ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       สาหร่ายทะเล (Seaweeds) จัดอยู่ในกลุ่มพืชชั้นต่ำที่ยังไม่มีราก ลำต้น และใบที่แท้จริง ไม่มีระบบท่อลำเลียงอาหารจากรากสู่ลำต้นและใบแบบพืชชั้นสูง แต่จะใช้วิธีดูดซับน้ำและแร่ธาตุจากน้ำทะเลสู่เซลล์ต่างๆ โดยตรง เป็นพืชที่ไม่มีดอกและผล สามารถแพร่กระจายพันธุ์ด้วยการสร้างสปอร์และแบ่งตัว สาหร่ายทะเลมีลักษณะหลายแบบทั้งที่เป็นแพลงก์ตอนลอยไปลอยมาในน้ำ บางชนิดมีเซลล์เดียว บางชนิดก็จับตัวกันเป็นกลุ่มหรือเป็นสาย และบางชนิดมีขนาดใหญ่เป็นต้นคล้ายพืชชั้นสูง โดยสาหร่ายทะเลแบ่งเป็นกลุ่มตามโครงสร้างและสีของสารสังเคราะห์ได้ 4 กลุ่ม คือ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Blue-green algae) สาหร่ายสีเขียว (Green algae) สาหร่ายสีน้ำตาล (Brown algae) และสาหร่ายสีแดง (Red algae)

                                                  สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน                                                                                          สาหร่ายสีเขียว

                                                                                   

              (ที่มา : http://www.scottiehobbs.com/blue-green-what-is-in-shakeology/)                           (ที่มา : http://www.dmcr.go.th/download/new_8_7.pdf)
 
                                                        สาหร่ายสีน้ำตาล                                                                                                สาหร่ายสีแดง
 
                                                                                             
 
              (ที่มา : http://www.jsppharma.com/Pharma-knowledge/Kelp-Extract.html)                          (ที่มา : http://www.dmcr.go.th/download/new_8_7.pdf)
 
ส่วนประกอบทางเคมีที่สำคัญของสาหร่ายทะเล ได้แก่
       1. กรดอะมิโน (Amino acid) ซึ่งกรดอะมิโนที่เป็นองค์ประกอบในสาหร่ายทะเล คือ Cysteine, Lysine, Aspartic, Glutamic, Proline, Methionine, Tryptophan, Arginine, และ Ornithine
       2. วิตามิน (Vitamins) ประกอบด้วย วิตามิน เอ, ซี, บี1, บี2, บี12, อี และดี โดยมีผลช่วยในการซ่อมแซมเส้นเลือดที่แตก ช่วยสมานแผล และยังมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ  
       3. เกลือแร่ (Mineral salts) ประกอบด้วย แมกนีเซียม โพแทสเซียม แคลเซียม และซิลิกอน ช่วยป้องกันเซลล์เหี่ยว และปรับสมดุลเกี่ยวกับความชุ่มชื้นของเซลล์   
       4. แร่ธาตุ (Trace elements) เช่น ไอโอดีน เหล็ก แมงกานีส โบรอน โคบอลต์ ทองแดง สังกะสี โบรมีน นิกเกิล อะลูมิเนียม แบเรียม ไทเทเนียม โครเมียม เป็นต้น ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalysts) และช่วยเร่งปฏิกิริยาทางชีวภาพของสารต่างๆ เพื่อให้ซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้อย่างรวดเร็ว
       ประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตสาหร่ายทะเลตามธรรมชาติเป็นจำนวนมากและมีความหลากหลาย ซึ่งพบสาหร่ายทะเลประมาณ 350 ชนิด เป็นสาหร่ายสีเขียว 100 ชนิด สาหร่ายสีแดง 180 ชนิด และสาหร่ายสีน้ำตาล 70 ชนิด ส่งผลให้มีการนำสาหร่ายทะเลมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ คือ
       1. ใช้เป็นอาหารมนุษย์ มนุษย์รู้จักนำสาหร่ายมาใช้เป็นอาหารนานนับพันปีแล้ว เนื่องจากอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด การบริโภคสาหร่ายส่วนใหญ่พบในประเทศทางเอเชีย โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ใช้สาหร่ายสีน้ำตาล (Laminaria) และสาหร่ายสีแดง (Porphyra) หรือที่เรียกว่า จีฉ่าย มาทำอาหารพวกแกงจืด ส่วนสาหร่ายเกลียวทอง (Spirulina) รู้จักกันอย่างกว้างขวางในรูปของอาหารเสริมสุขภาพ เพราะมีคุณสมบัติเด่นคือ มีปริมาณโปรตีนสูง
 
