ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

       มังคุด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia mangostana Linn. เป็นพันธุ์ไม้ไม่ผลัดใบเขตร้อนชื้นชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะซุนดาและหมู่เกาะโมลุกกะ และยังเป็นผลไม้ที่นิยมอย่างมากในแถบเอเชีย โดยได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชินีแห่งผลไม้” อาจเป็นเพราะลักษณะภายนอกของผลที่มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่หัวขั้วของผลคล้ายมงกุฎของพระราชินี ส่วนเนื้อในก็มีสีขาวสะอาด มีรสชาติที่แสนหวาน และยังเป็นผลไม้ที่จัดว่ามีประโยชน์มากชนิดหนึ่ง โดยประโยชน์ของมังคุดไม่ได้อยู่แค่เนื้อที่เรานิยมรับประทานกันเท่านั้น เปลือกมังคุดก็มีประโยชน์มากมายในการรักษาโรคเช่นกัน

(ที่มา : https://www.linkedin.com/pulse/trip-vietnam-try-vietnamese-fruit-vietnam-tour-pedia)

       มังคุดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นทรงกลม สูงประมาณ 7-25 เมตร แตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น เป็นใบเดี่ยว ไม่พลัดใบ ใบมีลักษณะเป็นวงรีหรือรูปไข่ ออกดอกเป็นคู่หรือเดี่ยว ดอกมีกลีบแดงสีแดงฉ่ำ ส่วนผลของมังคุดมีลักษณะเป็นทรงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.2-7 เซนติเมตร เปลือกมังคุดหนาประมาณ 0.7-1.0 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวอมเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีเขียว เขียวเข้ม เขียวอมม่วง สีม่วง และสีดำเมื่อสุกจัด เปลือกด้านนอกมีลักษณะแข็ง เป็นมัน เปลือกด้านในอ่อน มีสีม่วงแดง ถัดมาเป็นเนื้อผล มีลักษณะเป็นรอน 4-8 รอน แต่ละรอนห่อหุ้มเมล็ด 1 เมล็ด เนื้อผลมีสีขาว อ่อนนุ่มคล้ายวุ้น มีเส้น vein สีชมพูติดอยู่ ให้รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย        

(ที่มา : http://science.sut.ac.th/gradbio/stupresent/2551/1_2551/gr_1/page2.html)

       ผลมังคุดสามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งอาหารคาวและหวาน เช่น แกง ยำ มังคุดลอยแก้ว แยมมังคุด มังคุดกวน มังคุดแช่อิ่ม ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมรับประทานมังคุดสุกเป็นผลไม้ ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย มีส่วนช่วยในการชะลอวัยและการเกิดริ้วรอย และยังมีส่วนช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใสอีกด้วย  เนื้อมังคุดมีคุณค่าทางอาหารสูงโดยเฉพาะโพแทสเซียม โปรตีน สารเยื่อใย วิตามินซี ฟอสฟอรัส แคลเซียมและแมกนีเซียม
       เปลือกของมังคุดมีสารให้รสฝาด คือแทนนิน แซนโทน (โดยเฉพาะแมงโกสติน) แทนนินมีฤทธิ์ฝาดสมาน ทำให้แผลหายเร็ว แมงโกสตินช่วยลดอาการอักเสบและมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองได้ดี ในทางยาสมุนไพร ใช้เปลือกมังคุดตากแห้งต้มกับน้ำหรือย่างไฟ ฝนกับน้ำปูนใส แก้ท้องเสีย เปลือกแห้งฝนกับน้ำปูนใส ใช้รักษาอาการน้ำกัดเท้า แผลเปื่อย เปลือกมังคุด มีสารป้องกันเชื้อราเหมาะแก่การหมักปุ๋ย 
       ยางมังคุด มีประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมหลายประเภท เนื่องจากยางมังคุดใช้เป็นวัตถุดิบในการสกัดสารกลุ่มแซนโทน ซึ่งแต่ละชนิดที่มีฤทธิ์ทางยาที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมพลาสติก นอกจากนั้นยางมังคุดยังเข้ามามีบทบาทในการใช้เป็นสารเจือปนในอาหาร เพราะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Staphylococcus Aureus ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้
 
