ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

       วิตามินอี หรือ โทโรพีรอล (Tocopherol) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน จัดเป็นแอลกอฮอล์ชนิดไม่อิ่มตัว มีลักษณะเป็นน้ำมันสีเหลืองอ่อน ทนต่อความร้อนและกรด แต่ไม่ทนต่อด่าง รังสีอัลตราไวโอเลต และออกซิเจน จะถูกทำลายเมื่อสัมผัสกับน้ำมันที่เหม็นหืน ตะกั่ว และเหล็ก วิตามินอีมีคุณสมบัติในการป้องกันการเกิดออกซิเดชัน (oxidation) ของกรดไขมันไม่อิ่มตัว มีการดูดซึมโดยอาศัยเกลือน้ำดีและไขมัน ถูกเก็บสะสมในร่างกายบริเวณตับ หัวใจ อัณฑะ มดลูก กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อไขมัน ต่อมหมวกไต และต่อมใต้สมอง 

ที่มา : https://biopharm.co.th/วิตามิน-อี-vitamin-e/

       วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ ช่วยป้องกันเซลล์และเนื้อเยื่อร่างกายจากอนุมูลอิสระ จำเป็นต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง อีกทั้งยังช่วยยืดอายุการใช้งานของเซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกายให้นานขึ้น ช่วยผลิตฮอร์โมนต่างๆ ทำให้เกิดความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ป้องกันเซลล์สมอง และป้องกันเซลล์ปอด ทำให้ระบบการหายใจและระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ป้องกัน LDL ของคอเลสเตอรอลไม่ให้เกาะและพอกผนังหลอดเลือด (ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ) ช่วยให้เลือดไม่เกาะเหนียวเป็นเกล็ดเม็ดเลือด นอกจากนี้ยังทำให้ระบบประสาทกล้ามเนื้อรวมถึงสายตาดีขึ้น และช่วยขจัดสาร Prostaglandin E2 ไม่ให้เป็นอันตรายต่อระบบคุ้มกัน 
 
       วิตามินอีพบมากในพืชประเภทที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วลิสง เมล็ดพืช น้ำมันพืช  น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันจากจมูกข้าวสาลี (wheat germ) น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดฝ้าย อัลมอนด์ และผักใบเขียว นอกจากนี้ยังพบในเนื้อสัตว์ ได้แก่ ปลาแซวมอน เนย นม และไข่
 
   
        ที่มา : https://bit.ly/34UBwyv                 ที่มา : https://bit.ly/2s3JZ3C         ที่มา : https://medthai.com/อัลมอนด์/
 
       ร่างกายมนุษย์ควรได้รับวิตามินอีในปริมาณที่เพียงพอ โดยปริมาณวิตามินอีที่ควรได้รับในเด็กคือ 6-7 มิลลิกรัม วัยรุ่นและผู้ใหญ่คือ 11-15 มิลลิกรัม สำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเพิ่มปริมาณจากเดิมขึ้นอีก 2-4 มิลลิกรัม เพราะหากร่างกายขาดวิตามินอีจะทำให้เม็ดเลือดเปราะ เกิดภาวะโลหิตจาง เนื้อเยื่อเสื่อมสภาพเร็ว นำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว ระบบประสาททำงานผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง สำหรับหญิงมีครรภ์อาจแท้งบุตรได้ง่าย แต่หากร่างกายได้รับวิตามินอีมากเกินไปจะมีอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามั่ว อ่อนเพลีย อึดอัดในช่องท้อง และท้องเสีย ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่อง วิตามินอี โดยเอกสารอ้างอิงทั้งหมด สามารถขอรับบริการได้ที่สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ หรือสามารถสืบค้นได้จากฐานข้อมูลระบบห้องสมุดอัตโนมัติในเว็บไซต์ http://siweb.dss.go.th/ จากคำสืบค้น วิตามินอี (http://library.dss.go.th/cgi-bin/koha/opac-search.pl?q=วิตามินอี)
 
 
 
 
เอกสารอ้างอิง
พวงผกา แก้วมณี. มหัศจรรย์วิตามินยอดนิยม A-Z. วิตามินอี ผู้สร้างคุณค่าแห่งความงามและอายุวัฒนะ.  
       กรุงเทพฯ : เบสบุ๊ค, 2554, หน้า 203-205.
ลักษณา อินทร์กลับ. โภชนาศาสตร์เชิงชีวเคมี วิตามิน เกลือแร่ น้ำ และใยอาหาร. วิตามินอี.
       กรุงเทพฯ : มีเดียการพิมพ์, 2543, หน้า 48-51.
วิชัย คงสุวรรณ. แร่ธาตุจำเป็นต่อสุขภาพ เล่ม2. วิตามินอี. กรุงเทพฯ : เอ็ม.ที.พริ้นท์, 2547, หน้า 94-99.
สุพัตรา แซ่ลิ่ม. วิตามินกินถูกสุขภาพดี. วิตามินอี. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553, หน้า 152-153.