ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       ปลาส้ม หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากปลาที่ผ่านกรรมวิธีการหมักด้วยเกลือ ข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวนึ่งอาจเติมส่วนผสมอื่น เช่น กระเทียม พริกไทย จนมีรสเปรี้ยว นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถนอมอาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งนิยมบริโภคกันมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางบางจังหวัด การผลิตส่วนใหญ่เป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรมในครอบครัว อาศัยเทคนิควิธีที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ทำให้ปลาส้มในแต่ละพื้นที่มีรสชาติ หรือคุณภาพแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสูตรการผลิต ทั้งนี้ ปลาที่นิยมนำมาใช้ทำปลาส้มเป็นปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลาสวาย ปลานวลจันทร์ และปลาสร้อย

 

(ที่มา : http://www.thaifoodheritage.com/recipe_list/detail/ปลาส้ม)

 

โดยปลาส้มแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
       1. ปลาส้มตัว เป็นปลาส้มที่ทำจากปลาทั้งตัวที่ผ่าท้องควักไส้ออกแล้ว อาจตัดหัวปลา
       2. ปลาส้มชิ้น เป็นปลาส้มที่ทำจากปลาที่หั่นเป็นชิ้น
       3. ปลาส้มเส้น เป็นปลาส้มที่ทำจากเนื้อปลาล้วนที่หั่นเป็นเส้น
 
                                                            ปลาส้มตัว                                                                                                 ปลาส้มชิ้น
 
                                                          
 
                                  (ที่มา : http://www.tnews.co.th/contents/348212)                         (ที่มา : http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/4045/ปลาส้ม)
 
       ปัจจุบันปลาส้มกลายเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีการผลิตเพื่อเป็นการค้ามากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ซึ่งผลิตภัณฑ์ปลาส้มที่มีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค มีลักษณะทั่วไปที่สามารถสังเกตได้ดังนี้
              - เนื้อปลาแข็ง ไม่ยุ่ย มีสีชมพู หรือสีขาว 
              - มีกลิ่นกระเทียม และกลิ่นเปรี้ยวอ่อนเล็กน้อย
              - ชื้นปลาส้มไม่แตกหัก
              - ข้าวเหนียวนิ่งบนตัวปลาส้มบานออกและแยกเป็นเม็ดเต็มอยู่บนตัวปลา
ส่วนลักษณะผลิตภัณฑ์ปลาส้มที่ไม่มีคุณภาพ และไม่เป็นที่ต้องการของตลาด มักมีลักษณะดังนี้
              - น้ำที่ได้จากการหมักปลาส้มมีสีขุ่น เกิดฟองจำนวนมาก และมีกลิ่นเหม็น
              - เนื้อปลาส้ม และข้าวเหนียวนึ่งมีกลิ่นบูด 
       นอกจากลักษณะทั่วไปของปลาส้มที่ผู้บริโภคสามารถสังเกตก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แล้วนั้น ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ปลาส้มจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยสามารถใช้หลักควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ปลาส้ม มาตรฐานเลขที่ มผช.26/2557
 
                                                          
 
                       (ที่มา : http://www.phtnet.org/news53/view-news.asp?nID=384)                             (ที่มา : http://www.77jowo.com/contents/61546)
 
       อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ปลาส้มจัดเป็นอาหารหมักที่มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง เนื่องจากมีสารอาหารหลายชนิดทั้ง โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ แต่ปลาส้มอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไตและโรคความดันโลหิตสูง เพราะมีปริมาณเกลือ หรือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) สูง นอกจากนี้ ผู้บริโภคไม่ควรรับประทานปลาส้มดิบ ควรนำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน เนื่องจากอาจมีพยาธิใบไม้ตับปะปนอยู่ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ และมะเร็งตับได้อีกด้วย
 
เอกสารอ้างอิง 
พิทยา  ใจคำ และรัชนี  แก้วจินดา. การเปลี่ยนแปลงคุณภาพของปลาส้มในระหว่างการหมัก
       ร่วมกับโพรไบโอติก Lactobacillus casei 01 ที่ระดับแตกต่างกัน.  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 7 กันยายน 2561]. 
       เข้าถึงจาก : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/107569-Article%20Text-281082-1-10-20180125.pdf
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ปลาส้ม มผช.26/2557
       [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 7 กันยายน 2561].  เข้าถึงจาก : http://tcps.tisi.go.th/pub/tcps0026_57(ปลาส้ม).pdf    
สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ. 
       ประมวลสารสนเทศพร้อมใช้ เรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาส้ม (IR 34).  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 7 กันยายน 2561]. 
       เข้าถึงจาก : http://siweb.dss.go.th/repack/fulltext/IR%2034.pdf