้าน.
       กรุงเทพฯ : ขุมทรัพย์เทวดา, 2560, หน้า 23-24.
จุฑา  พีรพัชระ. บทที่ 3 แป้งกล้วย. ผลิตภัณฑ์ขนมอบจากแป้งกล้วย. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2547, หน้า 8-17.
ปัญญา  ไพศาลอนันต์. คุณค่าทางโภชนาการ. กินกล้วยช่วยชีวิต. กรุงเทพฯ : แบงค์คอกบุ๊คส์, 2553, หน้า 29-32.
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน กล้วยผงชงดื่ม มผช.1525/2562. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562]. 
       เข้าถึงจาก : http://tcps.tisi.go.th/pub/tcps1525_62(กล้วยผงชงดื่ม).pdf 
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน กล้วยอบ มผช.112/2558. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562]. 
       เข้าถึงจาก : http://tcps.tisi.go.th/pub/tcps0112_58(กล้วยอบ).pdf 
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำกล้วย มผช.1483/2558. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562]. 
       เข้าถึงจาก : http://tcps.tisi.go.th/pub/tcps1483_58(น้ำกล้วย).pdf 
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน แป้งกล้วย มผช.1375/2550. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562]. 
       เข้าถึงจาก : http://tcps.tisi.go.th/pub/tcps1375_50.pdf 
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วย มผช.56/2560. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562]. 
       เข้าถึงจาก : http://tcps.tisi.go.th/pub/tcps0056_60(ผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วย).pdf 
สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ. กรรมวิธีการแปรรูปกล้วย. ประมวลสารสนเทศพร้อมใช้ เรื่อง การแปรรูปกล้วย (IR 42).
       กรุงเทพฯ : สำนัก, 2560, หน้า 31.
สุทธิชัย  ปทุมล่องทอง. กล้วยชนิดต่างๆ ที่เรารู้จัก. สุขภาพดีไม่มีป่วย มหัศจรรย์กล้วยช่วยคุณได้. กรุงเทพฯ : อีเทอร์นิตี้ไอเดีย 168, [ม.ป.ป.], หน้า 32-36.