กล้วยน้ำว้า (Musa ABB cv. Kluai 'Namwa') เป็นผลไม้ที่คนไทยรู้จักมาตั้งแต่สมัยโบราณ นิยมปลูกกันแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศไทย เนื่องจากทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ปลูกง่าย ให้ผลผลิตเร็ว และนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน กล้วยน้ำว้าอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด ได้แก่ พลังงาน คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ โดยพบว่ากล้วยน้ำว้า 1 ผล ให้พลังงานประมาณ 59 กิโลแคลอรี่ เป็นผลไม้ที่สามารถรับประทานได้ทุกวัย ตั้งแต่วัยทารกอายุ 6 เดือนเต็ม เด็กปฐมวัย นักเรียน วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
(ที่มา : http://www.trueplookpanya.com/blog/content/58118)
โดยการบริโภคกล้วยน้ำว้าในแบบต่างๆ จะให้ประโยชน์แตกต่างกัน ดังนี้
1. กล้วยน้ำว้าดิบ ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหารได้ดี เนื่องจากมีสารแทนนิน (Tannin) ซึ่งมีฤทธิ์ในการเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ ป้องกันการติดเชื้อ กล้วยดิบไม่สามารถรับประทานสดได้ วิธีรับประทานให้นำกล้วยมาฝานเป็นแว่นๆ แล้วอบด้วยความร้อนต่ำไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส จนแห้ง จากนั้นนำมาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
2. กล้วยน้ำว้าห่าม หรือกล้วยกึ่งดิบกึ่งสุก สามารถรับประทานสดได้ รสชาติไม่หวานจัด ช่วยแก้ท้องเสีย เนื่องจากมีปริมาณโพแทสเซียมสูง หากผู้ที่มีอาการท้องเสียรับประทานกล้วยห่าม สามารถช่วยชดเชยโพแทสเซียมให้กับร่างกาย และทำให้อาการท้องเสียบรรเทาลง
กล้วยน้ำว้าดิบ กล้วยน้ำว้าห่าม
(ที่มา : http://www.tnews.co.th/contents/lt/454544) (ที่มา : https://www.postsod.com/raw-bananas-impulsive-ripe-dome)
3. กล้วยน้ำว้าสุก มีรสชาติอร่อย ผู้บริโภคนิยมรับประทาน ช่วยแก้ท้องผูก เนื่องจากมีสารเพคติน (Pectin) ซึ่งเป็นเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้อยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ช่วยเพิ่มกากใยในระบบทางเดินอาหาร และยังมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก (Prebiotic) ตามธรรมชาติ สามารถช่วยในการขับถ่ายได้เป็นอย่างดี
4. กล้วยน้ำว้างอม กล้วยมีสีเหลืองเข้มคล้ำๆ เนื้อกล้วยค่อนข้างเละ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยมนำมารับประทาน แต่ในทางกลับกันกล้วยงอมกลับมีประโยชน์มากมาย ทั้งช่วยสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ต้านโรคมะเร็ง ทำให้มีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกล้วยที่มีจุดดำมากๆ ก็จะยิ่งมีสารเสริมภูมิต้านทานมากด้วย
กล้วยน้ำว้าสุก กล้วยน้ำว้างอม
(ที่มา : http://sukkaphap-d.com/15-สรรพคุณประโยชน์ของกล/) (ที่มา : https://health.kapook.com/view105645.html)
การบริโภคกล้วยน้ำว้านอกจากจะให้คุณประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบรรเทารักษาโรคต่างๆ ได้อีกมากมาย คือ
- โรคโลหิตจาง กล้วยน้ำว้ามีธาตุเหล็กสูง ซึ่งเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นการผลิตฮีโมโกลบินในเลือด และช่วยในกรณีที่มีสภาวะขาดกำลัง หรือภาวะโลหิตจาง
- โรคความดันโลหิตสูง ในกล้วยมีปริมาณโพแทสเซียมสูง และมีปริมาณเกลือต่ำ ทำให้เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่เหมาะสำหรับช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ดี