                                                                                    
 
                                                                                       (ที่มา : https://www.posttoday.com/life/life/517314)
 
       2. ใช้เป็นอาหารสัตว์ สาหร่ายทะเลสามารถนำไปเลี้ยงสัตว์กระเพาะเดี่ยว เช่น หมู และสัตว์ปีกได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง ยังเป็นอาหารที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อนที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น ปลา กุ้ง และแพลงก์ตอนสัตว์
       3. ใช้ในการกำจัดน้ำเสีย สาหร่ายทะเลใช้ในการกำจัดน้ำเสียร่วมกับแบคทีเรีย โดยแบคทีเรียจะทำหน้าที่ย่อยสารประกอบอินทรีย์ต่างๆ ที่มีอยู่ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ให้เป็นสารประกอบอนินทรีย์ เช่น แอมโมเนีย ไนเตรต คาร์บอนไดออกไซด์ และเกลือแร่ต่างๆ สำหรับสาหร่ายที่ได้จากระบบกำจัดน้ำเสียนี้อาจนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ยพืชสด หรือใช้ในการทำแก๊สชีวภาพ
       4. ใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินรู้จักกันแพร่หลายในการใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินในนาข้าวบางชนิดสามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศให้เป็นสารประกอบไนโตรเจน เช่น แอมโมเนีย ทำให้ข้าวเจริญเติบโตได้ดี
       5. ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สาหร่ายประกอบด้วยสารเคมีบางชนิดที่ช่วยในการรักษาผิวหนัง จากการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นพบว่า เครื่องสำอางที่ใช้สาหร่ายหรือสารสกัดจากสาหร่ายเป็นส่วนผสมจะช่วยให้ผิวพรรณดี และลดริ้วรอยได้ 
       6. ใช้ในอุตสาหกรรมยา มีการทดลองใช้สาหร่ายเกลียวทองในการป้องกันและรักษาโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคกระเพาะอาหาร รวมถึงช่วยลดความเครียดและความไม่สมดุลในร่างกาย โดยสาหร่ายที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยแยกได้ จากดินนาจังหวัดพิษณุโลก พบว่า สามารถผลิตสารปฏิชีวนะที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิดได้
       7. ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ สาหร่ายสีแดง เช่น สาหร่ายผมนาง (Gracilaria) สามารถนำไปสกัดเป็นวุ้น เพื่อใช้ในการประกอบอาหารและเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ สาหร่ายสีน้ำตาลบางชนิดสามารถนำไปสกัดเพื่อใช้ในการผลิตนม ขนมปัง ไอศกรีม ขนมหวาน ลูกกวาด สบู่ และแชมพูสระผม  
 
                                                 ปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายทะเล                                                                               ผลิตภัณฑ์ยาจากสาหร่ายทะเล
 
                                                                                                 
 
                                 (ที่มา : http://www.tistr.or.th/tistrblog/?p=2494)                                                          (ที่มา : http://biology.ipst.ac.th/?p=945)
 
       ปัจจุบันความนิยมบริโภคสาหร่ายทะเลเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย แต่สาหร่ายทะเลมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไต จึงไม่ควรรับประทานสาหร่ายทะเลมากจนเกินไป หรือรับประทานติดๆ กันเป็นเวลานาน และหากสาหร่ายทะเลขึ้นอยู่ในบริเวณที่มีสารพิษปนเปื้อน เมื่อบริโภคเข้าไปสารพิษนั้นก็จะเข้าสู่ร่างกาย เพราะสาหร่ายทะเลสามารถดูดซับสารที่อยู่ในทะเลได้ดี
 
เอกสารอ้างอิง
สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. “สาหร่าย” พืชมหัศจรรย์ สารพันประโยชน์
       [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 13 มีนาคม 2561].  เข้าถึงจาก : http://www.dmcr.go.th/download/new_8_7.pdf
อัญชุลี  เลิศสงคราม. สาหร่ายทะเล (Seaweeds).  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 13 มีนาคม 2561].  
       เข้าถึงจาก : https://www.gpo.or.th/Portals/6/Newsletter/RDINewsYr23No2-4.pdf
อาภารัตน์  มหาขันธ์. สาหร่ายทะเลที่นิยมบริโภค. สาหร่าย...มากคุณค่า...โอชารส
       กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, 2547, หน้า 10-31.