ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

       เส้นใยอาหาร คือ ผนังของเซลล์พืชที่ไม่สามารถถูกย่อยด้วยเอนไซม์ในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ แต่อาจถูกย่อยโดยจุลินทรีย์บางชนิด ทำให้ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและไม่ให้พลังงานต่อร่างกาย พบมากในผัก ผลไม้ และเมล็ดธัญพืช เส้นใยอาหารเป็นสารประกอบของน้ำตาลเชิงช้อนที่เรียกว่า พอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) มีโครงสร้างและโมเลกุลของน้ำตาลอื่นๆ เช่น กลูโคส กาแลคโตส ไซโลส แมนโนส มีส่วนประกอบที่เป็นแอลกอฮอล์ และส่วนประกอบอื่นๆ อย่างกรดกาแลคทูโรนิก

ที่มา : http://www.richlyhealth.com/wp-content/uploads/2019/08/980x-700x429.jpg

 
เส้นใยอาหารแบ่งตามคุณสมบัติการละลายได้ 2 ชนิด ดังนี้
 
1.เส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ (Soluble dietary fiber)
       เส้นใยชนิดนี้มักจะปะปนอยู่ในส่วนที่เป็นแป้งของพืช แบ่งออกได้ 3 ชนิด คือ กัม (Gum) เพคติน (Pectin) และมิวซิเลจ (Mucilage) มีลักษณะเหนียวหนืด เมื่ออยู่ในลำไส้เล็กจะรวมตัวกับสารอาหารต่างๆ เอนไซม์ และกรดน้ำดี ทำให้เกิดโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นเจล ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลและไขมันจากลำไส้เล็ก ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด เส้นใยอาหารที่ละลายน้ำส่วนมากจะพบในสาหร่าย ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ กล้วย แครอท ส้ม องุ่น แอปเปิล และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
 
          
 ที่มา : https://1th.me/vVuYh   ที่มา : https://1th.me/nEUKT ที่มา : https://1th.me/aU6c9
 
2.เส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ (Insoluble dietary fiber)
       เส้นใยชนิดนี้เป็นโครงสร้างของพืชชนิดที่ไม่สามารถละลายน้ำได้ แบ่งออกได้ 3 ชนิด คือ เซลลูโลส (Cellulose) เฮมิเซลลูโลส (Hemicellulose) และลิกนิน (Lignin) มีลักษณะเป็นเส้นใยชนิดหยาบ ประกอบด้วยโมเลกุลของน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตเกาะกันอยู่ จึงทำให้เอนไซม์ที่ย่อยแป้งไม่สามารถย่อยเซลลูโลสได้ เส้นใยชนิดนี้มีคุณสมบัติพองตัว ดูดซับน้ำได้ ทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว กระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้บีบตัว ช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระและทำให้อ่อนนุ่ม ขับล้างสารพิษออกจากร่างกาย ป้องกันโรคมะเร็งกระเพราะอาหาร มะเร็งลำไส้ และผนังลำไส้อักเสบ ช่วยบำรุงสุขภาพเหงือก กราม คาง และฟัน ป้องกันโรคไส้ติ่งอักเสบ อีกทั้งยังช่วยป้องกันและรักษาอาการท้องผูกทำให้ลำไส้มีสุขภาพดี เส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำมักพบได้ในเมล็ดพืชต่างๆ รำข้าวสาลี เห็ดหอม เห็ดฟาง ข้าวกล้อง เมล็ดถั่วเปลือกแข็ง ผักต่างๆ ผลไม้สุก และขนมปังโฮลวีต
 
            
   ที่มา : https://1th.me/xhyi2    ที่มา : https://1th.me/EE9r7        ที่มา : https://1th.me/5siM7
 
       จะเห็นได้ว่า เส้นใยอาหารเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริโภคควรได้รับจากการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ เพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายของเสียทำงานปกติ ป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ของลำไส้ใหญ่ โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัยได้กำหนดปริมาณเส้นใยอาหารที่ร่างกายควรรับเท่ากับ 25 กรัมต่อวัน สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป แต่หากบริโภคเส้นใยอาหารมากเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาต่อการดูดซึมแคลเซียม เหล็ก และสังกะสี ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารหลัก 5 หมู่ คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดตร ไขมัน ผักและผลไม้ ในปริมาณที่พอเหมาะ นอกจากจะได้รับสารอาหารครบถ้วนแล้วยังได้รับเส้นใยอาหารที่เพียงพอ ทำให้ไม่เกิดอาการท้องผูก มีสุขภาพแข็งแรงและมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่อง เส้นใยอาหาร โดยเอกสารอ้างอิงทั้งหมด สามารถขอรับบริการได้ที่สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ หรือสามารถสืบค้นได้จากฐานข้อมูลระบบห้องสมุดอัตโนมัติในเว็บไซต์ http://siweb.dss.go.th จากคำสืบค้น ใยอาหาร (http://library.dss.go.th/cgi-bin/koha/opac-search.pl?q=ใยอาหาร)         
 
 
 
 
เอกสารอ้างอิง
 
ปริชาติ สักกะทำนุ. คุณค่าอาหารเส้นใยและข้าวกล้อง. ทำความรู้จักกับเส้นใย. กรุงเทพฯ : รวมทรรศน์, 
       2544, หน้า 35-46.
ลักษณา อินทร์กลับ. โภชนาศาสตร์เชิงชีวเคมี วิตามิน เกลือแร่ น้ำ และใยอาหาร. ใยอาหาร. 
       กรุงเทพฯ : มีเดียการพิมพ์, 2543, หน้า 163-174.
วชิรา วิเศกก์สมบูลย์. Fibre เส้นใยอาหาร สารสำคัญเพื่อคนรักสุขภาพและรูปร่าง. ทำความรู้จัก Fibre 
       กันก่อน. กรุงเทพฯ : พิมพ์ดี, 2553, หน้า 9-12.
วชิรา วิเศกก์สมบูลย์. Fibre เส้นใยอาหาร สารสำคัญเพื่อคนรักสุขภาพและรูปร่าง. ไฟเบอร์ธรรมชาติ. 
       กรุงเทพฯ : พิมพ์ดี, 2553, หน้า 15-23.
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย. หลักโภชนาการ. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2562] เข้าถึง
       http://www.fhpprogram.org/general-information/nutrition-guide