- โรคเบาหวานและช่วยควบคุมน้ำหนัก กล้วยน้ำว้าสามารถป้องกันการเป็นโรคเบาหวานและควบคุมน้ำหนักได้ เมื่อรับประทานในปริมาณที่เพียงพอ เนื่องจากกล้วยน้ำว้า 1 ผล มีน้ำตาลประมาณ 3-5 กรัม และหากรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะจะทำให้สามารถควบคุมน้ำหนักได้
- ความรู้สึกไม่สบายในตอนเช้า การกินกล้วยเป็นอาหารว่างระหว่างมื้ออาหาร ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่สบายในตอนเช้าได้
- แก้ผื่นคัน เด็กที่ผิวหนังเป็นตุ่มคันจากยุงกัด มดกัด หรือเป็นผื่นคันเนื่องจากลมพิษ สามารถใช้เปลือกกล้วยน้ำว้าสุกด้านในทาบริเวณนั้นประมาณครึ่งนาที อาการคันจะลดลง และเปลือกกล้วยยังมีฤทธิ์ในการต้าน เชื้อราและแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองได้
- แก้เจ็บคอ เจ็บหน้าอก กล้วยน้ำว้าช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ หรืออาการเจ็บหน้าอกจากการไอแห้งๆได้ โดยรับประทานกล้วยวันละ 5-6 ผล จะช่วยให้อาการระคายเคืองลดน้อยลง
- ลดความเครียด กล้วยน้ำว้ามีโพแทสเซียมซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติ การส่งออกซิเจนไปยังสมอง และปรับสมดุลน้ำและแร่ธาตุในร่างกาย เวลาเกิดอารมณ์เครียด อัตรา Metabolic ในร่างกายจะสูงขึ้น และทำให้ระดับโพแทสเซียมลดลง แต่เมื่อรับประทานกล้วยน้ำว้าจะช่วยให้เกิดความสมดุล อีกทั้งกล้วยน้ำว้ายังมีสารทริปโตเฟน (Tryptophan) ที่เป็นสารตั้งต้นของฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเมื่อหลั่งออกมาจะทำให้มีความสุข
- ดับกลิ่นปาก กล้วยน้ำว้ามีสรรพคุณช่วยลดกลิ่นปากได้ดี โดยให้กินกล้วยหลังตื่นนอนทันที แล้วค่อยแปรงฟัน ทำให้สามารถช่วยลดกลิ่นปากได้
ทั้งนี้ นอกจากผลกล้วยน้ำว้า ส่วนอื่นๆ ของกล้วยยังมีสรรพคุณทางยา คือ
1. ยาง ช่วยสมานแผล ใช้ห้ามเลือด
2. หัวปลี แก้โรคในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้โลหิตจาง ลดน้ำตาลในเลือด รักษาเบาหวาน ขับน้ำนม
3. ใบ นำมาปิ้งไฟใช้รักษาแผลไฟไหม้ ต้มกับน้ำใช้อาบแก้ผดผื่นคัน ห้ามเลือด และรักษาแผลสุนัขกัด
4. ราก แก้ขัดเบา
หัวปลีใช้รักษาโรคเบาหวาน ใบตองอ่อนใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
(ที่มา : https://www.ntbdays.com/onsornisan/5103) (ที่มา : http://updatetoday.in.th/ผลวิจัยเผย-ใบตองอ่อนสาม/)
จะเห็นได้ว่า กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสรรพคุณและประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ซึ่งการบริโภคกล้วยน้ำว้าเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 1-2 ผล ส่งผลให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี และมีภูมิต้านทานโรคเพิ่มมากขึ้นด้วย
เอกสารอ้างอิง
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. เคล็ดลับ กล้วย กล้วย ช่วยสุขภาพ. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2561].
เข้าถึงจาก : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/35845%20(2).pdf
กองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน. กล้วยน้ำว้า สุดยอดผลไม้ชั้นเลิศเป็นได้ทั้งอาหารและยา.
กล้วยน้ำว้า สร้างชาติ สร้างเงิน, กรุงเทพฯ : มติชน, 2558, หน้า 27-31.
สุทธิชัย ปทุมล่องทอง. รู้จักกล้วยน้ำว้า. กล้วย สุดยอดอาหารโภชนาการ, กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2554, หน้า 65-81.
เทคโนโลยีชาวบ้าน. เคล็ดลับกินกล้วยน้ำว้า ดิบ ห่าม สุก งอม ได้ประโยชน์ต่างกัน. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2561].
เข้าถึงจาก : https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_33765