ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       เมื่อประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นปริมาณความต้องการอาหารก็เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากประชากรนิยมหันไปบริโภคอาหารตามประเทศตะวันตก ทำให้การทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมขยายตัวมากในหลายๆ ประเทศ แต่เนื่องจากการทำปศุสัตว์เป็นกระบวนการที่มีหลายขั้นตอน และมีปัจจัยการผลิตหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น สัตว์เลี้ยงในฟาร์ม อาหารสัตว์ โรงเรือน การจัดการเลี้ยงดู การจัดการของเสีย การขนส่ง เป็นต้น โดยขั้นตอนเหล่านี้มักมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) ทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

                                                                      

                                         (ที่มา : https://greenworld.or.th/green_issue/                                       (ที่มา : https://library.mju.ac.th/km/?p=655)
                                                       สาหร่ายแดงลดโลกร้อนคว/)
 
       หากมีการสะสมปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้นจะก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของเกิดภาวะโลกร้อน (Global warming) อันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งนี้ จากรายงานพบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากภาคเกษตรกรรมคิดเป็นร้อยละ 24 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการทำปศุสัตว์คิดเป็นร้อยละ 14 ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคคมนาคมขนส่ง
 
 
(ที่มา : https://library.mju.ac.th/km/?p=729)
 
โดยการทำปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ 3 ชนิด คือ
       1. ก๊าซมีเทน (Methane, CH4) แหล่งผลิตก๊าซมีเทนจากสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ การหมักย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งจะปล่อยออกมาทางลมหายใจและการเรอ รวมถึงมูลสัตว์ที่ถูกเก็บไว้ในโรงเรือนและกลางแจ้ง ทั้งในรูปแบบของเหลวและของแข็ง ซึ่งก๊าซเรือนกระจกชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 21 เท่า
       2. ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide, N2O) แหล่งผลิตก๊าซไนตรัสออกไซด์จากสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในแปลงพืชอาหารสัตว์ และเกิดจากมูลและปัสสาวะของสัตว์ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 310 เท่า 
       3. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide, CO2) แหล่งผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ การหายใจของสัตว์ การขยายพื้นที่สำหรับทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตอาหารสัตว์ การแปรรูป และการขนส่ง ซึ่งก๊าซเรือนกระจกชนิดนี้ถูกปล่อยออกมาในปริมาณค่อนข้างต่ำ
 
                                    ก๊าซมีเทนเกิดจากการหมักย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง                      ก๊าซไนตรัสออกไซด์เกิดจากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในแปลงพืชอาหารสัตว์ 
 
                                                                    
 
                                    (ที่มา : http://th.yaobionutrition.com/news/rumen-                         (ที่มา : https://mgronline.com/local/detail/9590000018464)
                               microbes-play-an-important-roles-in-rumi-14449046.html)
 
       การทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมนอกจากเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญของโลกในขณะนี้แล้วนั้น ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ อีกมากมาย เช่น
              - การตัดไม้ทำลายป่า เพื่อใช้พื้นที่ในการทำฟาร์ม และปลูกพืชอาหารเลี้ยงสัตว์ 
              - สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์กำลังสูญพันธุ์ ทำให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
              - การทำลายผิวดิน เนื่องจากมีการใช้ปุ๋ยเคมี และสารกำจัดศัตรูพืชในแปลงอาหารสัตว์
              - สิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำ เนื่องจากการทำปศุสัตว์มีกระบวนที่ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก 
 
       ดังนั้น แนวทางหนึ่งที่เราทุกคนสามารถช่วยกันบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้ คือ การเลือกบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์ให้น้อยลง และหันมาบริโภคอาหารประเภทผักผลไม้ให้มากขึ้น เพราะหากผู้บริโภครับประทานเนื้อสัตว์น้อยลง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตเนื้อสัตว์ลดลงตามไปด้วย ทำให้สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำปศุสัตว์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนได้นั่นเอง
 
เอกสารอ้างอิง
กรีนพีซ (Greenpeace Thailand). ผลกระทบจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์. [ออนไลน์]  อ้างถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562]. 
       เข้าถึงจาก : https://www.greenpeace.org/thailand/act/food-system/food-industry-impact/
กรีนพีซ (Greenpeace Thailand). ลด เพื่อเพิ่ม “ลด” เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเชิงอุตสาหกรรม“เพิ่ม” สุขภาวะที่ดีของมนุษย์และโลก. [ออนไลน์] 
       [อ้างถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562]. เข้าถึงจาก : https://www.greenpeace.or.th/report/summary-greenpeace-livestock-vision-towards-2050.pdf
ธำรงศักดิ์  พลบำรุง. การลดก๊าซเรือนกระจกในระบบการผลิตสัตว์. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2562]. 
       เข้าถึงจาก : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/Global%20warming2.pdf
ยิ่งลักษณ์  มูลสาร. ภาวะโลกร้อนจากการผลิตสัตว์. การจัดการอาหารสัตว์เพื่อลดภาวะโลกร้อน, กรุงเทพฯ : แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560, หน้า 47-65.