ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       ถ่านดูดกลิ่น คือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำถ่านมาบดให้มีความละเอียดตามต้องการ อาจเติมสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการดูดกลิ่น เช่น ชา สะเดา บรรจุในภาชนะบรรจุ หรืออัดเป็นรูปทรงต่างๆ อาจแต่งสี หรือได้จากการนำผลไม้ หรือส่วนต่างๆ ของพืช มาเผาในที่อับอากาศจนกลายเป็นถ่านโดยยังคงรูปทรงผลไม้ หรือส่วนต่างๆ ของพืชไว้เช่นเดิม ถ่านดูดกลิ่นมีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในปัจจุบัน คือ ถ่านผลไม้ มีคุณสมบัติสามารถดูดกลิ่นได้ดี รูปทรงสวยงาม และใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง

 

(ที่มา : http://siweb.dss.go.th/bct/fulltext/report/otop12.pdf)

       การผลิตถ่านผลไม้เกิดจากการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่อดีต โดยนำผลไม้ชนิดต่างๆ มาเผาจนเป็นถ่านที่ยังคงรูปทรงผลไม้ไว้เหมือนเดิม ผลไม้ที่นิยมนำมาใช้มีทั้งผลไม้เปลือกแข็งและเศษวัสดุเหลือทิ้ง ทางการเกษตร เช่น ทุเรียน ส้มโอ สับปะรด มังคุด กล้วย มะม่วง น้อยหน่า มะพร้าว ลูกตาล ขนุน ลูกท้อ ฝักบัว ซังข้าวโพด รวมไปถึงกระบอกไม้ไผ่ วัตถุดิบที่นำมาเผาแต่ละชนิดมีขนาดรูปทรงสมบูรณ์ ผลไม้บางชนิดต้องมีจุก มีขั้วติด ได้แก่ มะพร้าว ลูกตาล มังคุด ขนุน และทุเรียน ส่วนกล้วยอาจแยกผลหรือเผาเป็นหวีก็ได้ หากเป็นกระบอกไม้ไผ่ต้องตัดให้มีความยาวและลักษณะเท่าๆ กับกระบอกข้าวหลาม

 

                                                            

                    (ที่มา : http://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_j/             (ที่มา : http://farmkaset.blogspot.com/                   (ที่มา : https://www.springnews.co.th/
                                2560_65_204_p29.pdf)                                   2013/07/blog-post_2.html)                                              view/70474)
 
                                                            
 
                    (ที่มา : http://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_j/            (ที่มา : http://www.thaibizwisdom.com/                   (ที่มา : http://www.thaibizwisdom.com/
                                2560_65_204_p29.pdf)                                     ถ่านดูดกลิ่น-ไอเดียสร้า/)                                            ถ่านดูดกลิ่น-ไอเดียสร้า/)
 
       ทั้งนี้ คุณภาพของถ่านผลไม้ที่เกษตรกรผลิตได้อาจยังไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากมีการแตกหักเสียหาย คุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม่สม่ำเสมอ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ไม่สามารถป้องกันความเสียหายของถ่านผลไม้ได้ สำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ จึงนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของถ่านผลไม้ดูดกลิ่น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ถ่านดูดกลิ่น (มผช.180/2560) ซึ่งได้กำหนดคุณลักษณะที่ต้องการไว้ ดังนี้
       1. ลักษณะทั่วไป ต้องแห้ง อาจเป็นชิ้น ท่อน เม็ด ผง ไม่มีสิ่งแปลกปลอม ไม่มีราปรากฏ กรณีรูปทรงตามธรรมชาติของวัสดุที่นำมาใช้ทำหรืออัดขึ้นรูป อาจแตกหักได้บ้างเล็กน้อย
       2. การทดสอบประสิทธิภาพ เป็นการทดสอบประสิทธิภาพในการดูดซับสารละลายไอโอดีน ถ้าถ่านสามารถดูดซับสารละลายไอโอดียได้ดี แสดงว่ามีพื้นที่ในการดูดซับมาก ส่งผลทำให้สามารถดูดซับกลิ่นได้ดีตามไปด้วย โดยมาตรฐานกำหนดความสามารถในการดูดซับสารละลายไอโอดีน ต้องไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัม/กรัม
       3. ความชื้น ต้องไม่เกินร้อยละ 8 โดยน้ำหนัก
       4. บรรจุภัณฑ์ ให้บรรจุในภาชนะบรรจุที่สะอาด แห้ง เรียบร้อย และสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับถ่านได้ พร้อมทั้งระบุน้ำหนักสุทธิหรือจำนวนชิ้นของถ่านในแต่ละภาชนะบรรจุ ต้องมีไม่น้อยกว่าที่ระบุไว้ที่ฉลาก
       โดยกระบวนการผลิตถ่านผลไม้ ของสำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นการเผาในเตาเผาในสภาวะอับอากาศ ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถควบคุมอุณหภูมิระหว่างการเผาได้อย่างสม่ำเสมอ ที่อุณหภูมิ 300-450 องศาเซลเซียส ทำให้การเสียหายของผลิตภัณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 20 ถ่านผลไม้ที่ได้มีรูปทรงสวยงาม และมีค่าไอโอดีนประมาณ 180-300 มิลลิกรัม/กรัม ขึ้นอยู่กับชนิดของถ่านผลไม้นั้นๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ
 
                                      
(ที่มา : http://siweb.dss.go.th/bct/fulltext/report/otop12.pdf)
 
       ปัจจุบันถ่านผลไม้ดูดกลิ่นกลายเป็นสินค้า OTOP ที่สำคัญของหลายชุมชน เพราะนอกจากช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้สามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมากให้กับคนในชุมชนแล้ว ยังช่วยเกษตรกรแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด และมีราคาตกต่ำอีกด้วย ดังนั้น การผลิตถ่านผลไม้ดูดกลิ่นจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการจัดการวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เหมาะสม ช่วยเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
 
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ถ่านดูดกลิ่น มผช.180/2560.  [ออนไลน์] 
       [อ้างถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2561].  เข้าถึงจาก : http://tcps.tisi.go.th/pub/tcps0180_60(ถ่านดูดกลิ่น).pdf 
สำนักเทคโนโลยีชุมชน  กรมวิทยาศาสตร์บริการ. การผลิตถ่านผลไม้ดูดกลิ่นและประดับตกแต่ง.  [ออนไลน์]
       [อ้างถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2561].  เข้าถึงจาก : http://siweb.dss.go.th/bct/fulltext/report/otop12.pdf
สำนักเทคโนโลยีชุมชน  กรมวิทยาศาสตร์บริการ. ผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งและถ่านผลไม้ดูดกลิ่น. [ออนไลน์]
       [อ้างถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2561].  เข้าถึงจาก : http://otop.dss.go.th/files/report/OTOP_charcoal.pdf
อรุณ  คงแก้ว. ถ่านผลไม้เพื่อใช้ดูดกลิ่นและประดับตกแต่ง. สาระน่ารู้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ, มีนาคม, 2548, 
       หน้า 1-2. (แฟ้มประมวลสารสนเทศเฉพาะเรื่อง (CF 102), A5)