สรรพคุณของมังคุด
     - ประโยชน์ของเปลือกมังคุดมีส่วนช่วยป้องกันอาการไข้ (ไข้ระดับต่ำ)
     - ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง
     - ช่วยเพิ่มพลังงานแก่ร่างกาย เพิ่มความกระปรี้กระเปร่า
     - มังคุดรักษาสิว เปลือกมังคุดมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว และยังออกฤทธิ์ต้านสิวอักเสบได้ดีอีกด้วย
     - มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้า ลดความเครียด
     - ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน โรคเกี่ยวกับระบบประสาท
     - สารสกัดจากมังคุดช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดทีเอช 1 และทีเอช 17 มีฤทธิ์ช่วยกำจัดและป้องกันการก่อเกิดเซลล์มะเร็งเกือบทุกชนิดได้
     - ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งชนิดต่าง ๆ อย่าง เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร
     - ช่วยในการขยายตัวของหลอดเลือด ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
     - ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหัวใจ
     - ช่วยลดความดันโลหิต
     - ช่วยรักษาไทรอยด์เป็นพิษ
     - ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายและลดไขมันที่ไม่ดีในเส้นเลือด
     - มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดเนื้องอกในร่างกาย
     - มีสวนช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ด้วยคุณสมบัติในการลดและควบคุมระดับน้ำตาล
     - ช่วยป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้
     - มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการของโรคหอบหืด
     - มีส่วนช่วยบำรุงและรักษาสายตา
     - ช่วยบำรุงสุขภาพช่องปากและเหงือกให้แข็งแรง
     - ช่วยรักษาและสมานแผลในช่องปากหรือปากแตกให้หายเร็วยิ่งขึ้น
    - ไฟเบอร์จากมังคุดช่วยในการย่อยอาหาร ป้องกันอาการท้องผูก
     - ช่วยแก้อาการท้องเสีย ด้วยการใช้เปลือกมังคุดตากแห้งต้มกับน้ำหรือย่างไฟ นำมาฝนกับน้ำปูนใส
     - ช่วยแก้อาการท้องร่วงเรื้อรัง อาการถ่ายเป็นมูกเลือด ด้วยการใช้เปลือกสดหรือแห้งฝนกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้เปลือกแห้งนำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้ผลเหมือนกัน
     - ช่วยให้ระบบทางเดินปัสสาวะอยู่ในสภาวะปกติ
     - ช่วยป้องกันการเกิดโรคนิ่วในไต
     - มีส่วนช่วยป้องกันอาการตับเสื่อม ไตวาย
     - ช่วยรักษาอาการข้อเข่าอักเสบ
     - เปลือกของมังคุดมีสารแทนนินที่มีฤทธิ์ฝาดสมาน ทำให้แผลหายเร็ว
     - ช่วยลดอาการอักเสบและมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง (เปลือก)
     - ช่วยยับยั้งการเกิดและใช้รักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ อย่าง กลากเกลื้อน ผดผื่นคันต่าง ๆ ด้วยการใช้เปลือกมังคุดแห้งต้มน้ำอาบ หรือใช้น้ำต้มเปลือกมาทาบริเวณที่เป็น
     - ใช้รักษาอาการน้ำกัดเท้า แผลเปื่อย ด้วยการใช้เปลือกแห้งฝนกับน้ำปูนใส
 
คุณค่าทางอาหารของมังคุด
ผลมังคุดจะมีเนื้อประมาณร้อยละ 25-30 เนื้อมังคุดจะมีความชื้นประมาณร้อยละ 80 มีน้ำตาลประมาณร้อยละ 17.5 ประกอบด้วยน้ำตาลฟรุกโตส กลูโคส และซูโครส และสารอาหารต่างๆหลายชนิด
 
คุณค่าทางโภชนาการของมังคุดกระป๋อง ต่อ 100 กรัม
     - พลังงาน 73 กิโลแคลอรี                              -    คาร์โบไฮเดรต 17.91 กรัม
     - ใยอาหาร 1.8 กรัม                                      -    ไขมัน 0.58 กรัม
     - โปรตีน 0.41 กรัม                                      -    วิตามินบี 1 0.054 มิลลิกรัม 5%
     - วิตามินบี 2 0.054 มิลลิกรัม 5%                   -    วิตามินบี 3 0.286 มิลลิกรัม 2%
     - วิตามินบี 5 0.032 มิลลิกรัม 1%                  -    วิตามินบี 6 0.018 มิลลิกรัม 1%
     - วิตามินบี 9 31 ไมโครกรัม 8%                     -    วิตามินซี 2.9 มิลลิกรัม 3%
     - ธาตุแคลเซียม 12 มิลลิกรัม 1%                   -    ธาตุเหล็ก 0.3 มิลลิกรัม 2%
     - ธาตุแมกนีเซียม 13 มิลลิกรัม 4%                 -    ธาตุแมงกานีส 0.102 มิลลิกรัม 5%
     - ธาตุฟอสฟอรัส 8 มิลลิกรัม 1%                    -    ธาตุโพแทสเซียม 48 มิลลิกรัม 1%
     - ธาตุโซเดียม 7 มิลลิกรัม 0%                       -    ธาตุสังกะสี 0.21 มิลลิกรัม 2%
*** % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database) ***
     
       นอกจากนี้ยังมีการนำมังคุดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น มังคุดกวน มังคุดอัดเม็ด ไวน์มังคุด น้ำมังคุดสกัด 100% ครีมบำรุงผิวพรรณ สบู่มังคุด กระถางต้นไม้จากเปลือกมังคุด ฯลฯ เพื่อเพิ่มคุณประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพของมังคุดให้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
 
 
เอกสารอ้างอิง
MedThai. มังคุด สรรพคุณและประโยชน์ของมังคุด 45 ข้อ !. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560]
เข้าถึงจาก https://medthai.com/มังคุด/
เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย. มังคุด สรรพคุณ และการปลูกมังคุด. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560] 
เข้าถึงจาก http://puechkaset.com/มังคุด/
มังคุด. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560] เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/มังคุด